จากประชาชาติธุรกิจ
นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศในโลกที่เป็นถิ่นกำเนิดและเป็นแหล่งพันธุกรรมของเสือโคร่ง ปัจจุบันเสือโคร่งในประเทศไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามเช่นเดียวกับเสือโคร่ง ในประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ ประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยการอนุรักษ์เสือ โคร่ง (Tiger Summit) ที่ประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2553 ว่าจะเพิ่มประชากรเสือโคร่งให้ได้ 50% ของที่มีอยู่ในขณะนั้น คือจะต้องเพิ่มประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติให้ได้ 300-375 ตัว ภายในปี 2565
รองอธิบดีกรมอุทยานฯกล่าวว่า ข้อมูลจากการศึกษาติดตามและการประเมินสถานภาพประชากรเสือโคร่งประเทศไทย ทำให้สามารถจำแนกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เป็นถิ่นอาศัยสำคัญของเสือโคร่งได้ 3 ระดับ พิจารณาจากความหนาแน่นของประชากรเสือโคร่งที่ปรากฏ ได้แก่ ระดับที่ 1 เป็นพื้นที่ที่มีประชากรค่อนข้างมาก ประกอบไปด้วย กลุ่มป่าตะวันตก ระดับที่ 2 เป็นพื้นที่ที่มีประชากรปานกลาง ประกอบไปด้วย กลุ่มป่าเขาใหญ่-ดงพญาเย็น กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าแก่งกระจาน และระดับที่ 3 เป็นพื้นที่ที่มีประชากรค่อนข้างน้อย ประกอบไปด้วย กลุ่มป่าอมก๋อย กลุ่มป่าฮาลา-บาลา กลุ่มป่าศรีลานนา
"ประชากรเสือโคร่งมีความหนาแน่นมากที่สุดตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี บริเวณผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย โดยแหล่งอาศัยที่สำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับโลกอยู่ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ปัจจุบันเสือโคร่งในพื้นที่แห่งนี้มีแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของประชากร และหากมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและป้องกันพื้นที่ เช่น การลาดตระเวนและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ประชากรเสือโคร่งในพื้นที่แห่งนี้มีโอกาสเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้อีก ล่าสุด พบว่าประชากรเสือโคร่งในห้วยขาแข้งขยายออกไปยังป่าข้างเคียงจำนวนมาก" นายอดิศรกล่าว
นายอดิศรกล่าวอีกว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรี ทส. ได้มอบนโยบายทำแผนปฏิบัติการระยะสั้นและระยะยาว (20 ปี) ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในทุกมิติ นอกจากนี้ ยังได้เริ่มทำข้อมูลทะเบียนประวัติเสือโคร่งในกรงเลี้ยง ทำให้ทราบว่าประเทศไทยมีเสือโคร่งในสวนสัตว์เอกชนจำนวน 1,280 ตัว และยังได้จัดทำข้อตกลงร่วมกับพม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดการและการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ อย่างยั่งยืนในพื้นที่เชื่อมต่อตามแนวชายแดน ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินงานที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์แล้วว่า ภายในปี 2565 ประชากรเสือโคร่งจะได้รับการฟื้นฟูและเพิ่มจำนวนในผืนป่าสำคัญของประเทศตามเป้าหมายแน่นอน
ที่มา : มติชนออนไลน์
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต