จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ตามรอยฟ้า
ไม่ว่าจะเป็นชุมชนใหญ่ หรือเล็กในภูมิภาคของไทย ย่อมมีปัญหาเฉพาะชุมชนแตกต่างกัน ที่สำคัญ แนวทางในการจัดการกับปัญหา การรับรู้ปัญหา และการวิเคราะห์ถึงที่มาของปัญหา เพื่อร่วมกันหาทางออก จึงเป็นแนวทางดีที่สุด ทั้งยังทำให้เกิดความยั่งยืนกับชุมชนในระยะยาว อันเป็นแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานแก่ผู้นำชุมชนต่าง ๆ นำไปจัดการกับปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้น
โดยเฉพาะเรื่องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา
เหมือนกับหมู่บ้านบ้านเตย ต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ที่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน, ความผันผวนของราคาสินค้า และปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่น้อยจนเกินไป รวมถึงเรื่องสภาวะดินเค็มที่เป็นปัญหาหนักอกหนักใจ เพราะแม้แต่จะปลูกมะละกอยังทำไม่ได้เลย แต่ด้วยแนวทางการแก้ปัญหาที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งที่ตัวบุคคล จึงส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งมาสู่ตัวงาน
โดยมีผู้นำที่เป็นแกนหลักอย่าง นางสมบัติ โชติกลาง ผู้ใหญ่บ้านบ้านเตย หมู่ที่ 1 ต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา นำหลักความสามัคคี และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มาแก้ไขจนประสบความสำเร็จในที่สุด
คนในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพดั้งเดิมเป็นชาวนา ดังนั้น ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งจึงเก็บไว้บริโภคในครอบครัว ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะนำออกขาย แต่ก็ขายได้ในปริมาณจำกัด เพราะทุกปีจะพบปัญหาผลผลิตน้อย ต้นทุนการผลิตสูง จุดเปลี่ยนคือเมื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรลงพื้นที่ เพื่อดูว่าเพราะเหตุใด ชุมชนแห่งนี้จึงได้เป็นหนี้มากถึงเพียงนี้ จนพบว่าชาวบ้านเป็นหนี้รวม ๆ กันแล้วกว่า 5 ล้านบาท/ปี เรียกว่าแทบจะ 100% ของคนในหมู่บ้านเป็นหนี้สินจากการลงทุนซื้อปุ๋ยเคมีแทบทั้งสิ้น
เมื่อทราบถึงปัญหา ชุมชนจึงเริ่มต้นจัดการตนเอง ด้วยการหาทางลดต้นทุนการผลิต ด้วยการกลับมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้เอง ซึ่งโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ทางชุมชนเคยได้รับงบประมาณตั้งแต่ปี 2548 ผ่านกองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้าน และชุมชน หรือ SML แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสมาชิกขาดการทำงานที่ประสานงาน และต่อเนื่อง
จนกระทั่งปี 2551 มีงบประมาณลงมาอีกครั้ง จึงมีการตั้งรูปแบบการทำงาน โดยมีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อดำเนินงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น ทั้งยังนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีการให้ความรู้แก่สมาชิกเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์อีกครั้ง โดยไม่ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งมากจนเกินไป ส่วนสมาชิกที่ไม่ได้เข้ามาในกระบวนการผลิต จะเป็นสมาชิกที่มีหุ้นอยู่ในโรงผลิตปุ๋ย พร้อมกับมีเงินปันผลให้ทุกปี
โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์แห่งนี้ไม่ได้เน้นรายได้เข้ามาสู่ชุมชน แต่เน้นการแก้ปัญหาเพื่อให้ชุมชนปลอดหนี้ โดยต่อปีสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 20 ตัน 80% จำหน่ายให้คนในหมู่บ้านบ้านเตย ในราคา 280 บาท/กระสอบ ส่วนอีก 20% จำหน่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง อาทิ อุดรธานี, ร้อยเอ็ด และหมู่บ้านอื่น ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา
จนทำให้ปุ๋ยอินทรีย์ของหมู่บ้านบ้านเตยได้รับการยอมรับ ทั้งในเรื่องของคุณภาพ และราคา จนเกิดการบอกต่อปากต่อปากในวงกว้าง กระทั่งทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานเกษตรในพื้นที่ นำดินที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ของชุมชนไปตรวจดูว่าจะช่วยเติมธาตุอาหารให้ถูกต้องตามความต้องการของดินอย่างไรบ้าง
เพราะคุณสมบัติของปุ๋ยอินทรีย์ของที่นี่โดดเด่น จนทำให้เกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ ทั้งผู้ปลูกอ้อย, ปลูกมันสำปะหลัง หรือแม้แต่ข้าวโพด ล้วนใช้ปุ๋ยจากวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ได้ทั้งสิ้น เพราะปุ๋ยที่นี่มีสารอาหารช่วยปรับปรุงสภาพดิน ไม่ทำให้ดินเค็ม
ปัจจุบันปุ๋ยอินทรีย์ของวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านบ้านเตยมีการจดทะเบียนสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และนอกจากจะขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนบ้านเตยเป็นหลักยังจำหน่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาวอีกด้วย จนทำให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจ ทั้งยังสร้างรายได้แก่สมาชิกจากการปันผลในทุก ๆ ปีอีกด้วย
นางสมบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ชาวบ้านในหมู่บ้านบ้านเตยปลดหนี้ลงจากปีละ 5 ล้านบาท เหลือเพียงปีละล้านกว่าบาทแล้ว ถึงแม้ชาวบ้านจะยังคงมีหนี้สินอยู่บ้าง แต่ทุกคนรู้ว่ารายรับ-รายจ่ายที่เกิดขึ้นมาจากอะไรบ้าง ด้วยการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อจะได้บริหารค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ จนทำให้หนี้สินที่มีอยู่ไม่ได้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกต่อไป
จากเดิมเราต้องซื้อทุกอย่างหมด แม้แต่มะละกอสำหรับตำส้มตำสักจาน แต่หลังจากที่เรามีความรู้เรื่องการปรับปรุงสภาพดิน จนทำให้ปัญหาภาวะดินเค็มหมดไป เราจึงมองหาพืชระยะสั้น พวกพืชที่ปลูกเพื่อคลุมดินต่าง ๆ มาเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน ซึ่งนอกจากเราจะมีรายได้เพิ่ม ยังช่วยสร้างความชื้นให้แก่ดินอีกด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการง่าย ๆ ที่เรามองข้ามมานาน แต่เมื่อนำมาปรับใช้ ก็ทำให้ปัญหาต่าง ๆ นั้นค่อย ๆ หมดไป
จึงทำให้ นางสมบัติ และคนในชุมชนหมู่บ้านบ้านเตยประจักษ์ชัดกับแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะเมื่อเราเข้าใจปัญหา เข้าถึงแนวทางในการจัดการอย่างเป็นระบบ เราก็จะพัฒนาชุมชนของเราไปในแนวทางที่ถูกต้อง
อันเป็นสิ่งที่เราจะต้องน้อมนำแนวทางของพระองค์เพื่อพัฒนาชุมชนต่อไป
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต