จากประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 เมษายน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พร้อมด้วยผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 12 จ.เพชรบุรี และคณะเจ้าหน้าที่เดินทางมาร่วมประชุมกับนายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่ห้องประชุมชั้น 4 ของศาลากลางจังหวัด เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีพบสารบีที ซึ่งใช้กำจัดแมลงดำหนามในสวนมะพร้าว มูลค่า 32.8 ล้านบาท ถูกเก็บไว้เป็นจำนวนมากในห้องประชุมอำเภอเมือง และพบสารชนิดเดียวกันมูลค่า 24.7 ล้านบาท ถูกกองไว้ในเมรุร้าง ที่วัดนาหูกวาง อ.ทับสะแก นานกว่า 5 ปี จนหมดอายุการใช้งาน หลังจากเมื่อปีงบประมาณ 2555 มีการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินเพื่อจัดซื้อสารบีที แต่กรมวิชาการเกษตรมีหนังสือด่วนที่สุดแจ้งว่า บริษัทคู่สัญญาได้นำสินค้าที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร และไม่ได้แจ้งเพื่อดำเนินการผลิต จึงไม่สามารถนำมาจำหน่ายกับทางราชการได้
ต่อมานายพิศิษฐ์ พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจสอบการเก็บสารบีทีจำนวนมาก ภายในหอประชุมอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ โดยมีการล้อมรั้วลวดหนามและมีการปิดประกาศเป็นเขตห้ามเข้า จากนั้นนายพิศิษฐ์ได้ดูฉลากข้างขวดและใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทที่ติดอยู่ข้างขวดสารบีที แต่ไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว อีกทั้งยังพบพิรุธจากการจัดซื้อ อ.เมือง และ อ.ทับสะแก พบ 2 บริษัทใช้ชื่อต่างกัน แต่มีฉลากสินค้าชนิดเดียวกัน มีที่ตั้งในสถานที่เดียวกัน อาจเข้าข่ายการฮั้วประมูล ขณะนี้คดียังไม่หมดอายุความ ดังนั้นจะสอบปากคำข้าราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าชี้แจง ทั้งนี้การตรวจสอบพบว่าหน่วยงานระดับจังหวัดไม่มีการแจ้งเวียนรายชื่อบริษัทผู้ขายสินค้าทิ้งงาน เนื่องจากทั้ง 2 อำเภอไม่มีการจ่ายเงินเพื่อซื้อขาย ทำให้ชาวสวนมะพนร้าวขาดโอกาสและได้รับผลกระทบจากการบาดระบาดของแมลง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล
นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ได้ขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเร่งหาวิธีการกำจัดสารดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับเมืองท่องเที่ยว ซึ่งไม่ควรมีขยะพิษเก็บไว้ใจกลางเมือง ทั้งที่หอประชุมอำเภอควรนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า ไม่ควรปล่อยให้เอกชนใช้เพื่อเก็บวัตถุอันตราย หากจังหวัดดำเนินการล่าช้า สตง.จะเสนอ คสช.และ ศอ.ตช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งการต่อไป และจะต้องเรียกค่าใช้จ่ายในการสารพิษไปทำลายจากบริษัทที่นำสารบีทีมาเก็บไว้ ขณะที่พบว่าขณะนี้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยังไม่มีการกำหนดสถานที่เก็บวัตถุอันตราย จากนั้นจะมีการตรวจสอบย้อนหลังในปีงบประมาณ 2553-2554 พบว่ามีใช้เงินทดรองราชการจากการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดซื้อซื้อสารบีทีกว่า 198 ล้านบาทแจกจ่ายให้เกษตรกรว่ามีหน่วยงานใดให้การรับรองสินค้า ซึ่งจะต้องสอบถามรายละเอียดจากกรมวิชาการเกษตรว่าเหตุใดมาทักท้วงในปีงบประมาณ 2555
ที่มา : มติชนออนไลน์
eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต