โรงสีอาหารสัตว์ซื้อข้าวเสื่อม ฟาร์มหมูราชบุรีกวาดล้านตัน
จากประชาชาติธุรกิจ
เอกชนมึน "7 โรงสี" ผ่านเกณฑ์ร่วมประมูลชิงข้าวเสื่อมบิ๊กลอต 3.66 ล้านตัน "เฮงเพิ่มพูน" เสนอราคาซื้อต่ำสุด 1.88 บาท/กก.บิ๊กอาหารสัตว์ราชบุรี "วี.ซี.เอฟ." กวาดซื้อสูงสุด 8 แสนตัน มั่นใจรัฐขายได้ไม่ต่ำกว่า 80% อุดช่องนำเข้าข้าวสาลี
แหล่งข่าวจากวงการข้าวเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลการเปิดให้ยื่นซองเสนอราคาประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐบาลเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่คนบริโภค ครั้งที่ 1/2560 ปริมาณ 3.66 ล้านตัน
มีผู้ผ่านคุณสมบัติ 19 ราย แต่ยื่นซองเสนอราคา 16 ราย เป็นที่น่าสังเกตว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการโรงสีเข้าร่วมเสนอราคาถึง 7 ราย โดยหนึ่งในนั้นคือ หจก.เฮงเพิ่มพูน ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาระดับต่ำสุด 1.80 บาทต่อกิโลกรัม
"ในเงื่อนไขการประมูลกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลว่าจะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน แต่กลับมีโรงสีผ่านเกณฑ์ประมูล 7 ราย"
นอกจากนี้ยังมีบริษัท นิรันดร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตกรดมะนาว (กรดซิตริก) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีบริษัท นิรันดร์(ฮ่องกง) อินเวสต์เม้นท์ถือหุ้น 100% ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2552 ทุนจดทะเบียน 1,500 ล้านบาท มีนายเผิง ฉีเหว่ย (สัญชาติจีน) เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ แต่บริษัทนี้ไม่ได้ซื้อในปริมาณมากจนเป็นที่น่าจับตามองเช่นเดียวกับกลุ่มอาหารสัตว์และกลุ่มโรงสี
แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่อนุญาตให้โรงสีเข้าร่วมประมูลได้ในครั้งนี้ เพราะทีโออาร์เดิมเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อหลักในทางปฏิบัติที่แท้จริง เพราะถึงแม้ว่าจะมีการเปิดประมูล เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ แต่ไม่สามารถนำข้าวไปใช้ได้ทันที เพราะข้าวในคลังของรัฐบาลที่จัดเก็บมานาน และมีสิ่งปลอมปน เช่น ขุยกระสอบจำนวนมาก จำเป็นต้องนำไปผ่านกระบวนการแยกสิ่งปลอมปนก่อน ซึ่งทางปฏิบัติมีแต่โรงสีเท่านั้นจะทำได้ แล้วจึงส่งเข้าโรงงานอาหารสัตว์ เพราะไม่อย่างนั้นการผลิตอาหารสัตว์จะไม่ได้มาตรฐาน และอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์ ยกเว้นการนำไปผลิตอาหารปลาสามารถนำไปใช้ได้ทันที
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า การประมูลครั้งนี้รัฐบาลจะสามารถขายข้าวได้ถึง 80% หรือประมาณ 1.8 ล้านตันจากยอดเสนอซื้อสูงสุด 2.07 ล้านตัน โดยผู้ชนะการประมูลสูงสุดน่าจะเป็นกลุ่มอาหารสัตว์ ได้แก่ บริษัท วี.ซี.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด โรงงานอาหารสัตว์ เเละฟาร์มสุกรรายใหญ่ที่สุดใน จ.ราชบุรี เสนอซื้อ 800,000 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 3,000-5,000 บาท รองลงมาคือ กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ใน จ.ราชบุรีในเครือ "นิติกาญจนา" ซึ่งมี 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอส พี เอ็มอาหารสัตว์ ของนายสมชาย นิติกาญจนา และบริษัท กาญจนาอาหารสัตว์ ของนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา และนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา อดีตที่ปรึกษาของนางพรทิวา นาคาศัย อดีต รมว.พาณิชย์
"หากรัฐพิจารณาขายให้กับกลุ่มอาหารสัตว์จำนวนมากอาจไม่จำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศ ตามที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเรียกร้องขอให้นำเข้าเพื่อมาชดเชยผลผลิตข้าวโพดที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์"
ล่าสุด นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า มีเอกชน 15 รายที่ยื่นเสนอซื้อในราคาสูงสุดรวมปริมาณ 2.07 ล้านตัน ใน 157 คลัง หรือคิดเป็นสัดส่วน 56.50% ของปริมาณข้าวที่เปิดประมูลทั้งหมด มูลค่าที่เสนอซื้อ 9,205 ล้านบาท และมีการเสนอซื้อข้าวราคาตั้งแต่ 1,880-5,100 บาท/ตัน หรือ 1.88-5.10 บาท/กก. โดยราคาเฉลี่ยที่เสนอซื้อครั้งนี้ 4-5 บาท/กก. คาดว่ากรมจะนำผลการประมูลเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานระบายข้าวในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาว่าจะขาย
"หลักเกณฑ์การพิจารณาขายต้องนำข้อมูลรอบด้านมาเทียบเคียงราคาวัตถุดิบที่กลุ่มอาหารสัตว์นำไปผลิต เช่น มันเส้น ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 5 บาท/กก. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อยู่ที่ 8 บาท/กก. รวมทั้งผลกระทบของตลาด และภาระค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสต๊อกข้าว ที่ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 17 ล้านบาท/วัน ก่อนเสนอประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) อนุมัติต่อไป"
นายกีรติกล่าวว่า ตามแผนการเปิดระบายสต๊อกข้าวรัฐบาลที่ได้รับความเห็นชอบจาก นบข.ในเดือน เม.ย.จะนำข้าวกลุ่ม 3 ที่เก็บเกิน 5 ปีขึ้นไป และเป็นข้าวผิดชนิด ผิดมาตรฐาน ที่ไม่เหมาะสมทั้งการบริโภคของคนและสัตว์ต้องเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานอย่างเดียวลอตสุดท้ายปริมาณ 1.8 ล้านตัน มาเปิดประมูล หลังจากนั้นในเดือน พ.ค.จนถึง ก.ค จะนำข้าวที่เหลือจากการประมูลทุกกลุ่มมาประมูลใหม่ โดยเริ่มจากในกลุ่ม 1 ข้าวเกรด พี เอ บี และมีเกรด ซีปนไม่เกิน 20% ที่คนสามารถบริโภคได้ ที่เหลืออยู่ 1.5 ล้านตัน, เดือน มิ.ย.ประมูลข้าวกลุ่ม 2 ที่เข้าสู่อุตสาหกรรมมิใช่คนบริโภคที่เหลือจากประมูลครั้งนี้ และเดือน ก.ค.จะนำข้าวกลุ่ม 3 ที่จะเปิดประมูลในเดือน เม.ย.หากระบายไม่หมดมาประมูลใหม่ จึงเชื่อว่าภายในปี 2560 รัฐบาลน่าจะระบายข้าวออกจากสต๊อกได้หมดจากจนถึงขณะนี้ที่ระบายไปแล้ว 10.1 ล้านตันจากสต๊อกที่รับมา 18 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.03 แสนล้านบาท ยังไม่รวมข้าวที่ระบายในปีนี้ ส่วนการส่งออกข้าวไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-21 มี.ค. 2560 มีปริมาณ 2.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.7% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา มูลค่า 3.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 1%
"ธนสรรไรซ์"คว้าออร์เดอร์จีทูจีข้าวอิหร่านลอตแรกรอบ10ปี
"ธนสรรไรซ์" ม้ามืดคว้าประมูลข้าวจีทูจีอิหร่านลอตแรกในรอบ 10 ปี ปริมาณ 40,000 ตัน เอกชนปูดไทยชวดขาย "อิรัก-มาเลเซีย" ล้มประมูลแล้ว 50,000 ตัน- ประมูลข้าวเสื่อมอุตสาหกรรมแผ่ว เอกชน 19 รายยื่นซองคุณสมบัติไม่คึกคัก ด้าน ส.โรงสีระบุ คนยื่นซื้อข้าวไม่เยอะ เหตุราคาวัตถุดิบอื่นถูกกว่า
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม หน่วยงานจัดซื้อข้าวของรัฐบาลอิหร่าน (The Government Trading Corporation of Iran : GTC) ประกาศผลการประมูลซื้อข้าวสารหอมมะลิ 100% เกรดเอ จากประเทศไทย ปริมาณ 30,000 ตัน ในระดับราคา เอฟโอบี ตันละ 585 เหรียญสหรัฐ โดยมีกำหนดให้ส่งมอบภายใน 15 เมษายน-15 พฤษภาคม 2560 และในสัปดาห์นี้ทางรัฐบาลอิหร่านได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการอาหารและยาอิหร่าน เดินทางเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานโรงงานในไทยให้เป็นไปตามหลักสากล เช่น มี GMP HACCP เพื่อออกใบรับรองมาตรฐานโรงงานสำหรับการส่งมอบ
"ในการประมูลครั้งนี้ถือเป็นการประมูลซื้อโดย GTC ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐบาลครั้งแรกในรอบ 10 ปี ซึ่งทางผู้ส่งออกไทยจับคู่กับเทรดเดอร์ที่เป็นพันธมิตรเข้าร่วมประมูล 4 ราย คือ บริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด, บริษัท แคปปิตอล ซีเรียลส์ ในเครือนครหลวงค้าข้าว บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด และบริษัทธนสรรไรซ์ ซึ่งแต่ละรายเสนอราคาในระดับที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ธนสรรไรซ์เป็นผู้ชนะไป ส่วนการชำระเงินในครั้งนี้ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเป็นการจับคู่กับเทรดเดอร์ ซึ่งรับเงินจากเทรดเดอร์อยู่แล้ว"
รายงานข่าวจากกรมศุลกากรระบุว่า ในปี 2559 ไทยส่งออกข้าวไปอิหร่าน ปริมาณ 7,441 ตัน มูลค่า 159 ล้านบาท แยกเป็นข้าวขาว 100% ปริมาณ 3,646 ตัน ข้าวขาว 5% 3,462 ตัน และข้าวนึ่ง 330 ตัน ปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ส่งออกปริมาณ 3,974 ตัน มูลค่า 98 ล้านบาท เป็นข้าวขาว 5% 2,383 ตัน ข้าวขาว 100% อีก 1,586 ตัน
แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งซื้อข้าวจากบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัดนั้น เป็นการสั่งซื้อโดยภาคเอกชนอิหร่าน ไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาล โดยการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) จัดซื้อข้าวขาว ปริมาณ 100,000 ตัน ในลักษณะทยอยส่งมอบเป็นสัญญาระยะยาวหลายเดือน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องการชำระเงิน ทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เป็นเพียงธนาคารเดียวที่ยอมรับเงินจากประเทศอิหร่าน
สำหรับการประมูลนำเข้าข้าวในต่างประเทศล่าสุดในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีหลายประเทศได้เปิดประมูลแล้วและมีการล้มเลิกผลการประมูลไปแล้ว เช่น อิรัก เปิดประมูลซื้อข้าวขาว 100% ปริมาณ 40,000 ตัน ซึ่งมีทางบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ และบริษัท แคปปิตอล ซีเรียลส์ เข้าร่วมประมูล โดยเสนอราคาประมาณ 350 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ในท้ายที่สุด อิรักพิจารณาซื้อข้าวจากสหรัฐ ซึ่งมีระดับราคาสูงกว่าไทย ขณะที่ทางรัฐบาลมาเลเซียได้ประมูลซื้อข้าวขาว 5% ปริมาณ 20,000 ตันไปเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ซึ่งสุดท้ายมีการล้มเลิกผลการประมูลไป
"การส่งออกข้าวไทยในช่วงไตรมาส 2 ยังคงต้องจับทิศทางการสั่งซื้อข้าวว่าแต่ละแห่งจะมีตลาดใดเปิดประมูลซื้อเพิ่มหรือไม่ แม้ว่าบางประเทศจะล้มประมูลไป แต่อาจกลับมาเปิดประมูลซื้ออีก เช่น อิหร่าน น่าจะซื้ออีก 2-3 ลอต อิรัก มาเลเซีย ส่วนฟิลิปปินส์ชะลอการประมูลออกไปจากที่จะเปิดปลายเดือนนี้ เพราะมีปัญหาในส่วนของงานบริหาร ต้องรอดูว่าจะกลับมาประมูลอีกครั้งช่วงต้นเมษายนได้ทันหรือไม่ รวมถึงทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงมีความผันผวน อาจจะกระทบต่อการกำหนดราคาส่งออก"
สำหรับการเปิดประมูลข้าวเข้าอุตสาหกรรมในวันที่ 20 มีนาคม 2560 ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ทางกรมการค้าต่างประเทศได้เปิดให้ยื่นซองเอกสารคุณสมบัติเพื่อเสนอราคาประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐบาล 3.66 ล้านตัน เพื่อเข้าอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่คนบริโภค ครั้งที่ 1/2560 ปรากฏว่ามีผู้ยื่นซองคุณสมบัติทั้งหมด 19 ราย ซึ่งทางกรมการค้าต่างประเทศจะมีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 23 มีนาคม พร้อมทั้งเปิดให้เสนอราคาในวันเดียวกันต่อไป
ทั้งนี้ การจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่คนบริโภค เป็นการจำหน่ายข้าวที่มีหลายชนิด หลายเกรดปะปนกันอยู่ในคลังเดียวกัน โดยกำหนดให้ผู้เสนอซื้อต้องเป็นนิติบุคคลที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและต้องมีหนังสือรับรองว่าจะนำข้าวไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งเท่านั้น กรณีผู้เสนอซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและถูกตรวจพบว่านำข้าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะต้องถูกริบหลักประกันและถือว่าเป็นผู้ผิดเงื่อนไขการประมูล รวมทั้งถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันการรั่วไหลของข้าวดังกล่าวเข้าสู่ระบบการค้าปกติ ประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้มอบหมายองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จัดให้มีมาตรการป้องกันการรั่วไหลของข้าวเกรดซี ข้าวผิดชนิด และข้าวผิดไปจากมาตรฐาน โดยการกำหนดระยะเวลาการขนย้าย และตรวจสอบผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่ต้นทาง ขณะที่คลังปลายทางจะต้องมีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อรายงานผลแบบเรียลไทม์ผ่านระบบออนไลน์
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต