จากประชาชาติธุรกิจ
พพ.เตรียมเสนอผลศึกษาโซลาร์รูฟขายไฟฟ้าเข้าระบบได้หรือไม่ให้กระทรวงพลังงานพิจารณา ม.ค.60 นี้ ระบุมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่ต้องแก้ไข ปรับเพดานให้ไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าระบบได้มากขึ้น-การคำนวณภาษีเงินได้ใหม่ ส่วนค่าไฟฟ้ารับซื้อควรอยู่ที่ 2-3 บาท/หน่วย สะกัดการขายไฟฟ้าเข้าระบบมากเกินไป
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสมของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอย่างเสรี หรือ โซลาร์รูฟว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้มีการขายไฟฟ้าเข้าระบบ และควรกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า อย่างไร เนื่องจากหลักการเดิมระบุไว้ว่า โครงการโซลาร์รูฟเน้นให้ผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองเท่านั้น เบื้องต้นจากการศึกษาพบข้อจำกัดคือ 1) การกำหนดสัดส่วนของไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าระบบได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ถือว่าน้อยเกินไป และควรมีปรับเพดานดังกล่าวเพื่อให้เหมาะสมกับการขยายตัวของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอนาคต
2) ข้อจำกัดด้านภาษี (VAT) ในการซื้อขายไฟฟ้า ปัจจุบันใช้ระบบ Net-Metering เช่น ผู้ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟ อาจใช้ไฟฟ้าจากระบบปกติที่ 500 หน่วย และมีขายไฟฟ้าเข้าระบบ 100 หน่วย ซึ่งควรนำทั้ง 2 ส่วนมาหักลบกันแล้วคิดเป็นภาษีที่ควรจ่ายในส่วนของ 400 หน่วยเท่านั้น แต่ทางกระทรวงการคลังระบุใช้วิธีคำนวณหักลบแบบนี้ไม่ได้คือจะต้องเสียภาษีเงินได้ทั้งในส่วนของ 500 หน่วยที่มีการใช้ไฟและในส่วนที่ขายเข้าระบบด้วย เท่ากับว่าจะต้องเสียภาษีถึง 2 ทาง
"อย่างปัญหาการกำหนดให้ไฟฟ้าไหลย้อนเข้าระบบได้ไม่เกิน 15% นั้น ยกตัวอย่างหม้อแปลงที่ขนาด 500 กิโลวัตต์ เท่ากับว่าจะมีปริมาณไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟเข้าระบบได้ไม่เกิน 75 กิโลวัตต์ ซึ่งน้อยมาก ที่สำคัญในแต่ละพื้นที่อาจจะมีการติดตั้งจำนวนมาก-น้อยแตกต่างกันไป จากข้อจำกัดเหล่านี้จะต้องหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อลดข้อจำกัดและเดินหน้าโครงการต่อไป"
นายประพนธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพลังงานยังได้ให้ พพ.ศึกษาในประเด็นอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมของโครงการโซลาร์รูฟด้วย ซึ่ง พพ.มองว่า เมื่อจะคงหลักการที่ว่าให้เน้นผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองเป็นหลัก และต้องป้องกันไม่ให้มีการขายไฟเข้าระบบมากจนเกินไป ฉะนั้นอัตราค่าไฟฟ้าควร "เท่ากับ หรือน้อยกว่า" ราคาค่าไฟฟ้าในปัจจุบันที่อัตรา 3 บาทกว่า/หน่วยเท่านั้น ซึ่งคาดว่ารายละเอียดของการศึกษาทั้งหมดนี้จะนำเสนอต่อกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาภายในเดือนมกราคม 2560 นี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศให้ผู้สนใจยื่นขอติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอย่างเสรีไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาโดยมีเป้าหมายของกำลังผลิตติดตั้งรวมที่ 100 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นในพื้นที่ของ กฟน.รวม 50 เมกะวัตต์ กฟภ.รวม 50 เมกะวัตต์ ปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นขอรวม 60 เมกะวัตต์ หลังจากนี้ กกพ.จะตรวจสอบเอกสาร รวมถึงลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของโครงการว่าสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้หรือไม่ต่อไป
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส