จากประชาชาติธุรกิจ
กรมวิชาการเกษตรส่งไม้ต่อโรงปูนเครือ SCG เผาทำลายเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองปนเปื้อน “จีเอ็มโอ” นำเข้าจากบราซิล 14.4 ตัน เผยใช้เตาเผาระบบปิดด้วยอุณหภูมิสูงถึง 1,450 องศาเซลเซียส มั่นใจทำลายสิ้นซาก ปลอดภัยสิ่งแวดล้อม
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้คัดเลือกบริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือปูนซีเมนต์ไทยหรือเอสซีจี (SCG) ให้ดำเนินการเผาทำลายเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองนำเข้าจากประเทศบราซิลที่ปนเปื้อนถั่วเหลืองตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ (GMOs) จำนวน 14.4 ตัน แยกเป็น เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองสายพันธุ์ BRS Sambaiba น้ำหนัก 7.2 ตัน และสายพันธุ์ BRS Tracaja จำนวน 7.2 ตัน โดยใช้เตาเผาระบบปิด มีเทคนิคขั้นตอนและกระบวนเผาทำลายที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยอุณหภูมิมากกว่า 1,450 องศาเซลเซียส จึงมั่นใจได้ว่าเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองจีเอ็มโอล็อตนี้จะถูกทำลายหมดสิ้นในระบบการเผาที่มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และไม่หลุดลอดสู่แปลงเกษตรกรแน่นอน สำหรับค่าใช้จ่ายในการเผาทำลายเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองปนเปื้อนจีเอ็มโอ บริษัทที่นำเข้าเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
การเผาทำลายเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองจีเอ็มโอครั้งนี้ ใช้ระบบ Cement Kiln for waste disposal ดำเนินการที่โรงงานกำจัดของเสียของบริษัท เอส ซี ไอฯ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยโรงงานดังกล่าวได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระดับเหรียญทอง และได้รับมาตรฐาน ISO14001 รับจัดการของเสียโดยใช้เทคโนโลยี Slurry Feeding System ซึ่งเป็นระบบ Hydraulic Piston Pump เป็นเทคโนโลยีจากยุโรปในการกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพด้วยวิธีการเผาในเตาในสายการผลิตปูนซีเมนต์ที่มีสายพานต่อเนื่อง ทำให้ถั่วเหลืองถูกเผาไหม้สมบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเถ้าจากการเผาสามารถใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเม็ดปูนได้ ต่างจากเตาเผาทั่วไปที่ต้องนำเถ้าไปกำจัดอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองเผาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองจีเอ็มโอในเตาเผาดังกล่าว เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการเผาไหม้ พบว่า เผาไหม้สมบูรณ์ดี ซึ่งสามารถตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยทางชีวภาพได้ สำหรับการขนย้ายเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองจีเอ็มโอจากสถานที่กักกัน คือ ศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรี ไปยังโรงงานของบริษัท เอส ซี ไอฯ ใช้รถยนต์ที่มีกระบะบรรทุกปกปิดมิดชิดและควบคุมความปลอดภัยได้ โดยเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพฯและศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรี ได้ควบคุมกำกับดูแลอย่างรัดกุมทุกขั้นตอน จึงมั่นใจได้ว่าเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองดังกล่าวจะไม่มีการเล็ดลอดไปสู่แหล่งปลูกอย่างแน่นอน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวอีกว่า ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพฯได้ยึดเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองนำเข้าล็อตนี้ไว้ หลังตรวจพบว่าผู้ประกอบการขอนำเข้ามาเพื่อทำพันธุ์แต่ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และไม่มีใบอนุญาตนำเข้าเพื่อการค้า ที่สำคัญกรมวิชาการเกษตรยังตรวจพบการปนเปื้อนถั่วเหลืองตัดแต่งพันธุกรรมด้วย ซึ่งจัดเป็นสิ่งต้องห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2553 จากนั้นได้นำสินค้าที่อายัดไว้ไปกักกันไว้ที่ศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรีก่อนที่จะนำไปเผาทำลายเพื่อไม่ให้กระจายสู่พื้นที่ปลูก ซึ่งอาจกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศ และทำให้ประเทศผู้นำเข้าทั่วโลกขาดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารไทยได้
“กรมวิชาการเกษตรได้มีมาตรการควบคุม กำกับดูแล และตรวจสอบการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุม จำนวน 33 ชนิดอย่างเข้มงวดเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กักพืช โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์พืชที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจีเอ็มโอ ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย และมะละกอ โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชและจุดผ่อนปรนทุกแห่งติดตามเฝ้าระวัง และตรวจสอบการนำเข้าทุกล็อตทุกชิปเม้นท์อย่างเข้มงวด พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ไปตรวจสอบการปนเปื้อนจีเอ็มโอก่อนที่จะปล่อยให้นำเข้าภายในประเทศ” นายสุวิทย์กล่าว
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส