จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
อย่าชะล่าใจว่าดื่มเหล้ามานาน และแม้เซลล์ตับถูกทำลาย ก็ยังไม่มีอาการผิดปกติ นั่นเป็นเพราะว่ายังไม่ถึงเวลาแสดงอาการ ถ้าปล่อยให้ตับถูกทำลายไปเรื่อยๆ ก็อาจเกิดภาวะตับวาย ในที่สุด คนที่ดื่มเหล้าจึงเท่ากับทำลายอวัยวะที่สำคัญโดยไม่อาจเอากลับคืนมาได้ และถ้าตับวายแล้ว นั่นหมายความว่าวายแล้ววายเลย!
เมื่อเหล้าเข้าปาก แอลกอฮอล์ส่วนใหญ่จะถูกนำมาทำลายที่ตับ โดยเอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส เปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้กลายเป็นแอซิตัลดีไฮด์และไฮโดรเจน ซึ่งในภาวะปกติที่ไม่ได้ดื่มเหล้า ร่างกายจะใช้ไฮโดรเจนจากไขมันเป็นแหล่งพลังงาน แต่เมื่อดื่มเหล้าเข้าไป ร่างกายจะใช้แอลกอฮอล์เป็นแหล่งพลังงาน ทำให้ไขมันซึ่งเป็นแหล่งพลังงานปกติไม่ได้ถูกใช้ไป เกิดการสะสมจนนำไปสู่โรคต่างๆ ดังนี้
1. ไขมันสะสมในตับ เป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเริ่มต้น มักไม่มีอาการใดๆ ปรากฏ ถ้าหยุดดื่มเหล้า ตับจะสามารถกลับเป็นปกติได้
2. ตับอักเสบ อาจจะไม่มีอาการเลยหรือจุกแน่นที่บริเวณชายโครงด้านขวา อาจมีไข้ต่ำๆ ไปจนถึงมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน บางครั้งอาจมีอาการทางสมอง สับสน วุ่นวาย หรืออาจหมดสติได้ เกิดภาวะตับวายได้ การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการจะพบความผิดปกติของการทำงานของตับอย่างชัดเจน
3. ตับแข็ง เป็น ระยะสุดท้ายที่พบจากการมีพังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับอย่างเรื้อรัง จะทำให้ตับมีลักษณะผิวไม่เรียบ ขรุขระ เป็นก้อนๆ และมีขนาดเล็กลงในระยะสุดท้าย ผู้ที่หยุดดื่มในระยะนี้ จะช่วยป้องกันมิให้เกิดการเสียหายต่อเนื้อตับเพิ่มขึ้น การดื่มต่อจะทำให้ตับวายและอันตรายต่อชีวิต
ผ.ศ.น.พ.ม.ล.ทยา กิติยากร อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาโรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของร่างกาย มีหน้าที่ประกอบ กำจัด รีไซเคิล สารต่างๆในร่างกาย ไม่มีโรงงานไหนเทียบเคียงได้ และเป็นอวัยวะที่สามารถรักษาตัวเองได้ดีมาก ถ้าไม่ไปทำร้ายมัน คุณมีของวิเศษเดียวในร่างกายที่รักษาตัวเองได้ดีมาก สิ่งที่อาจทำร้ายตับที่เราบริโภคคือเหล้า และพวกน้ำตาล ไขมัน แป้ง ซึ่งทางตะวันตกนั้น ส่วนมากตับจะเกิดปัญหาเพราะรับประทานน้ำตาลและแป้งมากไป แต่ทางบ้านเรานั้น เหล้าคือปัญหาใหญ่
นอกจากนี้ คุณหมอทยายังกล่าวว่า คุณไม่รู้ แต่ตับรู้ ถึงไม่มีอาการ ก็อย่าชะล่าใจ
“ตับแข็งเกิดจากตับเป็น พังผืดทีละนิดๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนตับกลายเป็นตับแข็งทั้งก้อน ซึ่งอาจจะพัฒนาเป็นมะเร็งต่อได้ เราน่าจะพักมันก่อนที่จะไม่มีโอกาสพัก การพักตับเท่ากับการฟื้นตัวของตับ เพราะให้โอกาสมันรักษาตัวเอง ในขณะที่การเลิกเหล้าเลย เท่ากับการดีขึ้นของตับระยะยาว”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลน่าน ได้เผยประสบการณ์ การใช้ผลการตรวจเอนไซม์ตับรณรงค์ลด ละเลิกดื่มเหล้า โดยกลุ่มทดลองคือคนทำงานในสถานประกอบการจังหวัดน่าน จำนวน 3,752 คนอายุ 17-65 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2556-2558 พบว่า ในผู้ป่วยที่มาติดตามการรักษาสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ 50% และมีระดับเอนไซม์ตับดีขึ้นใน 3 เดือน
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในกลุ่มตัวอย่าง มีผู้ป่วยท่านหนึ่งอายุ 31 ปี ซึ่งมีเอนไซม์ตับขึ้นสูงถึง 500 กว่า เนื่องจากดื่มหนักทุกวัน และไม่รู้ว่าตัวเองเป็นไวรัสตับอักเสบบี เมื่อตรวจสุขภาพพบ ได้รับการบำบัดการติดเหล้านาน 2 ปี แต่ไม่สามารถเลิกได้ ในที่สุดเสียชีวิตจากตับอักเสบและตับแข็งเมื่ออายุ 33 ปี
ด้วยเหตุนี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายงดเหล้า จึงชูประเด็นเรื่องสุขภาพด้วยแคมเปญ “พักตับ” ซึ่ง คาดหวังว่าในยุคที่ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ มีกิจกรรมล้างพิษตับกันมากมาย กระแสโลกมุ่งไปที่ต้นทุนของชีวิตที่ดีคือการมีสุขภาพที่แข็งแรง การชวนให้คนงดเหล้าเข้าพรรษา และเลิกเหล้าได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการล้างพิษตับ และทำให้สุขภาพดีวิธีหนึ่ง
ข้อมูลจากองค์การอนามัย ระบุว่าแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของ 200 โรค และการบาดเจ็บ มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกทุกสิบวินาที หรือประมาณปีละ 3.3 ล้านคนจากการดื่มเหล้า เฉพาะคนไทยตายทุก 20 นาที หรือ 26,000 คน ต่อปี และก่อให้เกิดความสูญเสียทางสุขภาพ 5.9% ของภาวะโรคทั่วโลก
ในประเทศไทย การดื่มเหล้าเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอันดับ 1 ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตในเพศชายถึง 8.6% ของการเสียชีวิตทั้งหมด เมื่อประเมินเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้ว พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 1.51 แสนล้านบาท หรือ 1.97% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
เครือข่ายงดเหล้าทั่วประเทศ และ สสส.ได้รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ปีพ.ศ.2546 ผ่านไป 13 ปี ผลสำรวจการดำเนินงานโครงการพบว่ามีประชาชนประมาณ 17 ล้านคน เปลี่ยนพฤติกรรมการดื่ม โดย 8 ล้านคนงดดื่มตลอดช่วงเข้าพรรษา และ 9 ล้านคนลดการดื่ม ประหยัดได้สูงสุด 6,000 บาทต่อคน รวมกันประหยัดเงินของประชาชนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาทในช่วงเข้าพรรษา
ยุทธศาสตร์เดินหน้าพร้อมกันทั่วไทย
ชุมชนตับดีต้องมี 3 พลัง
ชุมชนต้นแบบที่ทำสำเร็จแล้วต้องยึดหลัก 3 ข้อคือ
1. เมื่อชุมชนไม่มีเลี้ยงเหล้าก็ไม่มีการดื่มเหล้า เช่น ร้านค้าไม่ขายเหล้า, งานเลี้ยง/ งานบุญ/ งานศพไม่มีเหล้า
2. เมื่อ ชุมชนจัดกิจกรรมดีๆ สร้างแรงจูงใจ เช่น ปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา ออมบุญ โดยเฉพาะพระสงฆ์ควรเป็นผู้นำเรื่องนี้ รวมกลุ่มทำอาชีพเสริม ออกกำลังกายร่วมกันทุกเย็น
3. เมื่อชุมชนให้กำลังใจ ทำให้รู้สึกมีกำลังใจ เช่น มีบุคคลต้นแบบ นัดกันว่าวันออกพรรษาจะจัดกิจกรรมยกย่องคนงดเหล้าครบพรรษา
ยกตัวอย่าง กิจกรรมที่ได้ผลทีเดียวสองเจเนอเรชั่น คือการรณรงค์ “พ่อแม่จ๋า ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า” และ “ขอค่าเหล้าของพ่อเป็นค่าเรียนของลูก” วิธีนี้เป็นทั้งการปลูกฝังค่านิยมให้แก่เด็ก และเสริมกำลังใจผู้ปกครองนักดื่มอีกด้วย
ทางด้านนโยบายนั้น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันเข้าพรรษาของทุกปี เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นประเทศแรกๆ ของโลกอีกด้วย กระทรวงต่างๆ จึงเชิญชวนข้าราชการ และประชาชนร่วมงดเหล้าเข้าพรรษาด้วย
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต