จากประชาชาติธุรกิจ
โดย กนกวรรณ มากเมฆ / Spinoff-ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
“ประเทศไทยยังคงมีฝนตกและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ …” เป็นลักษณะคำพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาที่เราหลายคนคงคุ้นชิน หลายคนได้ยินแล้วก็ไม่ลืมเตรียมอุปกรณ์กันฝนออกจากบ้าน แม้ว่าบางคนอาจจะอาจจะพบว่าพื้นที่ของตัวเองไม่ใช่ “บางแห่ง”ที่ฝนตก ขณะที่บางคนไม่ได้เตรียมตัวจะเจอกับฝน แต่ก็ดันอยู่ในพื้นที่ร้อยละ 60 ที่จะเกิดฝนฟ้าคะนองเสียได้!
การที่ไม่พบกับสภาพอากาศดังที่คำพยากรณ์อากาศระบุ ทำให้มีหลายเสียงเกิดข้อกังขาว่าการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยามีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด เพราะหากเทียบกันแล้วในต่างประเทศ เช่น นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในช่วงหน้าหนาว ที่หากดูพยากรณ์อากาศตอนเช้า และมีรายงานสภาพอากาศว่าหิมะจะตกที่ไหนบ้าง เวลาเท่าไหร่ สภาพอากาศก็เป็นไปดังที่คำพยากรณ์ว่าไว้จริงๆ ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า “เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้พยากรณ์อากาศได้ยากกว่าประเทศในโซนอื่นๆ ของโลก”
“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ไม่รอช้า สอบถามไปยัง “วันชัย ศักดิ์อุดมไชย” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ถึงทุกประเด็นของแม่นยำของการพยากรณ์อากาศ ซึ่งอธิบดีก็ยอมรับว่า ด้วยตำแหน่งที่ตั้งที่แตกต่างกันบนโลก ทำให้แต่ละเขต แต่ละโซน ก็จะพบกับปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อความยากง่ายของการพยากรณ์อากาศด้วย
เขตร้อนมีปัจจัยหลายตัว แต่เขตอบอุ่นปัจจัยน้อยกว่า
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเริ่มอธิบายให้ฟังว่า การพยากรณ์อากาศนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดกระบวนการที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งในเขตมิดละติจูด หรือเขตอบอุ่นขึ้นไปจนถึงเขตหนาว ในหน้าหนาวนั้นจะเห็นว่ามีมวลอากาศเคลื่อนจากที่หนึ่งไปสู่จุดหนึ่งอย่างชัดเจน และเมื่อปะทะกับอากาศร้อนก็จะเกิดเป็นฝน หลังจากนั้นถ้าอากาศเย็นลงจนถึงจุดเยือกแข็ง ก็อาจจะเกิดหิมะขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยมี่เพียงอย่างเดียวคือการเคลื่อนตัวของมวลอากาศ ทำให้ง่ายต่อการพยากรณ์อากาศ สามารถบอกได้ว่าชัดเจนว่าอากาศจะเย็นลงตอนไหน หิมะจะตกเวลาใด ซึ่งในเขตนั้นหากเป็นสหรัฐอเมริกา ก็คือนิวยอร์ก วอชิงตัน ส่วนทางยุโรปก็จะเป็นแถวเยอรมนี รัสเซีย ถ้าทางเอเชียก็จะเป็นจีน ญี่ปุ่น
แตกต่างจากในเขตร้อนหรือเขตทรอปิคอลที่ปัจจัยที่ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอากาศมีหลายตัวด้วยกัน ซึ่งมวลอากาศไม่ใช่สาเหตุใหญ่แล้ว แต่เป็นเรื่องของทิศทางลม ความชื้นจากทะเล อุณหภูมิของอากาศในตอนกลางวัน ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องยากต่อการพยากรณ์
“เปรียบเหมือนเรากำลังต้มน้ำหม้อหนึ่ง เราชี้ไม่ได้ว่าฟองอากาศจะผุดขึ้นจากจุดไหนก่อน ซึ่งลักษณะอากาศแบบนี้ในสหรัฐอเมริกาแถวฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย รัฐที่อยู่ด้านล่าง หรือแม้กระทั่งหน้าร้อนของประเทศในเขตอบอุ่นเองก็ยังคงพยากรณ์พลาดเหมือนกัน” นายวันชัยกล่าว
ตัวอย่างการพยากรณ์อากาศที่เรียกได้ว่าพลาดของสหรัฐฯอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ช่วงที่พายุเฮอร์ริเคนแคทรินาเข้าถล่มสหรัฐ ซึ่งสหรัฐเองก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเข้าที่แคลิฟอร์เนียหรือฟลอริดากันแน่ ทั้งๆ ที่เป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น นั่นจึงเป็นความคลาดเคลื่อนของลักษณะอากาศที่เกิดขึ้น ที่ในเขตร้อนจะมีปัจจัยต่อการแปรปรวนของอากาศมากกว่า เช่น ลมเปลี่ยนทิศนิดเดียว ฝนก็เปลี่ยนจากตกที่หนึ่งไปตกอีกที่หนึ่ง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดอ่อนของการพยากรณ์อากาศในเขตนี้
ใช้ทุกเทคโนโลยีที่มีบนโลก ยืนยันแม่นยำ 80%
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวอีกว่า เนื่องจากในเขตโซนร้อนมีปัจจัยที่ต้องนำมาใช้เป็นข้อมูลเยอะกว่า ทำให้ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาเองก็พยายามแก้ไขการพยากรณ์อากาศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย นอกจากนี้ยังประเมินการพยากรณ์อากาศทุกวัน ดูว่าในวันนี้ผิดอะไร และทำการแก้ไข ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการพยากรณ์อากาศที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากเดิมที่ความแม่นยำของการพยากรณ์อากาศอยู่ที่ 70% ซึ่งเท่าๆ กับประเทศในเขตโซนร้อนอื่นๆ แต่ปัจจุบันพัฒนาจนความแม่นยำได้เกือบๆ 80% แล้ว
“ทุกวันนี้เราใช้เทคโนโลยีทุกเทคโนโลยีที่มีอยู่บนโลกแล้ว เรามีการใช้โมเดลต่างๆ จากหลายประเทศ ซึ่งโมเดลแต่ละโมเดลก็เหมาะสำหรับแต่ละพื้นที่ เขตร้อนก็ใช้โมเดลหนึ่ง เขตหนาวก็ใช้โมเดลหนึ่ง แต่ยังไม่มีที่ไหนให้ความแม่นยำได้ถึง 90% ส่วนใหญ่ 70 กว่า จนถึง 80 เป็นหลัก ก็ถือว่ายอมรับได้ เพราะในโซนเขตร้อน เวลาอากาศเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงเท่ากับเขตหนาว” นายวันชัยระบุ
สำหรับการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยานั้น จะมีการนำโมเดลการพยากรณ์อากาศหลากหลายโมเดล รวมทั้งโมเดลที่ประเทศไทยรันเอง มาดูแนวโน้มอากาศของว่าไปในทิศทางใด ซึ่งจะมีการปรับโมเดลของไทยให้เข้ากับผลที่เกิดขึ้นจริงๆ เนื่องจากนักเขียนโปรแกรมโมเดลของไทยยังไม่เชี่ยวชาญเท่ากับของฝั่งอเมริกา ทำให้ต้องเอาโมเดลจากหลายที่มาศึกษา ทั้งนี้ การเลือกใช้โมเดลก็เลือกไปตามความเหมาะสมของโมเดลนั้น เช่น โมเดลฤดูหนาวของสหรัฐฯค่อนข้างแม่นยำ ก็นำโมเดลฤดูหนาวของสหรัฐฯมาดูแนวโน้มช่วงหน้าหนาว แต่โมเดลฤดูร้อนของสหรัฐฯอาจจะค่อนข้างเพี้ยน การพยากรณ์อากาศฤดูร้อนก็อาจจะหันไปใช้โมเดลของสิงคโปร์หรืออินเดียแทน เป็นต้น
ไม่เน้นเครื่องมือใหม่ แต่ความแม่นยำถือว่ารับได้
นอกจากปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนได้ง่ายกว่าแล้ว ความคลาดเคลื่อนของการพยากรณ์อากาศที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นที่อุปกรณ์ของเรามีเพียงพอหรือไม่ ให้ความแม่นยำได้มากน้อยแต่ไหน ซึ่งประเด็นนี้ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยายืนยันว่าตอนนี้ถือว่าแม่นยำ ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาจะต้องไม่หยุดนิ่ง เพราะทั่วโลกมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่กรมอุตุฯเองจะไม่ได้เน้นไปที่เครื่องมือใหม่ๆ ตลอดเวลา เนื่องจากบางครั้งการพยากรณ์อากาศอาศัยโมเดลเป็นหลัก
“ส่วนเรื่องของข้อมูลนั้นก็มีมาตรฐานอยู่แล้วระดับหนึ่ง เนื่องจากเราเป็นสมาชิกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization หรือ WMO) และต้องส่งข้อมูลให้กับ WMO ตลอด ซึ่งในปัจจุบันบางประเทศก็เริ่มนำเครื่องออโตเมติกมาใช้ในการเก็บข้อมูลและส่งข้อมูล โดยข้อดีของเครื่องออโตเมติกคือตรงเวลาและได้ข้อมูลตรงกับที่ต้องการ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยในสถานีพยากรณ์อากาศใหญ่ๆ ก็จะมีเครื่องออโตเมติกอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็จะใช้กำลังคนในการบันทึกข้อมูลด้วย เนื่องจากเครื่องออโตเมติกเองอาจจะเก็บข้อมูลบางอย่างไม่ได้ เช่น ลักษณะธรรมชาติในตอนนั้น หรือปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ซึ่งต้องใช้คนในการบันทึกข้อมูลสภาพแวดล้อม” นายวันชัยระบุ
นอกจากเครื่องออโตเมติกแล้ว ไทยยังมีเครื่องเรดาร์ตรวจอากาศอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีอย่างภาพถ่ายดาวเทียม ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก WMO มาติดตั้งเครื่องรับภาพดาวเทียมฮิมาวาริของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันจะส่งภาพมาทุก 10 นาที และตอนนี้ถือว่ายังไม่มีตัวไหนเร็วกว่าตัวนี้อีกแล้ว ทำให้ไทยจะได้รับภาพพร้อมกับญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน เครื่องตรวจอากาศวิทยุการบินในสนามบินก็ยังทันสมัย เนื่องจากมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทำงานได้ตลอดเวลา เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะมีผลต่อเรื่องการบิน การประเมินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ไอเคโอ (ICAO) ด้วย
อีก 3 ปี พยากรณ์อากาศได้ถึงระดับอำเภอ
อย่างที่อธิบดีกล่าวไปในข้างต้นว่ากรมอุตุนิยมวิทยามีความพยายามปรับปรุงประสิทธิภาพความแม่นยำให้มากขึ้น ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยากำลังนำระบบ HPC หรือ High Performance Computer เข้ามา ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้ง โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนกันยายนนี้ โดย High Performance Computer ดังกล่าวจะช่วยให้ในอนาคตสามารถพยากรณ์อากาศได้ถึงระดับเขตหรืออำเภอ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่กรุงเทพมหานคร แต่จะทำได้ทั่วประเทศไทย โดยอาศัยการป้อนข้อมูลของทุกอำเภอทั่วประเทศเข้าไปในคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาในตอนนี้คือยังมีข้อมูลของเขตหรืออำเภอต่างๆ ไม่ครบ
“ตอนนี้เราได้ภาพถ่ายดาวเทียมฮิมาวาริมา ซึ่งให้ข้อมูลภาพในระดับ 1×1 ตารางกิโลเมตร ถือว่าละเอียดมาก ซึ่งเราตั้งเป้าว่าจะสามารถพยากรณ์อากาศได้ถึงรายอำเภอภายใน 2-3 ปีนี้ ซึ่งจะระบุลงไปได้ว่าฝนกลุ่มนี้จะไปที่เขตไหนบ้าง แต่จะไม่ใช่ระบุแค่เขตเท่านั้น ต่อไปเราจะพยายามระบุให้ได้ถึงเวลา อย่างน้อยที่สุดคือบอกได้ว่าเช้า บ่าย หรือเย็น แต่ก็ต้องใช้ความพยายามและการเขียนโปรแกรมเข้าช่วย โดยคอมพิวเตอร์ดังกล่าวมีเครื่องเดียวคือที่กรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพฯ และกำลังติดตั้งอยู่ คาดว่ากันยายนนี้จะแล้วเสร็จ และสามารถทดสอบได้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยเริ่มจากกรุงเทพฯก่อนแล้วค่อยๆ ขยายออกไป ดังนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะได้เห็นผลผลิตใหม่ๆ ของกรมอุตุนิยมวิทยาออกมา” อธิบดีกรมอุตุฯกล่าว
อีกส่วนหนึ่ง ต้องให้ความรู้-ทำความเข้าใจกับประชาชน
เพราะถึงแม้จะมีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่อีกส่วนหนึ่งที่ถือเป็นแนวทางแก้คำครหาที่ว่า “พยากรณ์อากาศไม่แม่น” จากประชาชนได้นั้น อธิบดีกรมอุตุฯ บอกว่า ขั้นแรกคือการทำความรู้ความเข้าใจกับประชาชนก่อน เนื่องจากตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าฝนจะตกที่ไหน แต่ที่ออกเป็นเปอร์เซ็นต์ออกมานั้นหมายความว่า จังหวัดหนึ่งก็น่าจะตกประมาณนี้ แต่อนาคตหากลงไปถึงระดับอำเภอได้แล้วก็จะเห็นชัดขึ้นว่า 60% นั้นมีอำเภอไหนบ้าง ซึ่งจะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง
“ขณะเดียวกันก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า พื้นที่แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันในเรื่องของภูมิประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศก็จะมีส่วนด้วย เดิมทีตรงนี้เคยมีภูเขา แต่ระเบิดเป็นเหมืองหินไปหมดแล้ว แค่นี้สภาพอากาศก็เปลี่ยนแล้ว เพราะทิศทางลมเปลี่ยน” นายวันชัยระบุ
นอกจากจะทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยายังระบุอีกว่า เรื่องของภาษาที่ใช้ก็มีส่วนสำคัญ เพราะที่จริงแล้วคำว่า ร้อยละ 60 ของพื้นที่ นั้นเป็นการแปลงมาจากตำราสากล จากภาษาอังกฤษออกมาแบบเต็มตัว ซึ่งประชาชนอาจจะต้องทำความเข้าใจ ขณะเดียวกันกรมฯเองอาจจะต้องพยายามเปลี่ยนภาษา เปลี่ยนคำพูดที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งกำลังปรับ โดยการออกประกาศจะมีเวอร์ชั่นที่เป็นทางการ และอาจจะมีเวอร์ชั่นสำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม อธิบดียอมรับว่าตอนนี้ยังนึกไม่ออกจริงๆ ว่าตอนนี้จะใช้คำว่าอะไร เพราะคำเหล่านี้ก็เป็นภาษาสากลที่เอามาใช้ ซึ่งอาจจะต้องทำความเข้าใจไปจนถึงขั้นโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันกำลังให้อุตุฯแต่ละจังหวัดลงไปเผยแพร่ความรู้สู่เด็กนักเรียน
อุปสรรคการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยา
นายวันชัยเผยถึงอุปสรรคในการดำเนินงานของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าเป็นเรื่องของคนทำงาน เนื่องจากงานตรงนี้เป็นงานที่ต้องใช้การทุ่มเทค่อนข้างสูง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาทำงานกัน 365 วัน 24 ชั่วโมง ถ้าคนที่ไม่เข้าใจหรือไม่ทุ่มเท ก็จะทำให้ได้งานที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งปัจจุบันจำนวนคนดีขึ้นแล้ว จากเดิมที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จำกัดว่าหน่วยงานขนาดกลางควรมีคนไม่เกิน 1,000 คน แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาการทำงานบางแห่งซึ่งทำงาน 24 ชั่วโมง แต่มีคนทำงานที่สถานีเพียง 2 คน ทำให้เวียนกันไปทีละ 24 ชั่วโมง ซึ่งหนักมาก โดยกรมฯพยายามปรับด้วยการขออัตราคนเพิ่มมาให้ได้อย่างน้อยที่สุดสถานีละ 3 คน ตอนนี้ก็ดีจากเดิมขึ้นมานิดหนึ่งแล้ว
“นอกจากนั้นคือเรื่องเครื่องมือต่างๆ ที่มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ติดตามในการจัดซื้อเครื่องมือต่างๆ แต่บางครั้งการตั้งงบประมาณก็มีข้อจำกัด อย่างเช่น เครื่องมือใหม่ๆ ออกมาในปีนี้ แต่กว่าจะจัดซื้อได้คืออีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเราก็พยายามจะติดตามเสมอ อย่างในปีนี้เราก็ต้องเตรียมงบประมาณของปี 2562 แล้ว ดังนั้น เราต้องมองว่าอนาคตจะใช้อะไรบ้าง ขณะเดียวกัน ปัญหาอีกอย่างคือช่างที่คอยดูแลบำรุงรักษาเครื่องเหล่านี้ให้สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งคนถูกจำกัดเนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยานั้นกระจายไปทั่วประเทศ” นายวันชัยกล่าว
ปัญหาสำคัญต่อการพยากรณ์อากาศ “ภาวะโลกร้อน”
นอกจากเรื่องของคนและช่างแล้ว อุปสรรคสำคัญของการพยากรณ์อากาศในทุกวันนี้ก็คือ “ภาวะโลกร้อน”ซึ่งทำให้ลักษณะอากาศเปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ควรจะเป็น ฤดูกาลมีการเคลื่อน รวมถึงเรื่องของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ สถิติต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย มีการทำลายสถิติมากขึ้น
ทั้งนี้ ถึงแม้ภาวะโลกร้อนอาจจะส่งผลต่อการพยากรณ์อากาศประจำวันอย่างไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากอาศัยข้อมูลในปัจจุบันเป็นหลัก แต่การพยากรณ์อากาศในระยะเวลานานๆ อย่างเช่น 7 วัน, 3 เดือน หรือเป็นปี ภาวะโลกร้อนก็จะมีผลในเรื่องของการแปรผันไป ความรุนแรงของธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น อากาศที่ร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส ทำให้พายุสามารถก่อตัวได้ง่ายขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ น้ำแข็งละลายแล้วไปไหน น้ำทะเลสูงขึ้นหรือเปล่า เป็นต้น
“เมื่อก่อนเราบอกว่าลมความแรงแค่นี้ พัดเข้ามาภาคอีสานฝนจะตกแน่นอน ภาคเหนือจะมีฝนเท่านี้ แต่ปรากฏว่าภาวะโลกร้อนมากขึ้น ต้นไม้ไม่มี ลมพัดเข้ามา มีความชื้นที่เข้ามาด้วย แต่ยังไม่ถึงภาคอีสานความชื้นก็ระเหยไปตั้งแต่ จ.เพชรบุรี จ.ราชบุรีแล้ว นั่นทำให้ฝนมีการแปรปรวนไป เพราะฉะนั้น เราก็ต้องปรับตัวในการดูข้อมูลเรื่องความชื้นเข้าไปเพิ่มด้วย คือไม่ใช่ดูเฉพาะเรื่องของทิศทางลมอย่างเดียว ตรงนี้จะเป็นส่วนที่เราต้องปรับแก้ข้อมูล รวมทั้งในโมเดลต่างๆ ก็ต้องเอาข้อมูลพวกนี้ใส่เข้าไปด้วย เรื่องของปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ลานีญ่า ก็เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เราต้องเอามาเกี่ยวพันกับการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งตอนนี้ยิ่งเกี่ยวพันมากขึ้น เพราะการแปรปรวน อย่างอุณหภูมิเพิ่มนิดเดียว แต่ทำให้เกิดความรุนแรงของธรรมชาติได้มาก ก็คงจะต้องช่วยกันในตรงนี้ เพราะว่าตัวแปรของโลกร้อนก็คือคาร์บอนซึ่งมีผลต่อสิ่งต่างๆ ด้วย” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาระบุ
“โลกร้อน” ปัญหาใหญ่ กระทบไทยทุกด้าน
ไม่เพียงแต่การพยากรณ์อากาศเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน แต่จาก “รายงานสถานการณ์การรุกรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change adaptation)” ที่สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีระดมความคิดเห็นต่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศ และแนวทางการดำเนินงานของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามข้อตกลงภายใต้กรอบปฏิบัติการเสริมพลังรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า ผลจากสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้ขณะนี้ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่เผชิญดัชนีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในอันดับ 10 รองจากประเทศหมู่เกาะด้อยพัฒนา ซึ่งยังขาดแคลนบุคลากรด้านวิชาการ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความแปรปรวนทางฤดูกาล ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตร และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
โดย “ดร.กลย์วัฒน์ สาขากร” นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สปอ.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยข้อมูลจากงานศึกษาของ สผ. ที่ระบุถึงผลกระทบและความเสี่ยงในพื้นที่ที่ได้รับผลจากจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ซึ่งพบว่า ภาคกลางเป็นจุดเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งมากที่สุด เนื่องจากรูปแบบของฝนเปลี่ยนแปลงไปสู่ระยะการตกที่ห่างมากขึ้นจนทิ้งช่วงให้เกิดภัยแล้งได้ ขณะที่ปริมาณน้ำฝนที่ตกครั้งหนึ่งมีมากจนสามารถก่อให้เกิดอุทกภัยได้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มความเสี่ยงจะเกิดดินถล่มมากในแนวภูเขาทางภาคเหนือของไทย และพบความเสี่ยงในการเกิดคลื่นความร้อนที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศ ซึ่งจะมีอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส หรือมีค่าความชื้นสูงมากแม้อุณหภูมิจะไม่สูงถึง 40 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ แนวโน้มความเสี่ยงภัยพิบัติดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความแปรปรวนต่อภาคการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารที่ทำให้สถานะครัวโลกของประเทศไทยสั่นคลอน ขณะที่ผลกระทบด้านสาธารณสุขคือการแพร่ระบาดของโรคจะกระจายได้รวดเร็วและหลากหลาย การท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้ 1 ใน 6 ของจีดีพีภายในประเทศจะไม่มั่นคง และการตั้งถิ่นฐานที่ต้องโยกย้ายเพราะภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้น รวมทั้งผลกระทบต่อน้ำและทรัพยากรธรรมชาติซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มกระบวนการ
สุดท้ายแล้วจะเห็นได้ว่า ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ส่งผลกระทบให้กับเราทุกคนตั้งแต่ระดับประเทศ จนถึงชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วน ทุกคน จะต้องตระหนักถึงปัญหา หาแนวทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จนถึงร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต