จากประชาชาติธุรกิจ
ผู้ว่าสั่งห้ามจ่ายค่าหัว นทท.50 บาท ขึ้นเกาะหลีเป๊ะ 11 เม.ย.นี้เรียกทุกฝ่ายเคลียร์ ปัญหามาเฟีย ขณะที่ผู้ประกอบการขนเอกสารเตรียมร้อง ปปช.สูญเงิน 2 ล้านจ่าย เพื่อทวงความชอบธรรม
วันที่ 9 เมษายน 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเดชา ดำกระบี่ หอบเอกสารในการชำระค่าเรือหางยาว มาอย่างยาวนาน ร่วม 4 เดือนที่ผ่านมา เป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท ที่ต้องจ่ายให้กับ ชมรมเรือหางยาวบนเกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการหลังเกิดปัญหาโป๊ะชำรุด ทำให้ผู้ประกอบการต้องนำเรือเข้าเสียบหน้าหาด แต่ก็ยังยอมจ่ายเงินเพราะคิดว่าเป็นมติของทางพื้นที่ แต่มาวันนี้กลับพบความไม่โปร่งใส จึงหอบเอกสารมาแสดงเพื่อหาความจริง ว่าเม็ดเงินที่เรียกเก็บการขึ้นเกาะของนักท่องเที่ยวหัวละ 40 บาท จากปกติ หัวละ 50 บาท เงินอยู่ที่ไหน ชาวเลทั้งหมดได้ประโยชน์จากเงินเหล่านี้จริงหรือไม่ ชมรมมีความชอบธรรมทางกฎหมายหรือไม่ เพียงต้องการความถูกต้อง และเห็นว่า ลำพังชาวเลเองไม่น่าจะทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ได้เพียงนี้หากไม่มีคนมีบารมีอยู่เบื้องหลัง
โดยที่ผ่านมาทางบริษัท ยอมแบกรับภาระไว้เอง เพื่อไม่ต้องการผลักภาระให้กับนักท่องเที่ยว กับคำถามว่าเหตุใดต้องจ่ายเงินส่วนนี้ทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการเรือหางยาวเพื่อเข้าฝั่ง ซึ่งเอกสารทั้งหมดนี้ตั้งใจจะนำขึ้นไปให้ ปปช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเหล่านี้
ขณะที่วันนี้ด้านผู้ประกอบการเดินเรือท่องเที่ยว ได้นัดพูดคุยและหาข้อสรุปร่วมกัน ที่อาคารผู้โดยสารท่าเทียบเรือปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู เพื่อเร่งหาบทสรุปร่วมกัน หลังมีการแชร์พฤติกรรมของบุคคลคล้ายมาเฟียบนเกาะหลีเป๊ะเรียกเก็บเงินนักท่องเที่ยว หัวละ 50 บาท ทางโลกโซเซียล สร้างผลกระทบด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งทำลายภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวจ.สตูล ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
โดยทางด้านนายสุริยัน เดชรักษา หัวหน้าศูนย์ดํารงธรรมจังหวัดสตูล พร้อมนายศุภฤกษ์ กุญชรศิริมงคล ปลัดอำเภอเมืองสตูล ได้เดินทางมาเข้าร่วมพูดคุย พร้อมนำสารจากผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลมาบอกทางผู้ประกอบการเดินเรือจังหวัดสตูล ว่าให้งดการจ่ายเงินให้กับชมรมเรือหางยาวหลีเป๊ะ ตั้งแต่วันนี้ เพื่อเป็นการคืนความสุขให้กับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และนัดพูดคุยกับผู้ประกอบการเดินเรือทั้งหมด และทางชมรมเรือหางยาวเกาะหลีเป๊ะ ในวันอังคารที่ 11 เมษายน 2560 เวลา 13.00 น.ที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อหาข้อสรุป และยุติปัญหาร่วมกัน ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ประกอบการเดินเรือท่องเที่ยว
นายไกรวุฒิ ชูสกุล หนึ่งในผู้ประกอบการเดินเรือท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ ยอมรับว่า เป็นข่าวดีของนักท่องเที่ยว ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดรับจะยุติปัญหาด้วยการเข้าสู่กระบวนการหารือที่ชัดเจน หาทางออกร่วมกัน ในการดำเนินการให้โปร่งใส เพราะการออกมาร้องเรียนในครั้งนี้ผ่านศูนย์ดำรงธรรมนั้น เพื่อปกป้องสิทธิ์แทนนักท่องเที่ยว และทวงถามสิทธิ์ของชาวเลที่พึ่งจะได้รับว่าถึงมือจริงหรือไม่ เนื่องจากทุกบบริษัทที่จ่ายเงินไป คนละ 50 บาทไปกลับ 100 บาทต่อรายของนักท่องเที่ยวนั้น เม็ดเงินเหล่านี้อยู่ที่ไหน
ทุกวันนี้ชมรมเรือหางเกาะหลีเป๊ะ ไม่มีการจดทะเบียน แต่เป็นการหมุนเวียนกันเมื่อเปลี่ยนตัวคน เม็ดเงินที่ทางบริษัทยินดีจ่ายปีละหลายล้านบาท ยินดีหากไปถึงมือชาวเลอย่างแท้จริง เพื่อให้ชาวเลช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม จุนเจือกันถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน พวกเราไม่ได้ทำธุรกิจแบบนายทุน ถึงเวลาที่จะต้องมีการจัดการเปลี่ยนระบบจากชมรมเรือหาง มาสู่รูปแบบ สหกรณ์ หรือ วิสาหกิจชุมชน เพราะการท่องเที่ยวจ.สตูลกำลังไปสู่การท่องเที่ยวโลก ซึ่งต้องมีผู้ใหญ่มาช่วยจัดการให้เป็นระบบที่มีความโปร่งใสมากกว่านี้
สำหรับผู้ประกอบการเดินเรือในจังหวัดสตูลมีทั้งสิ้น 17 บริษัท ไม่รวมผู้ประกอบการจากเกาะลังกาวี และ กระบี่ ตรังที่เข้ามาใช้บริการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะหลีเปะ จ.สตูล ซึ่งที่ผ่านมาหลายบริษัทยอมจ่ายเองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับนักท่องเที่ยว ขณะที่บางบริษัท แจ้งให้นักท่องเที่ยวรับทราบถึงปัญหา โดยไม่คิดรวมกับค่าบริการนักท่องเที่ยว ตามความสมัครใจ หลังเกิดปัญหาโป๊ะชำรุดไม่สามารถใช้การได้ และยังไม่มีท่าทีว่าจะมีการซ่อมแซมหรือจัดหามาใช้ เมื่อไหร่ โดยอยู่ในความรับผิดชอบของ อุทยานฯตะรุเตา
ที่มา มติชนออนไลน์
eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต