จากประชาชาติธุรกิจ
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนโครงการอย่างเร่งด่วน โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ได้แก่ รัฐ ท้องถิ่นและชุมชน มีกลยุทธ์การดำเนินงานที่กำหนดไว้ ทั้งในระดับจังหวัด โดยขอความร่วมมือทุกภาคส่วนและแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการป้องกัน กำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานมีคณะทำงานประกอบด้วย หน่วยงานที่เป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มีท้องถิ่นจังหวัดประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนเกษตรกร ตัวแทน ศพก. และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่จังหวัดเห็นสมควร มีเกษตรจังหวัด เป็นเลขานุการ และระดับชุมชน ใช้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนและอาสาสมัครเกษตร (อกม.) เป็นกลไกขับเคลื่อน
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการระดับจังหวัด มีหน้าที่หลัก คือ 1) วางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน 2) บริหารจัดการโครงการให้เกิดประสิทธิภาพ เร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จ เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว มีความถูกต้องโปร่งใส รวมทั้งรับฟังและแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานต่าง ๆ 3) ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับมาตรการโครงการ 4) กำหนดมาตรการทางการปกครอง แก้ไขปัญหาในพื้นที่ และ 5) สนับสนุนการใช้มาตรการทางกฎหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด สำหรับคณะกรรมการระดับชุมชน มีหน้าที่ติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืช สำรวจพื้นที่ระบาด และร่วมกันผลิตแตนเบียนบราคอนนำไปปล่อยในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยเฉลี่ยแต่ละศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน จะรับผิดชอบพื้นที่ระบาด 800-1,000 ไร่ และนำแตนเบียนไปปล่อยทุก 15 วัน เป็นเวลา 8 เดือน รวมจำนวน 16 ครั้ง หลังจากฉีดสารเคมีเข้าลำต้น และพ่นทางใบผ่านไปแล้ว 15 วัน และขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน เกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่จำเป็นด้วย อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว
ด้านนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ด่านตรวจพืชท่าเรือสงขลา กรมวิชาการเกษตร ได้รับการประสานงานจากด่านศุลกากรสงขลา เพื่อรับมอบของกลาง มะพร้าวลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศโดยไม่ผ่านการตรวจจากศุลกากรจำนวน 13,000 ลูก คิดเป็นมูลค่า 3,900,000 บาท เนื่องจากมะพร้าวเป็นสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2551 ซึ่งการนำเข้าจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขประกาศกรมวิชาการเกษตร สำหรับการตรวจการนำเข้ามะพร้าวเมื่อถูกขนส่งมาถึงด่านนำเข้าในประเทศไทย ลำดับแรกเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจะตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบ มากับสินค้า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างมะพร้าวว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ หากตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อ จำแนกชนิดและต้องกักมะพร้าวไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ แต่หากตรวจพบศัตรูพืชที่เป็นศัตรูพืชกักกันของไทยจะส่งสินค้ากลับ ทำลาย หรือกำจัดศัตรูพืชบนมะพร้าว
eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต