สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลิตภัณฑ์อะไร...? ผู้สูงวัยตลาดไทย-โลกต้องการ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ปัจจุบันผู้ประกอบการหลายคนอยากจะทำสินค้าสำหรับผู้สูงวัย แต่หลายคนยังคิดไม่ตกว่าจะเริ่มตรงไหน เพราะไม่ทราบว่า ความต้องการของตลาดผู้สูงอายุที่แท้จริง ต้องการอะไรกันแน่

แม้ในต่างประเทศจะมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ทั้งธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า เทคโนโลยี อาหาร ฯลฯ

แต่จะเหมาะสมกับผู้สูงวัยคนไทยหรือไม่ ?

โดยเฉพาะการผลิตอาหาร มีเสียงสะท้อนจากงานสัมมนา "นวัตกรรมและเครือข่ายการพัฒนาอาหารสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุ" ซึ่งจัดโดย 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อรวมตัวสร้างเครือข่าย CARE FOOD จัดทำโรดแมปพัฒนาเทคโนโลยี กำหนดทิศทางการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารที่เอื้อต่อการรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยอย่างสมบูรณ์แบบในปี2564

ศ.ดร.วิสิฐจะวะสิต
จากสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดลบอกว่า อาหารผู้สูงอายุมีมาตรฐานของสารอาหารอยู่แล้ว แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ผู้สูงอายุบางคนสูญเสียการดมกลิ่น การรับรสชาติ แต่ยังต้องการความอร่อย อาจทำให้ผู้สูงอายุต้องเติมเกลือ น้ำตาล หรือสารปรุงรสเพิ่มขึ้น ดังนั้นโจทย์จึงมีอยู่ว่าจะผลิตอาหารอย่างไรให้ผู้สูงอายุได้รับรสชาติเหมือนเดิม โดยใส่โซเดียมเท่าเดิม แต่ทำให้รับรสชาติได้ดีขึ้น เพราะการสูญเสียการดมกลิ่น และรับรสชาติทำให้บางคนไม่อยากทานอาหาร

มีข้อน่าสังเกตในการผลิตอาหารเพื่อผู้สูงวัยที่ป่วย ระหว่างคนไทยและญี่ปุ่นต่างกัน เช่น ผู้ป่วยญี่ปุ่นจะปฏิบัติตัวเคร่งครัดตามแพทย์สั่ง การกินอาหารได้มากจะช่วยให้การฟื้นตัวได้ดี แต่คนไทย ไม่จำกัดเฉพาะผู้สูงอายุ แพทย์สั่งอะไร มักจะไม่ปฏิบัติตาม คนไทยเรื่องรสชาติความอร่อยต้องมาก่อน เน้นกินยามากกว่ากินอาหาร

นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารให้ผู้สูงวัย ต้องเปิดง่ายและสะดวก ไม่ควรมีคม เป็นอันตราย

คุณวัชรพล บุญหลาย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดิฟู้ดส์ จำกัด บอกว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างวิจัยอาหารสำหรับผู้สูงอายุ แม้จะเห็นผลิตภัณฑ์ของหลายประเทศอย่างญี่ปุ่นจะมีอาหารนิ่ม ๆ ต้องย้อนกลับมาพิจารณาว่า จะสามารถพัฒนาไปในแนวทางเดียวกับของต่างประเทศได้หรือไม่ อะไรคืออาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัยคนไทย

ยกตัวอย่าง คนใกล้ตัวผมมีอายุยืน 90-100 กว่าปีทั้งสิ้น ผมมีอาม้า อายุ 97 ปี วันหนึ่งอยากทานข้าวเหนียวกับลาบปลาดุก ทั้งที่ไม่มีฟัน และควรทานอาหารนิ่ม ๆ แต่ทานได้หมด ทำให้ย้อนกลับมาคิดว่า ทฤษฎีที่ว่า คนสูงอายุต้องทานอาหารนิ่ม ๆ จริงหรือไม่ ขณะเดียวกันผมมีคุณปู่ ชอบทานขนมปังปิ้งไหม้ ๆ วันละ 6 แผ่นทุกวัน ตอนเสียชีวิตอายุ 100 กว่าปี ไม่ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง จึงเกิดคำถาม ผู้สูงวัยถือเป็นวัยที่พิเศษมาก

ที่น่าสังเกต คือ ไม่มีใครยอมรับว่าตัวเอง "แก่" ตอนคุณปู่ อายุ 96 ปี วางแว่นตาลืมไว้ พอผมหาพบ คุณปู่บอกว่า "สงสัยจะเริ่มแก่" ดังนั้นหากแบ่งวัยของผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก เป็นช่วงที่ "ไม่ยอมรับว่าสูงอายุ หรือไม่สูงอายุ" ช่วงที่สอง "ยอมรับว่าสูงอายุ" และช่วงสุดท้าย "จะยอมรับ หรือไม่ยอมรับ ก็ต้องยอม" 

ปิดท้ายด้วย คุณจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ แนะนำว่า ปัจจุบันตลาดโลกมีความต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงอายุ ในเชิงการตลาด แบ่งผู้สูงวัยออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ Active ยังแข็งแรง และ In active ช่วยตัวเองไม่ได้ สำหรับสินค้าที่ตลาดส่งออกต้องการ เช่น อาหารธรรมชาติ, สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงสูงวัย เพราะคนเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก, ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เป็นต้น

ผู้ประกอบการรายใดสนใจสามารถเข้าไปหาข้อมูลจากเครือข่าย CARE FOOD ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีผู้เชี่ยวชาญค่อยให้คำปรึกษา พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี แถมบางหน่วยงานยังมีทุนวิจัยดี ๆ รออยู่อีกเพียบ


eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ผลิตภัณฑ์อะไร...? ผู้สูงวัยตลาดไทย-โลกต้องการ

view