จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ
โดย พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล
doctorpin111@gmail.com
สวัสดีค่ะ ใกล้ถึงเทศกาลหยุดยาว ... ย้าวยาวกันแล้ว
คุณผู้อ่านมีแผนไปเริงร่ากันที่ไหนรึเปล่าคะ
ไม่ว่าจะไปไหนก็ต้องเดินทาง
ดังนั้น วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่อง "การขึ้นเครื่องบิน" กันนะคะ
ไม่ว่าจะบินสั้นแค่ไม่กี่ชั่วโมง หรือบินยาวข้ามน้ำข้ามทะเลข้ามทวีปก็ตาม
เราจะมีวิธีดูแลสุขภาพระหว่างอยู่บนเครื่องกันอย่างไรนะคะ
ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Deep Vein Thrombosis) หนึ่งใน
ความเสี่ยงระหว่างขึ้นเครื่องบิน หรือบางคนเรียกว่า
Economy Class Syndrome ซึ่งมักเกิดตอนที่เรานั่งนาน ๆ
ไม่ได้เปลี่ยนท่า
ดังนั้น วิธีป้องกัน ได้แก่
- ดื่มน้ำ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- พื้นที่บริเวณขา อย่าวางของรก จะได้มีพื้นที่ให้ขาได้เหยียด ขยับไปมาได้บ้าง
- ขยับตัวบ้าง อาจจะลุกขึ้นมายืน เดินทุก 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะในสตรีมีครรภ์ที่เสี่ยงต่อภาวะนี้ควรขอที่นั่งริมทางเดิน เพื่อลุกขึ้นมาขยับตัวบ้าง
- สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย รองเท้าที่สวมสบาย
การทานอาหารบนเครื่อง
ควรรับประทานแต่น้อย หลีกเลี่ยงมื้อหนักบนเครื่อง
ถ้าจะจัดหนักให้รับประทานตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่อง หลีกเลี่ยงพวกน้ำอัดลม โซดา กาแฟ
ขึ้นลงแต่ละที...ช่างปวดหู
เวลา เครื่องขึ้นเครื่องลง ความดันอากาศในห้องโดยสารจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้รบกวนสมดุลความดันอากาศระหว่างความดันในหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ทำให้มีอาการปวดหูได้ค่ะ
ซึ่งท่อยูสเตเชียนจะเป็นตัวช่วยปรับความดัน เราสามารถช่วยปรับความดันได้โดยการกลืน หาว อ้าปากกว้าง ๆ หรือหาหมากฝรั่งมาเคี้ยวค่ะ หรือเอานิ้วโป้งและนิ้วชี้มาบีบจมูก ปิดปากแล้วหายใจออกเบา ๆ ก็ได้
อากาศแห้งและเบาบาง
ในห้องโดยสารบนเครื่องบิน ออกซิเจนที่ความเข้มข้น
ลดลงกว่าปกติค่ะ แต่ร่างกายสามารถปรับตัวได้ ถ้าเดิมไม่ได้
มีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคปอด ความกดอากาศและความชื้นในอากาศที่ลดลง อาจทำให้ผิวแห้ง ตาแห้งได้ สาว ๆ
อาจให้ความชุ่มชื้นกับผิวหน้า เช่น ใช้สเปรย์น้ำพรมหน้าได้ค่ะ
Jet Lag
ในคนที่เดินทางไกล ข้ามน้ำข้ามทะเล ข้าม Timezone
อาจมีปัญหาเรื่อง Jet Lag ได้ค่ะ ซึ่งอาการได้แก่ ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ นอนไม่หลับ ไม่สบายตัว
วิธีป้องกันและแก้ไขคือ ดื่มน้ำเยอะ ๆ ค่ะพอไปถึงที่หมาย ให้ใช้ชีวิตตามเวลาที่นั่น เช่น รับประทานอาหารตามมื้อที่นั่น
พยายามหลับพร้อมชาวบ้าน และพยายามตื่นพร้อม
ชาวบ้านมารับแสงสว่างค่ะ
อาการ Jet Lag อาจเกิดขึ้นได้ 2 วัน-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของแต่ละคนค่ะ
ขณะนี้เราได้ทำการลดระดับลงสู่พื้นดินแล้ว
ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน ปรับที่นั่ง รัดเข็มขัด เปิดม่านหน้าต่าง
และมีความสุขในวันหยุดยาวนะคะ เดินทางปลอดภัยค่ะ
eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต