จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เปิดมุมมอง โดย เดวิตร์ สุขเสน ทีมกรุ๊ป
กระแสการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนได้คำนึงถึงระบบธรรมชาติในเมืองมากขึ้น เห็นได้จากคำว่า "Sustainable, Green และ Eco" ถูกนำมาใช้ในหลาย ๆ ศาสตร์ ส่วนใหญ่มีความหมายไปในแนวทางเดียวกัน คือ เล็งเห็นความสำคัญของระบบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในพื้นที่เมือง กรุงเทพมหานครก็เช่นกัน
จากแผนพัฒนากรุงเทพมหานครสู่เมืองน่าอยู่ (พ.ศ. 2548-2568) กำหนดวิสัยทัศน์ให้ "กรุงเทพมหานครเป็นมหานครสีเขียว ประชาชนมีวิถีชีวิตและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดการพัฒนา Green City ในกรุงเทพมหานคร ทำให้มีโครงการพัฒนาของภาครัฐและเอกชน ล้วนแปะคำเหล่านี้ต่อท้ายโครงการมากมาย เพื่อให้รู้ว่าโครงการนี้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และต้องการพัฒนาโครงการเพื่อไปสู่ความยั่งยืน
หากทำได้และทำสำเร็จ จะสร้างประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานครมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ โครงการก่อสร้างอาคาร หรือโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขนาดต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้คน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครได้ไม่มากก็น้อย
"ประชาชนมีวิถีชีวิตและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"
จากวิสัยทัศน์นี้บางคนหรือหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าจะต้องทำหรือดำเนินชีวิตแบบไหนกันเพื่อจะได้ขึ้นชื่อว่ามีวิถีการดำเนินชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้น้อย ปล่อยของเสียให้น้อย และสร้างผลกระทบต่อระบบธรรมชาติให้น้อย ตามหลักการพัฒนาเมืองสีเขียวใช่หรือไม่ ?
ถ้าทำได้และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ได้อย่างมีความสุขสงบสบาย แต่ถ้าทำแล้วยุ่งยากลำบาก ลองมาเปลี่ยนเพียงวิธีการเดินทางในชีวิตประจำวันของเรา ลองเปลี่ยนมาเดินเท้า หันมาใช้จักรยาน หรือใช้บริการระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น พยายามลดการใช้พลังงานเครื่องยนต์เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัด ช่วยลดมลพิษต่าง ๆ ของเมืองได้ไม่มากก็น้อย
กิจวัตรประจำวันของคนเราปกติในวันหนึ่งมีสถานที่จะต้องเดินทางไปไม่กี่แห่งหากจำแนกเป็นกลุ่มสถานที่แล้วคนเราเดินทางจากที่พักอาศัยไปยังสถานที่ทำงานสถานศึกษา สถานที่นันทนาการ และสถานบริการเท่านั้น เพียงแต่เราจะเริ่มต้น (Origin) การเดินทางจากที่พักอาศัยหรือไม่ได้เริ่มต้นเดินทางจากที่พักอาศัย ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มสถานที่นี้ล้วนแล้วเป็นจุดหมายปลายทาง (Destination) ได้ทั้งสิ้น
สิ่งสำคัญ คือเราควรเลือกวิธีเดินทางให้เหมาะสมกับสถานที่ที่เป็นจุดหมายปลายทางเท่านั้นเอง
การเดินเท้า การใช้จักรยาน และการใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะ เป็นวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วเขาปฏิบัติกันจนเป็นนิสัย ในบ้านเราก็มีบ้างที่พยายามกระตุ้น และประชาสัมพันธ์ให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ใช้จักรยาน หรือเดิน
แต่สิ่งที่ยังขาดและยังไม่เอื้อต่อกิจกรรมการเดินทางดังกล่าว คือการบริการของรัฐที่ยังไม่ทั่วถึง สภาพอากาศบ้านเราก็ไม่เอื้อต่อกิจกรรมภายนอกอาคาร ทางเดินได้ร่มเงาจากต้นไม้หน่อยก็โดนตัดลิดกิ่งก้านเพราะสายไฟพาดผ่าน ทางเท้าชำรุด หาบเร่แผงลอยขายของยึดพื้นที่ทางเดินแทบไม่เหลือที่ว่างให้เดิน ทางจักรยานเฉพาะยังไม่มี ต้องใช้ทางร่วมกับทางรถยนต์ ใช้ทางร่วมกับทางคน
ปัญหาเหล่านี้คงต้องรอเวลา และคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าสภาพกายภาพของเมืองจะเอื้อต่อกิจกรรมการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากปัญหาเชิงพื้นที่แล้ว ปัญหาทัศนคติและพฤติกรรมของคนในบ้านเราก็ต้องได้รับการปรับเปลี่ยน อยากให้คนในเมืองมีความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ อยากลดความเคยชินในการใช้รถยนต์ส่วนตัว เปลี่ยนเป็นการเดิน การใช้จักรยาน และระบบขนส่งมวลชนนั้น คงยาก
หากต้องการให้คนในเมืองปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว การพัฒนาของภาครัฐต้องทั่วถึง รวดเร็ว และพร้อมใช้งานอย่างสะดวก สบาย ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือมีค่าใช้จ่ายน้อย คนที่หันมารักษ์และปฏิบัติกิจวัตรประจำวันอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมจะได้รับความสะดวก สบายมากขึ้น สร้างแรงกระตุ้นให้คนหันมาสนใจและเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทางที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้ เมื่อเมืองพร้อม คนก็จะได้พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปด้วยกัน
งานวิจัยชิ้นหนึ่งทำการศึกษาและวิจัยลักษณะการเดินทางของคนในชุมชนหนึ่งแถวชานเมืองตะวันออกของกรุงเทพมหานครพบว่าคนในชุมชนพอใจและสามารถเดินเท้าไปทำธุระตามสถานที่ต่างๆในระยะทางไม่เกิน 2 กิโลเมตร หากใช้จักรยานในการเดินทางไปทำธุระหรือภารกิจประจำวันได้ในระยะทางไม่เกิน 5 กิโลเมตร ซึ่งพวกเขาให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย และเรื่องค่าใช้จ่ายรองลงมา
เมื่อมองย้อนกลับมาในเรื่องการพัฒนาเมืองที่กำลังรณรงค์ให้คนในเมืองต้องเดินหันมาใช้จักรยานและใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะถ้าเลือกได้ คนส่วนใหญ่คงเลือกบริการที่ให้ความสะดวก สบาย เข้าถึงได้ง่าย และรวดเร็วเป็นหลัก
หากไม่ใช่กระแส และไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง คงยากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่เคยเดินทางด้วยรถยนต์เป็นประจำจนเคยชิน ยกเว้นเสียแต่ว่า การบริการของรัฐในโครงการพัฒนาต่าง ๆ จะดีกว่าสิ่งที่เขาเคยปฏิบัติมา
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส