สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เป็นปลื้ม! กรมอุทยานฯเผยเจอเสือเพิ่มที่เขาแหลม-เขาใหญ่ ทั้งเสือดำ-ดาว-โคร่ง

จากประชาชาติธุรกิจ

วันที่ 11 เมษายน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ว่า ผลการตรวจสอบภาพจากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพประชากรสัตว์ ที่บริเวณบ้านเรดาร์ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ในพื้นที่รับผิดชอบ ของอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ปรากฏว่า พบสัตว์ป่าหายากจำนวนมาก โดยเฉพาะ เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ กระทิงป่า หมีควาย เลียงผา หมูป่า และเก้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสือ นั้นเป็นที่น่าแปลกใจมาก เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีรายงานมาก่อนว่าเคยพบในบริเวณนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง

นายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ที่เจอเสือตามที่ปรากฏในภาพถ่าย หลังจากนี้ต้องให้กำลังใจในการทำงานกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทุกคนในพื้นที่นั้น เพราะเสือไม่ได้อยู่ที่ไหนได้ตามบุญตามกรรม เหมือนสัตว์ชนิดอื่น เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้เสืออยู่ได้คือ ต้องมีพื้นที่ป่าที่เหมาะสม มีเหยื่อให้ล่าอย่างเพียงพอ รวมทั้งมีระบบดูแลป้องกันที่ดี ซึ่งพื้นที่ป่าตะวันตกมีความกว้างใหญ่เพียงพอให้มีการกระจายพันธุ์ของเสืออยู่แล้ว

“จากภาพ ยังบอกไม่ได้ว่า เสือที่เจอนั้นเป็นตัวที่ทางสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ เราไม่เคยมีการเก็บข้อมูลอย่างจริงจังในพื้นที่ดังกล่าว น่าจะเป็นเสือตัวแรกที่บันทึกได้จากพื้นที่ตรงนี้”นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า สถานการณ์เสือในพื้นที่ห้วยขาแข้งเวลานี้เป็นอย่างไรบ้าง นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า ยังปกติดี แต่มีเรื่องที่น่ายินดีคือ เจ้าหน้าที่ของสถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเขานางรำเพิ่งจะถ่ายรูป เสือบุปผา เสือโคร่งที่ได้ขึ้นชื่อว่า มีอายุมากที่สุดในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในขณะนี้ โดยบุปผามีอายุประมาณ 15 ปี แล้ว ภาพถ่ายล่าสุดที่เจอบุปผาคือ ภาพที่บุปผากำลังกินซากกวาง อยู่ไม่ไกลจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำมากนัก ถือว่า บุปผาเป็นเสือเฒ่าที่แข็งแรงอย่างมาก เพราะปกติแล้ว เสือในป่าที่มีอายุขนาดนี้ จะไม่สามารถหาอาหารกินเองได้แล้ว และจะค่อยๆแห้งตายไปเอง เพราะหากเทียบกับคน บุปผาจะมีอายุประมาณ 80 ปี นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ติดตามสัญญาณวิทยุ ที่ติดอยู่กับเสืออีกตัวหนึ่งคือ ข้าวจี่ ซึ่งข้าวจี่นั้น ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในห้วยขาแข้งเวลานี้ สัญญาณวิทยุพบว่า ข้าวจี่มักจะเดินไปกลับบริเวณเดิมๆซ้ำๆกันทุกวัน พฤติกรรมดังกล่าว สันนิษฐานเบื้องต้นว่า อาจจะกำลังเลี้ยงลูกเล็กๆก็ได้ ซึ่งลูกคลอกนี้เป็นคลอกแรกของข้าวจี่

“ขอเวลาอีกไม่นานเราน่าจะได้ข้อสรุปว่า ตอนนี้ ในพื้นที่ห้วยขาแข้งมีลูกเสือเกิดใหม่กี่คลอก คาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 2 คลอกด้วยกัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก และหากเรารักษาความสมดุลของสภาพป่า และปริมาณเหยื่อไว้ให้เป็นแบบนี้ ในอนาคตเราจะมีประชากรเสือเพิ่มมากขึ้นอีก”นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ในช่วง มิถุนายน 2559 – กุมภาพันธ์ 2560 กรมอุทยานฯ สามารถบันทึกภาพเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้จำนวน 18 ตัว แบ่งเป็นเพศผู้ 5 ตัว เพศเมีย 7 ตัว และลูกเสือโคร่ง 6 ตัว ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ รวมทั้งประสิทธิภาพในการลาดตระเวนป้องกันรักษาพื้นที่ จึงทำให้เสือโคร่งสามารถดำรงชีวิตและมีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ หลังจากครั้งสุดท้ายในปี 2545 ที่เคยบันทึกภาพเสือโคร่งได้บริเวณหน่วยพิทักษ์ฯ (คลองอีเฒ่า) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยกล้องดักถ่ายภาพของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) และมูลนิธิ WildAid ประเทศไทย โดยการสำรวจครั้งนี้เริ่มต้นในปี 2559 กรมอุทยานแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิฟรีแลนด์ และมูลนิธิ Panthera ทำการสำรวจประชากรเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า จำนวน 158 ตัว ไว้ในบริเวณที่เป็นถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น มูลนิธิ Panthera ซึ่งได้ทำงานอนุรักษ์เพื่อปกป้องพันธุ์สัตว์ประเภทเสือภายใต้โครงการ Tiger Forever ประเมินว่าเมื่อพื้นที่กลุ่มป่า ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ได้รับการคุ้มครองดูแลให้มีความอุดมสมบูรณ์ จะสามารถรองรับประชากรเสือโคร่งได้มากกว่าในปัจจุบันอีกหลายเท่า





ที่มา   มติชนออนไลน์


eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เป็นปลื้ม! กรมอุทยานฯเผยเจอเสือเพิ่มที่เขาแหลม-เขาใหญ่ ทั้งเสือดำ-ดาว-โคร่ง

view