จากประชาชาติธุรกิจ
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือ วัดร้างในบางกอก โดย ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร สำนักพิมพ์มติชน สนใจสั่งซื้อหนังสืออนไลน์ส่งไวถึงบ้านได้ที่ http://www.matichonbook.com/index.php/-2735.html
คลองด่านหรือคลองสนามไชย เป็นเส้นทางน้ำโบราณที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับปากน้ำท่าจีน ไหลแยกจากคลองบางกอกใหญ่ลงมาทางใต้ผ่านบางขุนเทียน บางบอน บ้านหัวกระบือ บางกระดี่ แสมดำ บ้านขอม มหาชัย
เส้นทางนี้ถูกใช้มาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ครั้งสมัยต้นอยุธยาล่วงลงมาถึงกรุงศรีอยุธยาตอนปลายซึ่งเกิดเรื่องราวของ“พันท้ายนรสิงห์” นิทานบอกเหตุเรื่องการขุดลัดคลองโคกขามคลองมหาชัยไปออกที่เมืองสาครบุรี๑ จนเรียกว่าเมืองมหาชัยติดปากชาวบ้านมาจนทุกวันนี้
สองฟากฝั่งคลองด่านมีชุมชนตั้งเรียงรายหนาแน่นเบาบางต่างกันไปเป็นระยะสังเกตได้ทั้งบ้านช่องห้องหับและวัดวาอารามที่เบียดประชิดกัน ตั้งแต่ตรงปากคลองที่ไหลจากคลองบางหลวง(คลองบางกอกใหญ่) มีวัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดขุนจันทร์ วัดอัปสรสวรรค์ ถัดลงมามีวัดนางชี วัดใหม่ยายนุ้ย แล้วถึงย่านสำคัญคือจอมทอง ที่มีวัดหลวงใหญ่โตมโหฬารเรียงต่อกัน คือ วัดหนัง วัดนางนอง วัดราชโอรส จากนั้น ผ่านย่านสามแยกคลองบางขุนเทียน บางประทุน วัดไทร วัดสิงห์ วัดกำแพง
ตรงนี้มีชื่อว่า "บางสี่บาท"
ฝั่งตรงข้ามวัดกกคือฝั่งตะวันตกของคลองด่าน มีลำคลองเล็กๆ ไหลมาบรรจบ ชาวบ้านเรียกว่า คลองสี่บาท มีบ้านเรือนชุมชนตั้งอยู่หนาแน่นสองฝั่งคลองซึ่งได้ชื่อตามคลองว่า ชุมชนบางสี่บาท มีสะพานปูนเล็กๆ เดินติดต่อกันกับฝั่งวัดกกได้ ชื่อว่า คลองบางสี่บาท อาจมาจากชื่อคลองที่ขุดขึ้นด้วยราคาค่างวดตามนั้นในสมัยโบราณ พบได้ในหลายท้องถิ่นที่ตั้งชื่อคลองเช่นนี้
หากนำแผนที่กรุงเทพฯ เก่าๆ มาคลี่ออกดู จะพบว่าในบริเวณบางสี่บาทนี้มีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชนอยู่ชื่อว่า วัดสี่บาท และวัดนาค แต่ทว่าจากการตรวจสอบฐานข้อมูลวัดในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน ไม่ปรากฏประวัติ ๒ วัดนี้ให้เห็นเลย จึงเชื่อได้ว่าวัดสี่บาทหรือวัดบางสี่บาท กับวัดนาค ได้กลายสภาพเป็นวัดร้างไปเสียแล้ว
"วัดสี่บาท" ยังเหลือผนังโบสถ์กับหลวงพ่อเพชร
การตรวจสอบจากแผนที่เก่าทำให้ทราบได้ว่าวัดเหล่านี้ตั้งอยู่ริมคลองสนามไชยฝั่งตรงข้ามกับวัดกก ซึ่งเป็นวัดใหญ่ในย่านนี้และยังมีพระสงฆ์จำพรรษา การเข้าถึงวัดสี่บาทในปัจจุบันต้องข้ามฝั่งจากวัดกกไปแล้วอาศัยทางเดินเล็กๆ ในชุมชนบางสี่บาท ซึ่งมีทั้งบ้านเรือนและโรงงานรวมถึงเรือนพักต่างๆ ไม่นานก็จะถึงตัววัดสี่บาทซึ่งเหลือเพียงซากอุโบสถที่มีการสร้างอาคารสมัยใหม่คลุมเอาไว้
จากการตรวจสอบสภาพของโบราณสถานกลับกลายเป็นว่าวัดนี้คือวัดที่ น.ณ ปากน้ำเรียกในรายงานการสำรวจเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ ว่า “วัดนาค” ซึ่งที่แท้จริงแล้ววัดนาคเป็นอีกวัดที่ตั้งอยู่ถัดไปทางใต้ของวัดสี่บาท ตำแหน่งที่น่าเชื่อถือได้นั้นระบุไว้ในแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๔๔๘ บ่งบอกว่าวัดสี่บาทตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดนาคริมคลองด่านฝั่งทิศตะวันตกอย่างชัดเจน
ไม่น่าแปลกใจที่เกิดความสับสนในชื่อของวัดทั้งสองนี้เพราะแม้คนในชุมชนยังมักจำผิดเสมอๆ น.ณ ปากน้ำ บรรยายสภาพของโบราณสถานวัดสี่บาท(หรือที่ท่านเรียกว่าวัดนาค) ว่า
“ไม่มีอะไรเหลือนอกจากซากพระอุโบสถอันอยู่บนเนินสูง แบบเดียวกับวัดกำแพง ไม่มีหลังคา ทั้งด้านหน้ายังพังทลายเสียหมดแล้ว เหลือเพียงพระประธานขนาดใหญ่ หน้าตัก ๕ ศอก พระพักตร์ยาว คงเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลายทั้งยังได้พบพระพุทธรูปหินทรายกลิ้งเกลื่อนอยู่อีก ๒-๓ องค์ พระเศียรไม่มี พบใบเสมาทำด้วยดินเผา หรืออาจจะเป็นหินทรายแดง ขนาดย่อมสูงประมาณศอกครึ่ง เป็นแบบอยุธยาตอนปลายประมาณแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ”
ในปัจจุบันวัดสี่บาทยังคงสภาพเกือบเหมือนเดิมกับที่บรรยายข้างต้นคือยังคงมีผนังอุโบสถเก่าก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนเนิน มีผนังหุ้มกลองด้านหลังพระประธานและผนังด้านข้างอีกเล็กน้อยประดิษฐานพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ปางสมาธิ ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อเพชร” ที่ได้รับการลงรักปิดทองจนใหม่แล้วจึงไม่อาจสันนิษฐานอายุสมัยจากรูปแบบได้ จึงอาศัยเพียงเค้าโครงของพระเพลาที่นั่งขัดสมาธิซึ่งมีทรวดทรงคล้ายพระพุทธรูปหินทรายแบบอยุธยา สอดคล้องกับที่ น.ณ ปากน้ำเคยบันทึกเอาไว้
ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของ หลวงพ่อเพชร คนในชุมชนจึงร่วมกันสร้างอาคารก่อผนังปูนติดเหล็กดัดครอบอาคารเก่าไว้ภายใน รวมทั้งกั้นกระจกให้หลวงพ่อเพชรกับรูปพระสาวกและยังมีงานทำบุญประจำปีด้วย
"วัดนาค" หลักฐานเก่าแก่ของบางกอกที่ซ่อนตัวเร้นลับในชุมชนบางสี่บาท
ภายในชุมชนบางสี่บาทยังมีวัดร้างตกค้างอยู่อีกแห่งหนึ่งชื่อ “วัดนาค” ตามตำแหน่งในแผนที่เก่าลงไว้ว่าถัดจากวัดสี่บาทไปทางใต้เล็กน้อย
การสืบหาวัดนาคจากแผนที่ไม่ใช่เรื่องยากเท่ากับการเดินหาในสถานที่จริง นอกจากความสับสนของชาวบ้านเรื่องชื่อวัดสองแห่งนี้ทำให้เกิดเรื่องทำนองว่าคนหนึ่งบอกว่าวัดสี่บาทคือวัดนาคก็ชี้ให้เดินกลับไป พอระหว่างทางอีกบ้านก็บอกว่าวัดนาคเป็นอีกวัด ให้เดินย้อนกลับไปทางเก่าแล้วจะเจอเอง ความวุ่นวายนี้กินเวลาพอสมควร จนข้ามคลองสี่บาทตามทางเดินในชุมชนแล้วยกแผนที่เทียบมาตราส่วนระยะทางว่าน่าจะตรงจุดแล้ว จึงสอบถามผู้คนในชุมชนจึงได้รับคำตอบว่า วัดร้างที่เรียกว่าวัดนาคอยู่ในซอกข้างบ้านนี้เอง
เมื่อเดินเลาะผนังระหว่างบ้านเข้าไปสักพักก็พบกับอาคารทรงคล้ายโรงทึมขนาดมหึมาที่ถูกล้อมโดยบ้านเรือนหนาแน่นจนเกือบไม่มีทางเข้า แต่มีเว้นลานโล่งแคบๆ รักษาระยะระหว่างบ้านเรือนไว้ ด้านหน้าทางทิศตะวันออกยังมีทางเดินออกไปยังท่าน้ำริมคลองด่านฝั่งเยื้องกับวัดกกเล็กน้อย โรงทึมที่ว่าก็คือ อุโบสถเก่าถูกสร้างเป็นอาคารใหม่ทรงสูงทึบตันคล้ายโกดังเก็บของนี้เอง
อุโบสถวัดนาคหันหน้าไปทางทิศตะวันออกลงสู่คลองสนามไชยมีทางเดินไปถึงท่าน้ำ เมื่อดูตำแหน่งจะอยู่ฝั่งตรงข้ามวัดกกลงมาไม่ไกล หน้าบันฉาบปูนเป็นลายไทยแบบช่างร่วมสมัย ประตูทางเข้าและหน้าต่างปิดกุญแจ แต่มีชาวชุมชนที่รักษากุญแจไว้สามารถขออนุญาตให้เปิดเข้าไปสักการะภายในได้
พื้นที่ในอุโบสถ มีพระพุทธรูปประธานภายในตั้งอยู่บนฐานชุกชี เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ องค์พระทาสีแดงและมีปิดทองบางส่วน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “หลวงพ่อแดง” มีเค้าพระพักตร์สี่เหลี่ยม เม็ดพระศกเล็กละเอียดมีไรพระศกคั่นที่พระนลาฎ พระหนุเป็นปมสี่เหลี่ยมมน พระหัตถ์วางซ้อนเหลื่อมกัน ผ้าจีวรที่คลุมอยู่ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่ามีการสลักชายสังฆาฏิเป็นอย่างไร แต่ภาพรวมของ “หลวงพ่อแดง” องค์นี้เปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาตอนต้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ เลยทีเดียว๗
ด้าน หน้าอุโบสถเก่ามีเจดีย์ทรงเครื่องย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็กขนาบคู่อยู่ ซึ่งน่าจะเป็นของที่สร้างในราวอยุธยาตอนปลายถึงต้นรัตนโกสินทร์ เป็นหลักฐานว่าวัดนาคคงมีการใช้งานต่อเนื่องลงมาถึงสมัยหลังด้วยก่อนจะทิ้ง ร้างไป
หลักฐานที่น่าสนใจอีกอย่างของวัดนาคนี้ คือเศษใบเสมาหินทรายแดง ขนาดย่อมที่พิงอยู่ที่ฐานเจดีย์ ด้านบนหักหายไปเหลือส่วนเดือยและด้านล่างที่สลักลวดลายดอกไม้ในกรอบสาม เหลี่ยมและสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเรียงกันด้านข้างสลักเป็นลายดอกไม้แปดกลีบ รวมถึงใบเสมาที่แตกหักอีกหลายใบที่วางกองอยู่ข้างหลวงพ่อแดงภายในอุโบสถ ซึ่งเป็นส่วนบนเสมาหินทรายสีแดงที่สลักเป็นลวดลายดอกกลมและดอกไม้หลายกลีบ ประดับที่ยอดเสมา มีเส้นแบ่งกลางใบ
เสมาแบบดังกล่าวอาจมีอายุจนถึงอยุธยาตอนกลางราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ รูปแบบและขนาดสัดส่วนคล้ายกับใบเสมาของวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี๘ นับเป็นใบเสมากำหนดอายุได้เก่าที่สุดเท่าที่เคยพบกันในแถบย่านคลองด่าน-บางขุนเทียนนี้
นอกจากใบเสมายังพอมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายขนาดต่างๆ แตกหักชำรุดวางกองอยู่ด้วยกัน คงเป็นพระพุทธรูปอันดับองค์ย่อมๆ ที่เคยประดิษฐานอยู่บนชุกชีร่วมกับหลวงพ่อแดง แต่เมื่อชำรุดผู้ที่ซ่อมในปัจจุบันจึงเก็บชิ้นส่วนมาไว้รวมกัน
อายุ ของงานศิลปกรรมที่ยังเหลืออยู่ คือพระพุทธรูปประธานและใบเสมาของวัดนาคอาจช่วยยืนยันถึงความเก่าแก่ของคลอง ด่านที่เป็นเส้นทางคมนาคมมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเพื่อออกสู่ทะเลที่แม่ น้ำท่าจีนหรือต่อเนื่องไปยังบ้านเมืองชายฝั่งตะวันตกเช่นเพชรบุรี-ราชบุรี ดังที่มีข้อสันนิษฐานจากเอกสารวรรณคดีเรื่อง “กำสรวลสมุทร” อันเชื่อกันว่าแต่งขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ระบุเส้นทางแม่น้ำลำคลองในหย่อมย่านใกล้ปากอ่าวเอาไว้ด้วย ข้อสังเกตนี้สนับสนุนด้วยรูปแบบของใบเสมาวัดนาคที่เทียบได้กับใบเสมาบางแห่ง ทางเมืองเพชรบุรีเช่นกัน
โขลนทวารที่ถูกทิ้งร้าง
วัด สี่บาทและวัดนาคมีร่องรอยหลักฐานศิลปกรรมกำหนดอายุได้เก่าถึงสมัยต้นกรุง ศรีอยุธยาลงมาจนถึงปลายสมัยอยุธยาบ่งบอกว่าคลองด่านเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อ ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับหัวเมืองชายทะเลมานานมากแล้ว
สาเหตุการทิ้งร้างของวัด ๒ แห่งนั้นเชื่อได้ว่าคงเกิดจากภัยสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ซึ่งกระจายลงมายังแถบคลองด่าน-บางขุนเทียนอันเป็นเส้นทางที่พม่าใช้เข้ายึดเมืองธนบุรีไว้ได้ สุนทรภู่ยังกล่าวถึงวัดกกอันเป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่คนละฝั่งคลองของวัดทั้งสองว่า ทิ้งรกร้างและมีร่องรอยการต่อสู้ด้วยปืนอยู่ที่ผนังโบสถ์ อีกทั้งคนเก่าแก่ในแถบนั้นยังคงเล่าขานถึงพม่าที่บุกเข้ามาจนถึงวัดกกวัดเลา๑๐จึงไม่น่าแปลกใจที่วัดขนาดเล็กๆอีก ๒ แห่งในชุมชนเดียวกัน คือวัดสี่บาทและวัดนาคจะพลอยหมดความสำคัญลงไปด้วย รวมไปถึงการรบแบบโบราณที่คลองด่านเป็นเส้นทางเดินทัพนั้นได้จบลงตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 แล้ว โขลนทวารที่ย่านวัดกก วัดสี่บาทและวัดนาคจึงค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำในที่สุด
แต่ที่น่าสนใจคือแผนที่ชุดเก่าๆ ของกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังระบุชื่อสองวัดร้างนี้ อาจเป็นไปได้ว่ามีพระสงฆ์เข้ามาจำพรรษาอีกในระยะสั้นๆ หรือกลายเป็นปูชนียสถานประจำชุมชนไป จึงปรากฏว่าวัดสี่บาทและวัดนาคยังมีการต่อเติมอาคารถาวรวัตถุเพื่อรักษาพระ พุทธรูปประธานศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ให้เป็นพยานหลักฐานความเก่าแก่ของย่านนี้
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต