จากประชาชาติธุรกิจ
"บิ๊กตู่" สั่งคืนสวนป่าแม่หอพระสร้างสภาใหม่ลาม เผยผู้ออกแบบกำหนดใช้ไม้สักเกือบ 5 พันท่อน เคยเจรจายันไม่แก้แบบ ด้าน อ.อ.ป.ชี้แค่สำรวจ เล็งใช้ไม้ป่าลำปางแทน
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข่าวการตัดไม้สักในพื้นที่สวนป่าแม่หอพระ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เพื่อนำไปก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำสวนป่ากลับคืนมาเป็นพื้นที่ป่าสงวน และให้กำหนดมาตรการดูแลรักษาอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้คงสภาพป่าที่สมบูรณ์ต่อไป จะไม่มีการดำเนินการใดๆ กับต้นสักในบริเวณดังกล่าวทั้งสิ้น ทั้งนี้ ข่าวที่ปรากฏตามสื่อออนไลน์ที่ว่าผู้ใหญ่สั่งลงมานั้น คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะไม่มีผู้ใหญ่คนใดทำเช่นนั้น รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับประเทศชาติ และเข้าใจความรู้สึกของคนในท้องถิ่นดีว่ามีความรักและหวงแหนผืนป่ามากเท่าใด และพร้อมที่จะช่วยกันดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ให้เป็นป่าของชุมชน
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า บริษัทผู้รับเหมาสร้างรัฐสภาแห่งใหม่มีความต้องการไม้สักขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว จึงได้ติดต่อขอซื้อจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งเป็นเรื่องทางธุรกิจปกติ โดย อ.อ.ป.ได้สำรวจสวนป่าทั่วประเทศ และพบต้นสัก 2,000 ต้นที่มีขนาดเหมาะสม อยู่ในพื้นที่สวนป่าแม่หอพระ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง ที่ทาง อ.อ.ป.ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์เพื่อปลูกสร้างสวนป่าสัก โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการตัดไม้แต่อย่างใด ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ ของ อ.อ.ป.หมดอายุลงตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2558 และขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตใหม่ โดยการขออนุญาตจะต้องได้ความยินยอมจากคนในท้องถิ่นก่อน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการให้อนุรักษ์ไม้สักไว้
"นายกฯได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปดำเนินการในรายละเอียด เพื่อให้สวนป่าแม่หอพระกลับไปเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งต่อไปกรมป่าไม้จะสามารถอนุญาตให้ชุมชนใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งให้ดูแลเรื่องเงินชดเชยแก่ อ.อ.ป.ตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ หากไม่อนุญาตให้ต่อสัญญา" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
วันเดียวกัน นายพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รัฐสภามีหนังสือถึง อ.อ.ป.เพื่อขอซื้อไม้สักไปใช้ในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงสำรวจในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่า ไม้สักในพื้นที่สวนป่าแม่หอพระ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มีความเหมาะสม แต่ปรากฏว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่อยากให้นำไปใช้ อยากจะอนุรักษ์ไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย นายกฯจึงต้องมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำสวนป่ากลับคืนมาเป็นพื้นที่ป่าสงวน และให้กำหนดมาตรการดูแลรักษาอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้คงสภาพป่าที่สมบูรณ์ต่อไป
"ความจริงบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจที่ อ.อ.ป.ปลูกต้นไม้ไว้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นหลักการปกติที่เมื่อต้นไม้โตเต็มที่จะตัดขายนำรายได้เข้ารัฐ แต่บังเอิญต้นไม้บริเวณนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบกับอยู่ใกล้โครงการพระราชดำริ ชาวบ้านจึงรู้สึกหวงแหนอยากจะอนุรักษ์ไว้ ก็ไม่มีปัญหา ไม่ใช้ต้นสักบริเวณนี้ก็ไม่มีผลใดๆ กับ อ.อ.ป. เพราะขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนสำรวจ ไม่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายใดๆ แต่หากรัฐสภายังต้องการให้ อ.อ.ป.จัดหาไม้สักให้อีก ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่สามารถนำมาใช้ได้ อาทิ ในพื้นที่ จ.ลำปาง เป็นต้น" นายพิพัฒน์กล่าวและว่า จากกรณีนี้เห็นว่าจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนใหม่ว่าจะต้องแยกกันให้ได้ระหว่างป่าอนุรักษ์กับป่าเศรษฐกิจ โดยป่าอนุรักษ์นั้นห้ามตัด และป่าเศรษฐกิจเมื่อปลูกต้นไม้จนโตเต็มที่แล้วสามารถตัดไปใช้ประโยชน์สร้างรายได้ให้ประเทศได้ ที่สำคัญป่าเศรษฐกิจจะช่วยลดความรุนแรงของการลักลอบตัดไม้ได้
ด้านนายพิชัย รุจิโรจน์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ อ.อ.ป. กล่าวว่า ขณะนี้ต้นสักในสวนป่าแม่หอพระอายุประมาณ 37 ปี หากเลี้ยงต่อไปจนถึงอายุ 60 ปี ถึงวันนั้นมูลค่าของต้นสักในบริเวณนี้จะสูงขึ้นอีก และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากบันทึกการหารือว่า สำหรับการซื้อไม้เพื่อก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่นั้น เนื่องจากตามสัญญาการออกแบบ ผู้ที่ชนะการประกวดแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ คือกลุ่มกิจการร่วมค้า สงบ 1051 ซึ่งมีการออกแบบให้มีเสาไม้ประดับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ต่อมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และจะต้องจัดหาและติดตั้งเสาไม้สักตามแบบก่อสร้าง และรายการประกอบแบบงานสถาปัตยกรรมประกอบสัญญาจ้าง ซึ่งจัดทำโดยผู้ออกแบบ (กิจการร่วมค้า สงบ 1051) จำนวน 4,534 ต้น โดยข้อกำหนดของไม้จะต้องเป็นไปตามที่แบบก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมที่ 1 กำหนดว่า “คุณภาพของไม้ที่ใช้ต้องปฏิบัติตามรายการประกอบแบบอย่างเคร่งครัด ตรง ไม่คดไม่งอ ไม่มีกระพี้ ไม่มีตาที่ทำให้เสียความแข็งแรงหรือความสวยงาม มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี มีขนาดตามที่กำหนด ไม้เสาไม้สักทั้งหมดเป็นไม้จากป่าปลูก และไม้พื้น ผนัง ฝ้า เพดานที่เป็นไม้จริงทั้งหมด เป็นไม้จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) หรือไม้ที่ยึดได้จากการทำผิดกฎหมาย หรือไม้เก่าที่นำมาใช้ใหม่ หรือไม้ที่มิได้อยู่ในกระบวนการที่จะต้องตัดใหม่”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แบบก่อสร้างงานสถาปัตย์แบบที่ 2 เสาประดับเป็นเสาไม้สักเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 ซม. สูง 4.60 ม. ทาน้ำยาเคลือบชนิด OIL BASE ติดตั้งเสาไม้บนฐาน ค.ส.ล. ฝังแผ่นเหล็กยึดด้วยน็อตตามมาตรฐานวิศวกรรม และตามรายการออกแบบ ไม้ทั้งหมดที่ใช้ในโครงการจะต้องไม่มีข้อบกพร่องอื่นๆ ต้องเป็นไม้ที่ผ่านการอบและผึ่งแห้งดีแล้ว ไม้ที่มีความชื้นเกิน 16% ห้ามนำมาใช้ในงานถาวร หากมีการยืดหดภายหลัง ผู้รับจ้างจะต้องแก้ไขและรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาผู้ออกแบบได้ติดต่อขอใช้ไม้ไปยัง อ.อ.ป. และ อ.อ.ป.มีหนังสือแจ้งกลับว่าพร้อมให้ความร่วมมือจัดหาเสาไม้สักที่สวนป่าเศรษฐกิจของ อ.อ.ป. และระบุด้วยว่าเพื่อนำไม้ไปจัดทำไม้เหลากลม มีข้อจำกัดเรื่องขนาดและคุณภาพของไม้ที่จะต้องปรับขนาดให้มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 8 นิ้ว และในส่วนคุณภาพอาจจำเป็นต้องมีส่วนของกระพี้ตาหรือรูมอดไม้ เนื่องจากเป็นธรรมชาติของไม้จากป่าปลูก หากเงื่อนไขดังกล่าวอยู่ในวิสัย อ.อ.ป.ก็พร้อมที่จะดำเนินการให้
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนที่จะมีการดำเนินการหาไม้สักตามขนาดที่กำหนด สำนักงานเลขาธิการสภาฯได้มีการเจรจากับผู้ออกแบบให้เปลี่ยนชนิดของไม้ แต่ทางผู้ออกแบบไม่ยินยอม จึงจำเป็นที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯและผู้รับจ้างจะต้องดำเนินไปตามสัญญาการออกแบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้ยกเลิกการตัดไม้ในพื้นที่สวนป่าแม่หอพระ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้โพสต์ข้อความขอบคุณนายกฯ และระบุด้วยว่า ให้มีการตรวจสอบการทำสัญญาและการก่อสร้างแบบละเอียด เนื่องจากทำให้รัฐเสียเปรียบและให้ตั้งทีมพิเศษดำเนินการเอาผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาบริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้ตั้งทนายเพื่อดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดฐานหมิ่นประมาท กล่าวหาใส่ร้ายกับผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว
นายดวงแก้ว สะอาดล้วน นายกเทศมนตรีตำบลลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทาง อ.อ.ป.ได้ทำเรื่องมาให้เทศบาลพิจารณาแล้ว แต่สภาเทศบาลยังไม่อนุญาต อยู่ระหว่างหาข้อมูลอยู่ ซึ่งป่าดังกล่าว อ.อ.ป.ขอเช่าจากกรมป่าไม้ 9,000 กว่าไร่ ระยะเวลา 30 ปี แต่หมดสัญญาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 เดิมป่าดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรม ก่อนมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้ามาฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าดังกล่าว เพื่อเป็นต้นน้ำห้วยคัง ก่อนไหลลงเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ดังนั้นท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำชุมชน องค์กรเอกชน และชาวบ้าน ต้องการอนุรักษ์ป่าดังกล่าวไว้ เพื่อเป็นป่าชุมชนได้ใช้ประโยชน์ โดยมีกฎระเบียบป่าชุมชนบังคับใช้อยู่ จึงคัดค้านการตัดไม้ดังกล่าวเพื่อนำไปสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ และไม่เห็นด้วยกับกรมป่าไม้ที่จะต่อสัญญาเช่าป่าดังกล่าว ให้ อ.อ.ป.ออกไปอีก 30 ปี ควรคืนป่าดังกล่าวมาให้ชุมชนดูแลดีกว่า เพราะเป็นป่าสมบูรณ์แล้ว
ที่มา : มติชนออนไลน์
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต