ชาวนาเฮ! ครม.ไฟเขียวมาตรการอุ้มชาวนา 4.5 หมื่นล้านบาท
จากประชาชาติธุรกิจ
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/2560 ผ่านระบบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 4.55 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกร ไร่ละ1 พันบาท ไม่เกิน 10 ไร่ มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 3.7 ล้านราย วงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท
2.โครงการพักชำระหนี้เงินต้น2 ปี ลดดอกเบี้ย 3% สำหรับลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส.วงเงินไม่เกิน5 แสนบาท โดย ธ.ก.ส.และรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยคนละ1.5% มีเกษตรกรได้รับประโยชน์2 ล้านราย วงเงิน 5.4 พันล้านบาท
3.โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการความรู้ทางการเงินและการปรับการผลิตแก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย วงเงิน 258 ล้านบาท ตั้งเป้าจำนวนเกษตรกร3 แสนคน ต่อไปจะยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป้าหมาย1.5 หมื่นคน
4.โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 วงเงิน 2.07 พันล้านบาท สำหรับลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส.จำนวน1.5 ล้านราย จำนวน 30 ล้านไร่ โดย ธ.ก.ส.ช่วยออกเบี้ยประกันไร่ละ 40 บาท วงเงิน 1,200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือรัฐบาลชดเชยให้
ครม.ไฟเขียว 690 ล้านบาท นำร่องรับซื้อที่ดินช่วยเกษตรกรที่นำไปจำนอง-ขายฝาก-หลุดมือเกษตรกร
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2559 เวลา 15.00 น. นายกอบศักดิ์ ภู่ตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบนำเงินงบประมาณ 690 ล้านบาท มอบให้สถาบันบริหารจัดการที่ดิน (องค์กรมหาชน) นำเงินไปจัดซื้อที่ดินทางการเกษตร ซึ่งถูกนำไปจำนอง ขายฝาก และหลุดมือจากเกษตรกร โดยซื้อจาก บสก.และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท เพื่อนำไปให้เกษตรเจ้าของรายเดิมได้เช่า ประกอบอาชีพและขอซื้อกลับคืนได้ในอนาคต
นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวเป็นการทดลองนำร่องและเตรียมการใช้ระบบดังกล่าวไปพลางก่อน เนื่องจาก พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน อยู่ระหว่างการพิจาณาของ สปท. และส่งเรื่องให้ ครม.และ สนช.พิจารณา เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะได้เริ่มดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ในวงเงิน 690 ล้านบาทดังกล่าวจะแบ่งเพื่อนำไปใช้สำหรับศึกษาเพื่อจัดตั้งธนาคารที่ดิน 4 ล้านบาท ศึกษาบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร 261 ล้านบาท และนำไปใช้แก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขายฝาก จำนองที่ดิน
โดยจะทดลองนำรองในกลุ่มเกษตรกร 250 ราย ใน 5 ชุมชน ในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ โดยปล่อยสินเชื่อ 5-5.7 แสนบาทต่อราย ใช้เงินประมาณ 167 ล้านบาท จากนั้นจึงขยายไปยังจังหวัดอื่น เช่น นครสวรรค์ ขอนแก่น นราธิวาส รวมทั้งการศึกษาแผนจัดตั้งธนาคารที่ดินในต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้พัฒนากับประเทศไทย เมื่อ พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินผ่านความเห็นชอบจากสภา สนช.แล้ว จะได้ทำหน้าที่เหมือนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ดินเกษตร (AMC)
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต