จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เอเอฟพี - เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล ชาวอินโดนีเซีย ยื่นฟ้องร้องคดีในนามกลุ่มบุคคลต่อศาลออสเตรเลีย ในวันพุธ (3 ส.ค.) เรียกค่าเสียหายมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 5,400 ล้านบาท) จากบริษัทในเครือของ ปตท.สผ. กรณีปล่อยน้ำมันรั่วไหลลงทะเลครั้งใหญ่ที่ออสเตรเลีย ซึ่งพวกเขาระบุว่าเหตุการณ์นั้นสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของ พวกเขาเป็นอย่างมาก
การรั่วไหลครั้งนั้น ที่แหล่งขุดเจาะน้ำมันมอนทาราในทะเลติมอร์ ทางเหนือของออสเตรเลีย ทำให้มีน้ำมันหลายพันบาร์เรลรั่วไหลอยู่นานเกือบ 10 สัปดาห์ กว่าจะควบคุมได้
สำหรับการฟ้องร้องคราวนี้ ฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลส่วนกลางของออสเตรเลียในนครซิดนีย์ ในนามของเกษตรกรชาวอินโดนีเซีย ที่อาจจะมีถึง 13,000 คน โดยเรียกค่าเสียหายจาก ปตท.สผ. ออสตราลาเชีย ที่เป็นผู้ดำเนินการขุดเจาะน้ำมันในแหล่งดังกล่าว
เบน สเลด ผู้รับมอบฉันทะดำเนินการยื่นฟ้องจากบริษัทกฎหมาย มัวริซ แบล็คเบิร์น ในนครซิดนีย์ ระบุว่า การรั่วไหลครั้งใหญ่ตอนนั้น ยังคงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนูซา เตงการา ติมูร์ ทางตะวันออกของอินโดนีเซีย
“ถ้าทางบริษัทคิดว่าประเด็นปัญหานี้จะหายไปง่าย ๆ เพราะเกษตรกรเหล่านี้เป็นชาวอินโดนีเซีย หรือเพราะคิดว่าเกษตรกรไม่เข้าใจสิทธิทางกฎหมายแล้วละก็ พวกเขาคิดผิดมหันต์” เขาระบุในคำแถลง
“คดีนี้เป็นตัวอย่างสมบูรณ์แบบที่จะแสดงให้เห็นว่าระบบการดำเนินคดี แบบฟ้องในนามกลุ่มบุคคลของออสเตรเลียนั้น ให้ความยุติธรรมแก่ผู้ที่ไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียง และไม่เคยได้รับความช่วยเหลือในการต่อสู้กับการกระทำที่ไม่ถูกต้องของบริษัท ได้อย่างไร” คำแถลงระบุ
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้จัดทำรายงานฉบับหนึ่ง ซึ่งระบุว่า สาเหตุของการรั่วไหลมาจากความบกพร่องของ ปตท.สผ. ออสตราลาเชีย ซึ่งเป็นกิจการในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิต ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ของประเทศไทย
ทางด้าน ปตท.สผ. ระบุว่า จะต่อสู้แก้ต่างต่อการถูกยื่นฟ้องดำเนินคดีครั้งนี้ โดยเชื่อว่าเป็นความเข้าใจผิด
“บริษัทได้แสดงความรับผิดชอบเสมอมา สำหรับเหตุร้ายที่มอนทาราเมื่อปี 2009” คำแถลงของบริษัทระบุ พร้อมทั้งบอกด้วยว่า 98 เปอร์เซ็นต์ของน้ำมันที่รั่วไหลนั้นอยู่ในน่านน้ำออสเตรเลีย
ปตท.สผ. ระบุว่า การศึกษาอย่างครอบคลุมแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไม่มีผลกระทบหลงเหลืออยู่ ต่อระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีความละเอียดอ่อนสูง ในบริเวณใกล้เคียงน่านน้ำอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ การรั่วไหลดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นห่างออกไปกว่า 200 กิโลเมตร นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ถือเป็นเหตุน้ำมันรั่วไหลลงทะเลครั้งเลวร้ายของแดนจิงโจ้
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต