จากประชาชาติธุรกิจ
คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นมเตรียมเสนอยุทธศาสตร์ใหม่ฉบับ 10 ปีให้มิลค์บอร์ดพิจารณาภายในเดือนนี้ก่อนเสนอ ครม. นักวิชาการติงยุทธศาสตร์กำหนดมาตรฐานไว้สูง หวั่นเกษตรกรท้อถอยเลิกเลี้ยง แนะควรทบทวนทุก 2-3 ปี เหตุอุตสาหกรรมนมโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว
รายงานข่าวจากกรมปศุสัตว์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นมปี 2560-2569 ของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นมที่มีผู้แทนจากทุกภาคส่วนร่วมจัดทำว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดวิสัยทัศน์อุตสาหกรรมโคนมไทยทั้งระบบ ต้องได้มาตรฐานสากล (CODEX) ภายใน 10 ปี โดยยุทธศาสตร์จัดทำขึ้นในบริบทการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโคนมโลก เปรียบเทียบกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโคนมไทย โดยใช้แนวคิดและหลักการในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง หลักเศรษฐกิจชุมชน กรอบแนวคิด Thailand 4.0 และหลักประกันความเสี่ยงเชื่อมโยงความสอดคล้องของแผนยุทธศาสตร์กับกรอบแนวคิดและนโยบายอื่น ๆ อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรและปศุสัตว์ นโยบายยกระดับนมโรงเรียนให้ได้มาตรฐานสากลและความตกลงการค้าเสรี ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเมื่อมีการประชาพิจารณ์และนำไปปรับปรุงจะเสนอต่อคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ภายในเดือน เม.ย.นี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเป็นกรอบแนวทางการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานต่อไป
ยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมฯฉบับนี้ แบ่งประเด็นยุทธศาสตร์ออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์คือ 1.ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกรโคนมและผลิตภัณฑ์นม 2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตน้ำนมโคและอุตสาหกรรมโคนมให้ได้มาตรฐานสากล 3.ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการบริโภคนมและพัฒนาผลิตภัณฑ์นมเพื่อการแข่งขันระดับนานาชาติ 4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการใช้ประโยชน์ และ 5.ยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้การเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกร ทั้งนี้มีเป้าหมายให้องค์กรเกษตรกรโคนมมีความเข้มแข็ง น้ำนมในประเทศมีคุณภาพมาตรฐานสากล และผลิตภัณฑ์นมมีคุณภาพมาตรฐานและความหลากหลายสามารถแข่งขันได้
สำหรับตัวชี้วัดยุทธศาสตร์ประสบความสำเร็จได้แก่ องค์กรเกษตรกรบริหารงานมีกำไรและจำนวนสมาชิกใช้บริการองค์กรเกษตรกรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ค่าเฉลี่ยผลผลิตน้ำนมโคต่อตัวต่อวันเพิ่มขึ้นปีละร้อยละ 4 ฟาร์มโคนมทั้งหมดได้รับมาตรฐาน GAP คุณภาพน้ำนมดิบผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปี โดยคุณภาพน้ำนมดิบระดับฟาร์มโคนมของจำนวนฟาร์มทั้งประเทศ มีค่าโซมาติกเซลล์ไม่เกิน 400,000 เซลล์/มิลลิลิตร ของแข็งไม่รวมมันเนย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 8.75 ไขมันไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.75
คุณภาพน้ำนมดิบระดับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ มีจำนวนจุลินทรีย์ไม่เกิน 300,000 CFU/มิลลิลิตร สถานที่ผลิตผ่านมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของสถานที่ผลิตที่ได้รับการตรวจประเมินผลิตภัณฑ์นม ณ สถานที่ผลิตและสถานที่จำหน่าย มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของผลิตภัณฑ์ที่สุ่มเก็บตัวอย่าง อัตราการบริโภคนมพร้อมดื่มภายในประเทศจากเดิม 14 ลิตร/คน/ปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปีเป็น 20 ลิตร/คน/ปี มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี และมีศูนย์ข้อมูลในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมโคนมของไทยภายในปี 2561
รายงานข่าวกล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์นี้ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและนักวิชาการให้ความเห็นว่า ควรมีการทบทวนยุทธศาสตร์ทุก 2-3 ปี เพราะปัจจัยแวดล้อมของอุตสาหกรรมนมโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การนำมาตรฐานสากลที่ค่อนข้างสูงมาเป็นเป้าหมายอาจจะทำให้เกษตรกรท้อถอย ควรกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำและมีรางวัลให้จะดีหรือไม่ เพราะปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมลดจำนวนลงไปมากจาก 2.3 หมื่นรายในปี 2549 เหลือเพียง 1.6 หมื่นราย และในยุทธศาสตร์ที่ 1 ที่จะสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรในเรื่องปัจจัยอาหารสัตว์ เทคโนโลยี โรคระบาดและสายพันธุ์โคนมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ถ้าทำไม่ได้จะมีแผนอะไรรองรับบ้าง
รายงานข่าวกล่าวต่อว่า ในส่วนสถานการณ์อุตสาหกรรมโคนมในปัจจุบัน ไทยมีจำนวนโคนมทั้งหมดในปี 2558 เท่ากับ 6.08 แสนตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.55 จำนวนแม่โครีดนม 2.32 แสนตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.89 มีผลผลิต 1.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.58 การส่งออกโคนมไปเวียดนามเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2557 รวมถึงราคาน้ำนมดิบอยู่ในเกณฑ์ดี จึงจูงใจให้เกษตรกรเก็บรักษาแม่โคไว้และปรับสัดส่วนของแม่โครีดนมในฝูงให้เหมาะสม มีการบริหารจัดการฟาร์มที่เป็นระบบตามมาตรฐานฟาร์มที่ดีและมีประสิทธิภาพในการเลี้ยง ทำให้มีอัตราการให้น้ำนมสูงขึ้นและน้ำนมดิบมีคุณภาพดีขึ้น ทั้งนี้ในปี 2559 มีผลผลิตน้ำนมดิบเท่ากับ 3,332.238 ตัน/วัน
eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต