จากประชาชาติธุรกิจ
กรมการค้าต่างประเทศเผยแอฟริกาใต้ เตรียมออกระเบียบใหม่แก้ไขการควบคุมปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างสูงสุดในผักและผลไม้ เตือนผู้ส่งออกศึกษาให้ดี เพื่อป้องกันผลกระทบ
นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ได้เตรียมออกกฎระเบียบแก้ไขการควบคุมปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limits : MRLs) ในผักและผลไม้ โดยได้ทำการเปลี่ยนแปลงเพิ่มคำจำกัดความของกลุ่มสินค้าผักและผลไม้ใหม่จำนวน 11 กลุ่ม ยกเลิกสารกำจัดศัตรูพืชต้องห้ามในผักและผลไม้จำนวน 3 ชนิด และปรับเปลี่ยนระดับปริมาณ MRLs ในผักและผลไม้จำนวน 11 รายการ
โดยการเปลี่ยนแปลงเพิ่มคำจำกัดความของกลุ่มสินค้าผักและผลไม้ ได้แก่ (1) กลุ่มเบอร์รี่ (Berries Group) (2) กลุ่มผักกาด (Brassica Vegetables or Cruciferae) (3) กลุ่มส้ม (Citrus Group) (4) กลุ่มแตง (Cucurbits Group) (5) กลุ่มผักใบเขียว (Leaf Vegetable) (6) กลุ่มถั่ว (Leguminous Beans Group) (๗) กลุ่มหอมหัวใหญ่ (Onion Bulb Group) (8) กลุ่มพริกไทย (Pepper Group) (9) กลุ่มรากและลำต้นใต้ดิน (Root and Tuber Vegetable Group) (10) กลุ่มผลไม้เมล็ดแข็ง (Stone Fruits) และ (11) กลุ่มถั่วชนิดยืนต้น (Tree Nuts)
สำหรับการยกเลิกสารกำจัดศัตรูพืชต้องห้ามในผักและผลไม้ ได้ยกเลิกสารออลดิคาร์บ (Aldicarb) ในกล้วย กาแฟ พืชสกุลส้ม องุ่น มะเขือเทศ เมล็ดฝ้าย อ้อย ฮ๊อป (แบบแห้ง) มันเทศ ถั่วลิสง ถั่วแม็กคาเดเมีย ฝักข้าวโพดและถั่วพีแคน ยกเลิกสารออลดริน (Aldrin) ในอาหารต่างๆ และสารไดโนเซป (Dinoseb) ในฝักข้าวโพด
“กรมฯ ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของการกำหนดมาตรฐานและปรับแก้ไขมาตรการกฎระเบียบต่างๆ ของประเทศคู่ค้าของไทยอย่างใกล้ชิด และได้นำข้อมูลมาเผยแพร่ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบให้ถูกต้องตรงตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนดได้อย่างทันท่วงที” นายวันชัยกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องการทราบข้อมูลรายละเอียดการปรับปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างสูงสุด สามารถศึกษารายละเอียดเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.gov.za/sites/www.gov.za/files/40772_gon334.pdf
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต