จากประชาชาติธุรกิจ
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายสายพิณ เปียสวน ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่า และควบคุมไฟป่า สำนักนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ นำคำสั่งสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ที่ 62/2560 เข้าไปติดประกาศที่ปางช้างแก่งกื้ด หมู่ที่ 1 ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แตง ที่มีการก่อสร้างเครื่องเล่นเคเบิ้ลสลิงหรือซิปไลน์ จำนวน 6 ฐาน เพื่อแจ้งให้ผู้ประกอบการ ดำเนินการรื้อถอนสายเคเบิ้ลสลิงฐานต่างๆ ออกไปจากพื้นที่ป่าสงวนฯ โดยจะครบกำหนดการรื้อถอนในวันที่ 21 เมษายน หากพ้นกำหนดนี้แล้ว ยังไม่มีการรื้อถอน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 จะรื้อถอนเอง และจะคิดค่ารื้อถอนกับทางเจ้าของต่อไป
อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่า ภายหลังศาล จ.เชียงใหม่ ได้มีคำพิพากษาแล้ว สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ได้มีหนังสือลงวันที่/24 มกราคม แจ้งให้นายดวงงาม ศรีดวงแก้ว เจ้าของ เคเบิ้ลสลิงหรือซิปไลน์ โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนดจะถือว่ารับทราบและไม่ประสงค์จะโต้แย้งสิทธิ์ ซึ่งได้ล่วงเลยกำหนดมานานแล้ว สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 จึงใช้อำนาจตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ 2507 ติดประกาศแจ้งให้นายดวงงาม ดำเนินการรื้อถอนสายเคเบิ้ลสลิงและฐานต่างๆ ออกไปจากพื้นที่ป่าสงวนฯ โดยจะครบกำหนดติดประกาศให้รื้อถอนในวันที่ 21 เมษายน หากพ้นกำหนดนี้แล้วไม่มารื้อถอน ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ก็จะดำเนินการรื้อถอนเอง และคิดค่ารื้อถอนจากเจ้าของพร้อมกับเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 25 ต่อปี และยังมีความผิดฐานขัดคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่อีกข้อหาหนึ่ง
นายชลธิศกล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ทุกจังหวัดตรวจสอบว่ามีเครื่องเล่นเคเบิ้ลสลิงที่อยู่ในเขตป่าหรือไม่ โดยใน จ.เชียงใหม่มีเครี่องเล่นเคเบิ้ลสลิงที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 12 ราย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ได้ตรวจยึดดำเนินคดีไปแล้ว 6 ราย ส่วนอีก 6 ราย อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารการครอบครองที่ดิน โดยผู้ประกอบการจะอ้างว่ามีเอกสารการแจ้งครอบครองหรือ ส.ค. 1 ซึ่งทางสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 จะประสานกับสำนักงานที่ดิน จ.เชียงใหม่ ตรวจสอบเอกสารสิทธิ ส.ค. 1 ว่าถูกต้องตรงกับสารบบที่ดินและแปลงที่ดินหรือไม่ และจะมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังในแต่ละชั้นปีจนถึง พ.ศ.2495 ว่าได้มีการเข้าครอบครองทำประโยชน์มาจริงหรือไม่ หากผลการตรวจพิสูจน์ปรากฎว่ามีการนำเอกสาร ส.ค.1 จากพื้นที่อื่นมาสวมสิทธิ์ หรือไม่ได้มีการทำประโยชน์มาก่อน ก็จะถือว่าเอกสาร ส.ค.1 ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า ก็จะดำเนินคดีกับผู้บุกรุกอย่างเฉียบขาดต่อไป
ที่มา : มติชนออนไลน์
eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต