จากประชาชาติธุรกิจ
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนางวรัญญา ถนอมพันธ์ พาณิชย์จังหวัดระยอง เดินทางไปพบเจ้าของผู้ส่งออกและเจ้าของสวนทุเรียนรายใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์ผลไม้ฤดูกาลผลิตปี 2560 ในพื้นที่จังหวัดระยอง ณ ตลาดผลไม้เขาดิน หมู่ 2 ต.ทุ่งควายกิน อ.แกลง จ.ระยอง โดยมีนายวิทยา ชพานนท์ นายอำเภอแกลง นายประยุทธ พานทอง กำนัน ต.กองดิน นายทรงธรรม ชำนาญ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง พร้อมเจ้าของตลาดผลไม้เขาดินและเจ้าของสวนทุเรียนใน อ.แกลง ให้การต้อนรับและเสนอปัญหาเรื่องทุเรียนอ่อน พร้อมเดินทางไปชมสวนทุเรียน ที่หมู่ 7 ต.กองดิน
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมามีปัญหาช่วงผลผลิตออก ปีนี้จึงต้องมีการวางแผนในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาด เรื่องปริมาณผลผลิตและมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร ขณะนี้รัฐบาลมีวิธีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ซึ่งจะต้องพูดคุยกับปลัดกระทรวงเกษตรฯ และปลัดกระทรวงมหาดไทย จะมีการบริหารจัดการทุเรียนในภาคตะวันออกอย่างไรบ้างที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เรื่องแรกคือเรื่องการทำสัญญาระหว่างเจ้าของสวนทุเรียนกับล้ง เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเราใช้วิธีใครทำสัญญากับใครต้องมาแจ้ง เพื่อที่จะให้ปฏิบัติตามสัญญา
“ปัญหาปีที่แล้วเกิดจากเจ้าของสวนแต่ละสวน สวนหนึ่งมีหลายสัญญา ล้งหนึ่งก็มีหลายสัญญา เพราะฉะนั้นในปีนี้จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนและตรงกัน พี่น้องเกษตรกรจะได้รับการดูแลการปฏิบัติตามสัญญาที่ชัดเจน จากการลงพื้นที่จะเห็นว่ามีทั้งทำตามสัญญาและขายตามตลาดผลไม้เขาดิน ซึ่งเป็นตลาดกลางที่รับซื้อทุเรียนและผลไม้อื่นๆ นอกจากเรื่องสัญญาแล้ว ก็เป็นเรื่องคุณภาพและเรื่องการตัดทุเรียน เพื่อรักษาชื่อเสียงคุณภาพของลูกค้าเรา” น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าว
ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องการทำตลาด ขณะนี้เกษตรกรเริ่มมีการพัฒนาการผลิตตัดดอก แต่งกิ่ง เพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดที่ยาวนานขึ้น ซึ่งจะทำให้ลดปริมาณผลผลิตที่ออกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม คือช่วงระยะเวลาที่ผลผลิตเคยออก 2 เดือน ก็จะกลายเป็น 6 เดือน ดังนั้น ผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดในปริมาณที่ไม่ทำให้ล้นตลาด ทำให้การดูแลเรื่องราคาเป็นไปตามกลไกของตลาดเอง
ที่มา มติชนออนไลน์
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส