จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร
อิทธิพลของพายุเซินกา (SONCA) นอกจากจะทำความเสียหายให้กับพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาซ้ำซากในการบริหารจัดการกับภัยพิบัติเหมือน ๆ กับที่ผ่านมาในรอบหลายปี
โดยพายุดีเปรสชั่นลูกนี้ไม่ได้พัดผ่านประเทศไทยโดยตรง แต่เป็นแค่หาง ๆ หรือที่เรียกว่า “หย่อมความกดอากาศต่ำ” เท่านั้น ไม่อย่างนั้นความเสียหายจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นกับประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจังหวัดสกลนคร จะมากกว่านี้
เบื้องต้นเรารับทราบข่าวพายุดีเปรสชั่นลูกนี้จากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องมอนิเตอร์พายุที่จะพัดผ่านเข้าประเทศไทยอยู่แล้ว พอรู้แน่ชัดว่า พายุลูกนี้จะส่งอิทธิพลกับประเทศแน่ ๆ ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็จะ “รับลูก” กางแผนที่ที่พายุจะพัดผ่าน ออกประกาศแจ้งเตือนในพื้นที่อีกต่อหนึ่ง
ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่พายุจะเข้าก็คือ มันมีแต่การแจ้งเตือน ทั่วถึงบ้าง ไม่ทั่วถึงบ้าง รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง เสร็จแล้ว “จบ” ต่อไปเป็นเรื่องที่จะต้อง “วัดดวง” ว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่มันจะมากน้อยแค่ไหน น้ำมันจะหลากไหลไปทางไหน ระดับน้ำจะสูงแค่ไหน พื้นที่เสี่ยงลุ่มต่ำที่น้ำจะท่วมถึงมันควรจะอยู่ตรงไหน และเราควรระบายน้ำไปทางใด จึงจะลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่
ในกรณีของ “เซินกา” จากรายงานข่าวที่ออกมา ดูเหมือนคนสกลนครจะไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยว่า น้ำมันจะท่วมสูงถึงเพียงนี้ ไม่รู้แม้กระทั่งว่า พื้นที่ในตัวเมืองตรงไหนมันเป็นที่ลุ่มต่ำมาก ๆ ที่น้ำจะเทไปท่วมขังในบริเวณนั้น ที่สำคัญท่วมแล้วน้ำจะไปไหน ข่าวที่ออกมามีเพียงว่า น้ำต้องระบายลงหนองหาร แต่เวรกรรมน้ำในหนองหารก็เต็ม การระบายน้ำต้องทำอย่างไร คนก็ไม่รู้ มีการเตรียมการพร่องน้ำจากหนองหารหรือไม่
รู้แต่พายุกำลังจะมา แล้วก็ “จบ”
เอาเข้าจริง ปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่า 130 มิลลิเมตร 2 วันรวมกันถึง 245 มิลลิเมตร ตกหนักจนเทือกเขาภูพานไม่สามารถรับน้ำได้หมด ทำให้น้ำทะลักเข้าสู่พื้นที่ อ.เมืองสกลนคร และบริเวณอำเภอโดยรอบ ยังไม่นับกรณีเหตุ “ดราม่า” ถกเถียงกันว่า อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ระดับกักเก็บ 2.66 ล้าน ลบ.ม. ระดับน้ำไหลเข้าอ่าง 3.05 ล้าน ลบ.ม.นั้น “อ่างแตก” หรือ “น้ำไหลทะลักเขื่อนแล้วล้นคันขอบ” ออกไปกันแน่แต่ที่แน่ ๆ ตอไม้ก้นอ่างเก็บน้ำโผล่ขึ้นมาให้เห็นก็แล้วกัน (ฮา)
จนเมื่อน้ำท่วมเมืองสกลนครไปแล้วเมตร 2 เมตร ชุดข้อมูลจึงหลั่งไหลออกมาว่า น้ำจะต้องระบายผ่านหนองหาร
ไปออกแม่น้ำโขง ทางระบายน้ำจะต้องผ่าน ลำน้ำก่ำ ที่แสนจะคดเคี้ยวเลี้ยวลด ออกแม่น้ำโขงที่ อ.ธาตุพนมนั้น มันยาวถึง 120 กม. มีประตูระบายน้ำ 4 แห่ง จะต้องใช้เวลามากกว่า 10 วัน
ตามมาด้วยการแจ้งเตือนภัยอำเภอที่ลำน้ำก่ำจะไหลผ่านให้เก็บของขึ้นที่สูง แต่ไม่มีใครรู้ว่า เอาเข้าจริงน้ำมันจะไหลล้นทะลักไปตรงส่วนไหน ตรงพื้นที่ใดเสี่ยงที่น้ำจะท่วมสูงสุด เพื่อที่จะได้อพยพคน สรุปเอาว่า ตลาดอำเภอนาแก ท่วมเมตรกว่า ๆ เป็นอันจบเห่
เหตุการณ์ต่อจากนั้นก็เต็มไปด้วยความโกลาหล คนติดอยู่ในบ้านออกไม่ได้ จุดที่จะไปรับความช่วยเหลืออยู่ตรงไหน และการจะไปให้ถึงจุดนั้น ๆ จะไปอย่างไร ทำไมเทศบาล-ตำบลไม่มีแม้กระทั่งเรือท้องแบนในพื้นที่ ทำไมความช่วยเหลือต้องรอมาจากกรุงเทพมหานครเพียงอย่างเดียว ทำไมสะพานขาดต้องรอสะพานเบลีย์ที่ต้องขนย้ายมาประกอบกันแบบข้ามภาค
ยังสงสัยว่า ถ้าไม่มีหน่วยทหารลงมาช่วยเหลือประชาชนอย่างเข้มแข็งอย่างที่เห็นแล้ว พื้นที่เหล่านี้จะเดือดร้อนกันขนาดไหน
ทั้งหลายทั้งปวงสะท้อนให้เห็นถึงการไม่มี “แผน” รับมืออุทกภัยแบบรายจังหวัด เป็นแผนที่จะต้องลงรายละเอียดและต้องเป็น Scenario Planning น้ำจะมาทางไหน ระดับใด จะต้องทำอย่างไร พื้นที่ไหนเสี่ยงสุด และจะต้องระบายน้ำไปทางไหน คนจะอยู่ที่ตรงไหน และจะต้องย้ายไปแห่งใด
มันถึงเวลาที่จะต้องทำแล้ว ดีกว่าจะแก้ปัญหาแบบไล่ตามน้ำกันอย่างปัจจุบัน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน