สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ป่าไม้ที่เหลืออยู่ ในประเทศลุ่มน้ำโขง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ช่วยกันคิด โดย สกุณา ประยูรศุข


ข่าวล่าสุดข้ามโขงจากฝั่ง สปป.ลาว เกี่ยวกับพื้นที่ป่าไม้ที่เราเคยมองเห็นว่าอุดมสมบูรณ์เป็นป่าทึบมากกว่าฝั่งไทย ทว่าเวลานี้พื้นที่ป่าไม้ฝั่งลาวได้ลดขนาดลงอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่าเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อหลายปีก่อน

ข่าวนี้จึงน่าตระหนก หาก สปป.ลาวต้องเจอปัญหา "ภูเขาหัวโล้น" อย่างที่ไทยเคยเจอมาแล้ว แน่นอนว่าระบบนิเวศวิทยา ภาวะโลกร้อนจะต้องร้อนมากขึ้น ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาอาจถึงแห้งแล้งจัดในหน้าแล้ง สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในลุ่มน้ำโขง ต่างกันก็ตรงที่ใครจะกระทบมากกระทบน้อย

สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สภาพพื้นที่ป่าที่หายไปเป็นผลพวงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ และรูปแบบการพัฒนาประเทศ ซึ่งกลับกลายเป็นภัยคุกคามต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะผืนป่าดั้งเดิม แม่น้ำโขง และลำน้ำสาขา รวมทั้งพืชป่าและสัตว์ป่า 

ขณะนี้ประเทศกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขงกำลังเผชิญหน้ากับทางเลือกสำคัญว่าจะเดินหน้าพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน และรอให้ทรัพยากรธรรมชาติอันมีเอกลักษณ์โดดเด่นหลายชนิดสาบสูญไปตลอดกาล หรือเลือกที่จะเปลี่ยนนโยบาย และเลือกเส้นทางที่ยั่งยืนกว่าในอนาคต

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF รายงานภาพรวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขง โดยใจความสำคัญของรายงานมีการประเมินอนาคตที่แตกต่างกัน 2 ทาง 

ในช่วงระหว่างปี 2552 ถึง 2573 หนึ่งคือ-สถานการณ์ที่ยังคงมีการเติบโตอย่างไม่ยั่งยืน สองคือ-สถานการณ์เมื่อมีเศรษฐกิจสีเขียว (บนสมมุติฐานที่ประเมินว่ามีการลดอัตราการทำลายป่าในแต่ละปีร้อยละ 50)

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2516 ถึง 2552 จากการวิเคราะห์ของ WWF พบว่าพื้นที่อนุภาคลุ่มน้ำโขง (รวมทั้งจีน) สูญเสียพื้นที่ป่าไปร้อยละ 1 ใน 3 ของพื้นที่ป่าทั้งหมด (กัมพูชาร้อยละ 22 ลาวและพม่าร้อยละ 24 ไทยและเวียดนามร้อยละ 43) 

ส่วนในสถิติที่เป็นทางการของพื้นที่ที่มีต้นไม้ปกคลุมทั่วอนุภาคลุ่มน้ำโขง พบว่าการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ผืนใหญ่ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการถางป่าเพื่อทำเป็นพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ในเวียดนามและจีน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วป่าธรรมชาติจะถูกแทนที่ด้วยการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่วนที่ประเทศพม่าสูญเสียพื้นที่ป่าในพื้นที่กลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขง มากกว่าร้อยละ 30 ในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะเดียวกัน ผืนป่าก็ถูกแยกส่วนเป็นผืนเล็กผืนน้อยมากขึ้น พื้นที่ป่าที่เคยเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ (ป่าผืนหลัก) ลดลงจากร้อยละ 70 ในปี 2516 เหลือเพียงร้อยละ 20 ในปี 2552

สิ่งที่ประเมินไว้ภายในปี 2573 ภายใต้สถานการณ์การพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน คาดว่าพื้นที่อนุภาคลุ่มน้ำโขงนอกเหนือจากจีน จะสูญเสียป่าไม้ไปอีกร้อยละ 34 และจะถูกแยกเป็นป่าผืนเล็ก ๆ มากขึ้น โดยจะเหลือผืนป่าที่ประกอบด้วยป่าผืนหลักที่มีศักยภาพให้ประชากรสัตว์ป่าที่อาศัยได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนเพียงร้อยละ 14

ในทางกลับกัน ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจสีเขียว ป่าผืนหลักที่ยังคงอยู่ในปี 2552 จะยังคงอยู่ต่อไป แม้ว่าป่าร้อยละ 17 ของพื้นที่อนุภาคลุ่มน้ำโขงจะถูกเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์แบบอื่น แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นรูปแบบใด พื้นที่ "ฮอตสปอต" ของการตัดไม้ทำลายป่านั้นจะมีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ที่เหลืออยู่ในกัมพูชา ลาว และพม่า ส่วนการตัดไม้ทำลายป่าในเวียดนามจะกระจายไปยังพื้นที่ป่าเล็ก ๆ ทั่วประเทศ แต่พื้นที่ที่จะสูญเสียป่าไม้มากที่สุด คือพื้นที่ราบสูงภาคกลางและจังหวัดทางภาคเหนือ

รายงานของ WWF ยังระบุถึง "น้ำจืด" ว่า แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในระบบแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายมากที่สุดในโลก ความเชื่อมโยงและความผันแปรของการไหลตามธรรมชาติเป็นสิ่งหนุนนำความอุดมสมบูรณ์ที่โดดเด่นนี้ ขณะที่ตะกอนและแร่ธาตุต่าง ๆ ก็ค้ำจุนผืนแผ่นดิน การทำเกษตร และการประมงบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำ 

ระบบแม่น้ำโขงเป็นแหล่งทำการประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดและอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก ร้อยละ 35 ของการทำประมง เป็นปลาสายพันธุ์อพยพ แม่น้ำโขงเป็นแหล่งกำเนิดระบบนิเวศ 13 แห่ง และทั้งหมดต่างเชื่อมโยงกัน แม้ว่าจะถูกมนุษย์ใช้ประโยชน์อย่างหนักหน่วงมาเป็นเวลานาน แต่ระบบน้ำจืดก็ยังคงความเชื่อมโยงกันทั้ง 11 จาก 13 ระบบนิเวศ 

ความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในแถบอนุภาคลุ่มน้ำโขง นำไปสู่การสร้างเขื่อนในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้ำจืด ความเชื่อมโยงของแม่น้ำและการไหล รวมทั้งต่อประชาชนที่พึ่งพิง

นอกจากนี้ ระบบแม่น้ำสายหลักสายอื่น ๆ ในภูมิภาค ต่างเผชิญกับความท้าทายในลักษณะเดียวกัน แต่ยังมีโอกาสที่ดีกว่าแม่น้ำโขง


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ป่าไม้ที่เหลืออยู่ ในประเทศลุ่มน้ำโขง

view