จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่อีกแล้ว ที่ญี่ปุ่นจะเริ่มมีการส่งของกำนัลสำหรับเทศกาลปีใหม่ หรือお歳暮 Oseibo ไปให้ผู้ใหญ่ที่มีอุปการคุณ แต่บางทีบางคนก็ทำแค่เป็นพิธี บางคนก็อยากให้ด้วยใจ การส่งของกำนัลเช่นนี้ไม่ได้กำหนดอย่างตายตัวว่าต้องส่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งทุกครั้งทุกปี ขึ้นอยู่กับโอกาสและแล้วแต่สถานการณ์ครับ โดยมีกฏมารยาทว่าจะส่งให้ใครได้บ้าง ตัวอย่างดังนี้ครับ
☆ส่งให้ผู้ที่คอยช่วยเหลือและมีพระคุณกับเรา
☆กรณีที่แต่งงานแล้วส่งของกำนัลให้ครอบครัวอีกฝ่าย
☆หัวหน้างาน
☆พ่อสื่อแม่สื่อหรือเถ้าแก่ในพิธีแต่งงาน
☆เจ้าภาพผู้ใหญ่ที่มาเป็นประธานในงานแต่งงาน
☆ครูอาจารย์ที่สอนกีฬาหรือดนตรีให้ลูกๆ
☆เพื่อนหรือผู้ที่รู้สึกขอบคุณ
☆ญาติที่สนิทสนมกัน
ปกติแล้วจะส่งของกำนัลให้คนที่คอยให้ความอุปการะช่วยเหลือ แต่ปัจจุบันตามบริษัทต่างๆ อาจจะมีจดหมายเวียนว่าห้ามไม่ให้ส่งของกำนัลสำหรับเทศกาลปีใหม่ หรือお歳暮 Oseibo ในองค์กรเพราะไม่อยากให้ถูกมองว่าเป็นการติดสินบน หรือหวังผลใดๆ ต่อกัน บางทีความคิดในสังคมญี่ปุ่นก็เข้าใจยากนะครับตกลงจะทำหรือไม่ทำดี หรือการปฏิบัติอย่างหนึ่งเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่สมควรก็มีหลักเกณฑ์มีกฏมารยาทเยอะแยะไปหมด ตอนที่ผมทำงานที่บริษัทเดิมผมก็คิดแบบนี้เช่นกันคือไม่อยากให้ใครมองว่าผมติดสินบนหัวหน้าทั้งๆ ที่ผมมีหัวหน้าที่ดีต่อผมมากก็อยากตอบแทนน้ำใจท่านอยู่เช่นกัน ช่วงนั้นส่งไปให้ท่านด้วยใจจริงๆ แต่อีกเสี้ยวหนึ่งก็คิดว่าจะถูกมองว่าสินบนไหม ดังนั้นเมื่อผมลาออกจากงานแล้วทำให้ผมส่ง Oseibo ให้ท่านได้ด้วยความสบายใจมากขึ้น
ช่วงเวลาที่จะส่ง Oseibo คือช่วงระหว่างวันที่ 10-20 ธันวาคม เพื่อให้ของไปถึงผู้รับก่อนปีใหม่ ดังนั้นของที่ส่งจึงเป็นของที่เก็บไว้ได้นานๆ ไม่บูดไม่เสียของ อาจจะเป็นของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน หรืออาหารที่ไม่เสียง่ายๆก็ได้ เช่น เส้นโซบะแห้ง สาเก เป็นต้น เพราะช่วงส่งท้ายปีเก่าคนญี่ปุ่นนิยมกินโซบะกันอยู่แล้วถ้าได้รับโซบะมาก็คงจะยินดีมาก บางครั้งการจะส่ง Oseibo ให้ใครก็ขึ้นอยู่กับครอบครัวของคนที่เราจะส่งไปด้วยครับ เช่น ถ้าเขาอยู่คนเดียวก็ไม่ควรส่งสบู่จำนวนโหลสองโหลไปให้ หรือถ้าครอบครัวไหนมีเด็กอยู่ด้วยก็ควรส่งเป็นของที่ทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หรือถ้าเขาชอบสาเกก็ส่งสาเกไปให้ เป็นต้น มีข้อยกเว้นเหมือนกันว่าไม่ควรส่งของที่ไม่แน่ใจว่าเขาจะได้ใช้หรือไม่ เช่นบัตรสมาชิกกอล์ฟที่ใดที่หนึ่งทั้งๆ ที่เขาไม่เล่นกอล์ฟ หรือพวกภาพวาดต่างๆ ก็ไม่นิยม
ด้วยเหตุที่ญี่ปุ่นมีค่านิยมการส่งของกำนัลเช่นนี้นี่เองจึงทำให้ของบางอย่างจากราคาไม่แพงมากนัก เช่นเส้นโซบะ ตามปกติถ้าขายปลีกอาจจะห่อละไม่กี่ร้อยเยน แต่การจัดส่งเป็น Oseibo นั้นจะมีการจัดของลงในหีบห่อกล่องแพ็กเกจที่สวยงาม เลือกซื้อได้เลยมีขายเยอะแยะในช่วงใกล้เทศกาลเช่นนี้ จึงทำให้มูลค่าของสินค้าเดิมถูกอัพราคาสูงขึ้นมาเป็นสิบเท่า แต่คนซื้อก็พอใจที่จะเลือกซื้อ เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้สมัยที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นบลูมหรือเฟื่องฟูนั้น มีGDP ที่สูงมาก แต่ผมคิดว่าปัจจุบันเมื่อเศรษฐกิจเริ่มซบเซาสินค้าพวก Oseibo ก็ดูจะเงียบๆ ไปด้วยเช่นกัน
นอกจาก Oseibo แล้วช่วงใกล้ปีใหม่มีอีกสิ่งหนึ่งที่คนญี่ปุ่นจะส่งให้กัน นั่นคือการส่งไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ หรือ 年賀状 Nenga jou ซึ่งเดือนสองเดือนก่อนถึงปีใหม่ตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าทั่วไปจะเริ่มวางขายไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่กันแล้ว และมีหลากหลายแบบให้เลือกสรร หรือบางคนมีฝีมือทางศิลปะ บางคนก็อยากประหยัดงบประมาณก็ออกแบบและทำขึ้นมาเองได้
การส่งไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่นี้ส่วนใหญ่ส่งให้ทุกคนที่รู้จักไม่ว่าเพื่อนหรือผู้ใหญ่ที่บ้านที่ทำงาน ครูอาจารย์ แล้วถ้าเราได้รับไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ จากใคร มีธรรมเนียมว่าต้องส่งกลับเขาด้วยครับ ดังนั้นใครได้ไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่เยอะ ก็ต้องส่งกลับเยอะครับ กลายเป็นว่าบางทีส่งให้ใครคนใดคนหนึ่งแล้วเพื่อนคนนั้นไม่ส่งกลับก็งอนกันเป็นเรื่องอีก ไม่ต้องใครครับ คุณปู่จอมเจ้าระเบียบของผมเอง ท่านเป็นคนที่ค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนให้ความเคารพอยู่ระดับหนึ่ง แกก็จะเขียนไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ให้คนที่แกอยากอวยพร แล้วก็รอรับไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่จากคนอื่นๆ ด้วย วันที่แกได้รับไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่แกจะนั่งหน้าเตาผิงไฟ อ่านบัตรอวยพรไปทีละใบๆ สองสามร้อยใบครับ แล้วรู้ด้วยนะว่า คนนั้นคนนี้ไม่ยอมส่งมาให้ เป็นงั้นไป
ส่วนระบบการส่งไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ของไปรษณีย์นั้นเป็นเรื่องที่ผมชอบมาก เพราะเขาจะงานหนักกันมากช่วงใกล้ปีใหม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อคัดแยกไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ของแต่ละบ้านไว้รวมๆ กันก่อน จนถึงวันที่ 1 มกราคมคือวันขึ้นปีใหม่ แม้ว่าที่อื่นๆ จะเป็นวันหยุดกันซะส่วนใหญ่แต่วันนี้บุรุษไปรษณีย์วิ่งส่งไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ที่ได้รวบรวมไว้ก่อนหน้านี้เพื่อนำส่งตามบ้านต่างๆ ให้ได้ในวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี
แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ระบบส่งไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่เริ่มมีคนทำน้อยลง เพราะคนรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยมีใครอยากเขียนไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ด้วยลายมือหลายสิบหลายร้อยใบ ไม่ค่อยมีใครอยากส่งคืนคนที่ส่งมา เพราะมีสมาร์ทโฟน มีไลน์ มีสื่อออนไลน์ หลายช่องทางที่สามารถส่งความสุขหรืออวยพรปีใหม่ กันอย่างง่ายดายและรวดเร็ว เพียงแต่อาจจะเป็นความรู้สึกคนละแบบกับการเขียน และรับไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ก็ได้
ไม่รู้ว่าที่เมืองไทยเรามีการเขียนไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ส่งความสุขให้กันหรือไม่ นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมนำมาเล่าสู่กันฟังครับ วันนี้สวัสดีครับ
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส