จากประชาชาติธุรกิจ
"การเชื่อมโยง" ถือเป็นหัวใจในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด การเพิ่มโอกาสผ่านความร่วมมือนับเป็นยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดของนักพัฒนาในทุกประเทศ เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในตลาดโลก
ความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ของ 6 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (ยูนนาน) ที่มีธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นผู้สนับสนุนหลัก เป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 21 ที่ จ.เชียงราย ภายใต้หัวข้อ "เร่งรัดผลักดันการเติบโตอย่างครอบคลุมตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค GMS" มุ่งให้ความสำคัญในทุกมิติ
รัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS ของแต่ละประเทศเห็นชอบการจัดทำประเมินผลระยะกลาง ภายใต้กรอบการลงทุนในภูมิภาค ระหว่างปี 2557-2561 โดยมีจำนวน 52 โครงการ จากทั้งหมด 93 โครงการ ได้รับการจัดสรรงบ ลงทุนแล้วกว่า 26,200 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 86% ของมูลค่าลงทุนรวม
นอกจากนี้รัฐมนตรี GMS ยังเห็นชอบการจัดทำแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ถึงปี 2563 ซึ่งมีโครงการจำนวน 107 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 32,600 ล้านดอลลาร์ โดยต้องการเสนอกลไกด้านการเงินในรูปแบบใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุนและหารูปแบบที่เหมาะสมในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน(PPP)
ผู้แทนประเทศสมาชิกต่างรับทราบการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือของไทยแก่ประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาประสิทธิภาพความเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งใน GMS โดยเฉพาะตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ อาทิ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 พร้อมด่านพรมแดน การก่อสร้างสะพานข้ามห้วยพรมโหดบริเวณบ้านหนองเอี่ยน-บ้านสตรึงบท เป็นต้น
เป็นที่สังเกตว่าความร่วมมือของโครงการ GMS ที่พยายามมุ่งให้ความสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่การประชุมครั้งที่ผ่าน ๆ มาประเทศสมาชิกมุ่งหารือการเชื่อมโยงในด้าน "กายภาพ" มากกว่าการวางแผนในระยะยาวไปจนถึงผล"ปลายน้ำ"
โดย "นายปะวิท รามาจันดราน" ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม สำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า "การประชุมที่ผ่านมา อาจมุ่งเน้นไปทางฮาร์ดแวร์เป็นส่วนใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างถนนหรือโครงการรถไฟที่มุ่งเชื่อมโยงสมาชิกอย่างเป็นเอกภาพ"
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทางฮาร์ดแวร์เหล่านั้น เรียกได้ว่ากำลังเข้าสู่การเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยจะเห็นได้จากกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ขณะที่ในทางปฏิบัติทางด้าน "ซอฟต์แวร์" อย่างผลประโยชน์ที่เอื้อจากโครงการเชื่อมโยงหลังเกิดขึ้นจริง เช่น การค้า การท่องเที่ยว หรือแม้แต่สินค้าเกษตร ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะ "สินค้าเกษตร" เพราะเป็นยุทธศาสตร์ที่ทุกประเทศสมาชิกให้ความสำคัญและบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ
"ปัจจุบัน ADB มีแผนการพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัยร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีการวางแผนไปจนถึงปี 2565 เพื่อมุ่งการทำการเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ บนพื้นที่การเกษตรที่ไม่มีสารเคมีตกค้าง และไทยเป็นประเทศแรกในประเทศสมาชิกที่ริเริ่มโครงการเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ดังนั้นการผลักดันสินค้าเกษตรอินทรีย์ในวาระการประชุมครั้งนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่ไทยต้องเชิญชวนให้เกิดความร่วมมือ"
ทั้งนี้สมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศเกษตรกรรมทั้งสิ้นและไม่ได้มีเพียงแต่ในเอเชียเท่านั้นที่มีการเพาะปลูก ขณะที่เทรนด์การบริโภคสินค้าที่ปลอดภัยและให้ความสำคัญกับสุขภาพมาเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้เกิดไอเดียในการพัฒนาให้มีความยั่งยืนต่อไป พร้อมกันนั้นการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าด้วยความแตกต่างจากภูมิภาคอื่น เป็นหนึ่งในการตลาดที่สำคัญ ซึ่งรายได้ที่ดีจะช่วยให้ประเทศสมาชิกพ้นจากภาวะความยากจนได้เร็วขึ้น
สำหรับการพิจารณาการช่วยเหลือทางADB พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างครอบคลุมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการค้าในตลาดโลก อันได้แก่ การจัดหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกร, จัดหาแหล่งเงินทุน และช่วยเหลือทางการตลาด
อย่างไรก็ตาม แผนการยังเป็นเพียงในระยะเริ่มต้น โดยคาดว่าการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน ปี 2560 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม จะเป็นเวทีการหารือและติดตามผลในระยะต่อไป
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส