จากประชาชาติธุรกิจ
ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 เป็นต้นมา ได้รับรู้ปัญหาความเดือดร้อนทุกข์ใจของชาวบ้านกลุ่มใหญ่ในจังหวัดแห่งหนึ่ง
ตอนนี้ได้กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่สร้างผลสะเทือนอย่างหนักทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและจิตใจ เมื่อจู่ ๆ ชาวบ้านจิตอาสาในฐานะตัวแทนกลุ่มเกษตรกรลอตแรกกว่า 200 คนถูกบริษัทผู้ค้าปุ๋ยฟ้องให้นำเงินมาชำระค่าสินค้า
วงเงินอำเภอละ 6-10 ล้านบาท หรือกลุ่มละประมาณ 3 แสน จนถึง 2 ล้านบาท มูลค่ารวมทั้งจังหวัดก็ทะลุไปกว่า 200 ล้านบาท
ความจริงก็คือ ชาวบ้านไม่ใช่คนต้นคิด-ต้นเรื่อง เป็นเพียงผู้สนองนโยบายราชการ เป็นคนรับสินค้าปลายทางเท่านั้น เพราะเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกร โดยใช้วิธีจัดสรรเงินอุดหนุน ไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้างแบบปกติทั่วไป
โครงการนี้ถือว่าได้ถูกดีไซน์ วางแผนมาอย่างรัดกุมอย่างยิ่งจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระดับขั้นเทพ
นั่นคือหากมีอะไรสะดุด หรือมีใครหาญกล้าไปงัดง้าง ตรวจสอบ ก็ยากที่จะสาวถึงผู้อยู่เบื้องหลังได้
วิธีการดำเนินโครงการในช่วง 3 ปีก่อนนี้ก็คือ มีแบบฟอร์มมาให้เบ็ดเสร็จ ให้ชาวบ้านไปจัดตั้งกลุ่ม โดยยื่นจดทะเบียนกลุ่มให้ถูกต้องที่สำนักงานเกษตรอำเภอ จากนั้นก็ให้กลุ่มเกษตรกรไปเขียนแผนงานโครงการไปขอเงินสนับสนุนจากเทศบาล อบต.ก่อน
ในขั้นตอนนี้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. นายกเทศมนตรีต่างก็รู้เห็นหมดว่ามีโครงการนี้ และท้องถิ่นก็จะแจ้งกลุ่มเกษตรกรว่าไม่มีงบฯสนับสนุน
จากนั้นเจ้าหน้าที่เกษตรก็จะทำหน้าที่ประสานงาน รวบรวมเอกสารโครงการส่งต่อไปที่ อบจ.
เมื่อโครงการถึงมือ อบจ.แห่งนี้แล้ว ก็จะเสนอเรื่องให้พ่อเมืองพิจารณาอนุมัติ ถ้าโครงการผ่านก็จะกลับมาตั้งงบประมาณ และเรียกตัวแทนกลุ่มเกษตรกร 2-3 คนต่อกลุ่มจากจำนวนทั้งหมดกว่า 300 กลุ่ม ให้มาเปิดบัญชีกับธนาคารของรัฐ เพื่อรับโอนเงินค่าปุ๋ยมาผ่านบัญชีกลุ่มเกษตรกร
พร้อมกันนั้นก็ให้เกษตรกรเซ็นใบเบิกเงินทิ้งไว้ ซึ่งหลังจากนั้นก็จะมีคนมาเบิกเงินออกไป
สรุปก็คือชาวบ้านไม่ได้จับเงินเลย มีคนจัดการให้หมด แค่กลับไปรอรับสินค้ามาส่งมอบให้ถึงหมู่บ้านเท่านั้น
โครงการนี้นับว่าเกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้
วิธีการนี้ทำกันต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว แต่พอปีสุดท้ายคือปีที่ 4 (ปี 2558) เจ้าหน้าที่คนเดิม ชุดเดิมก็ทำแบบเดียวกันนี้อีก ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง จึงทำให้ชาวบ้านมั่นใจ
แต่เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบการใช้เงินย้อนหลัง ปี 2555-57 พบความไม่โปร่งใสหลายประการ จึงแจ้งให้พ่อเมืองพิจารณาทบทวน
ในจังหวะนี้เอง เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงเดินหน้าโครงการเหมือนเดิม ซึ่งชาวบ้านไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่าโครงการนี้ผ่าน หรือไม่ผ่านการอนุมัติแล้วจากพ่อเมือง และไม่ได้รับการแจ้งเตือนใด ๆ
ชาวบ้านมารู้อีกทีก็ตอนที่ได้รับหมายศาลแล้ว
ขั้นตอนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานตรงกับกลุ่มเกษตรกรให้มาพบผู้ค้าปุ๋ย ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ
นั่นคือมีเจ้าหน้าที่รับรู้ตลอด ซึ่งชาวบ้านไม่เคยรู้จักกับผู้ค้าปุ๋ยเลย แล้วก็ให้ชาวบ้านซื้อปุ๋ยตามจำนวนที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ในราคาที่เท่ากันทั้งจังหวัด โดยมีเอกชนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 4 ราย มีการเร่งส่งมอบปุ๋ยให้ครบทั้ง 23 อำเภอภายในเวลาเดือนเดียว
สิ่งที่ผิดธรรมชาติของการค้าขายปกติก็คือ ปุ๋ยที่ 4 บริษัทแยกย้ายกันไปส่งให้เกษตรกรในอำเภอต่าง ๆ ทั้งจังหวัดนั้น มีราคาเดียวกันเป๊ะ คือ กระสอบละ 400 บาท เรียกว่าใจตรงกันมาก ๆ
การตกอยู่ภายใต้อิทธิพล และด้วยความสุจริตใจ เชื่อมั่นเชื่อถือในภาครัฐและคนของรัฐที่มาจากหลายกระทรวง ประกอบกับความไม่รู้ระเบียบ กฎหมาย เล่ห์เหลี่ยม
ชาวบ้านทั้งจังหวัดจึงตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์
วันนี้ชาวบ้าน 400-500 ราย ตกเป็นจำเลยคดีแพ่ง กลายเป็น "แพะ" และมีหนี้ก้อนโตท่วมหัว สมาชิกกลุ่มเกษตรกรนับแสนคนกำลังทุกข์หนัก ครอบครัวแตกแยกทะเลาะกัน
แทบทุกคนอยู่ในภาวะแตกตื่น หวาดกลัวอิทธิพล และขยาดโครงการของรัฐ
นอกจากนั้นหลายอำเภอก็ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปให้การช่วยเหลือเรื่องการต่อสู้คดีความ บางแห่งมีการทำลายหลักฐานทิ้ง ประชาชนไร้ที่พึ่งจริง ๆ
นี่คือ ความมืดดำ ไม่เป็นธรรมที่ปกคลุมไปทั่วเมือง
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส