จากประชาชาติธุรกิจ
ทีดีอาร์ไอชี้การค้าโลกถดถอย หลังประเทศต่าง ๆ แห่ใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีพุ่ง ลดกำแพงภาษีไม่ได้ประโยชน์ แนะตั้งหน่วยงานรับผิดชอบ
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงาน "การบรรยายในเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนากลุ่มภาคีธุรกิจอาหาร" ว่า การค้าโลก ไทยยังต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดส่งออกยังอยู่ในภาวะถดถอย แม้ว่าเศรษฐกิจในบางประเทศจะเริ่มฟื้นตัวแต่ยังไม่สูงมากนัก ประกอบกับแม้ว่าหลาย ๆ ประเทศจะทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีลดภาษีระหว่างกัน อาทิ ในกรอบอาเซียน แต่ยังมีสินค้าอ่อนไหวคงภาษีสูง เช่น ข้าว น้ำตาล รวมถึงความร่วมมือด้านมาตรฐานเกษตร อาหารยังไม่คืบหน้า และเริ่มมีการนำปัญหาการกีดกันทางการค้า (NTMs) รูปแบบใหม่มาใช้รุนแรงขึ้น จากข้อมูลในปี 2557 พบว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 แห่ง (G20) แต่ละประเทศสร้างมาตรการทางการค้ารวมกว่า 962 รายการ หรือเพิ่มขึ้นในระดับที่มากเกือบ 3 เท่า จาก 3 ปีก่อนหน้า ซึ่งตรงนี้เป็นความท้าทายของภาคธุรกิจไทยที่จะทำอย่างไรให้เป็นไปตามมาตรฐาน เหล่านั้น เช่น มาตรฐานด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม แรงงาน
"ไทยควรมี หน่วยงานมาดูแลและควรมีการบูรณาการจัดทำมาตรฐานเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารร่วม กัน เช่น องค์การอาหารและยา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากดูงานที่ตัวเองรับผิดชอบแล้ว ควรทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมรับมือและเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการไทย ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรกับมาตรฐานการค้าใหม่ที่เกิดขึ้น"
ด้านนาย ไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากดูตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วงปีที่ผ่านมามียอดรวมมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่สูง แม้จะเติบโตไม่มากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เอกชนไทยจะต้องปรับขั้นตอนการผลิตอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นสูงสุด และการกำหนดนโยบายของรัฐบาลต่อการดูแลภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบจะ ต้องออกมาอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับพฤิตกรรมผู้บริโภค และช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหารไทยมากขึ้น
นายเชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเอฟทีเอว่า ปี 2557 ผู้ส่งออกใช้สิทธิ์ลดภาษีเพียง 51.7% จากสิทธิ์ที่ใช้ได้ทั้งหมด ประหยัดภาษีได้ 146,541 ล้านบาท แต่หากส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์มากขึ้นเต็ม 100% จะประหยัดภาษีได้ 279,757 ล้านบาท สาเหตุเนื่องจากผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งมีปริมาณส่งออกลอตเล็กจึงไม่นิยมขอใช้สิทธิ์ เพราะออกเอกสารยุ่งยากและไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย และไม่เห็นความจำเป็นจากการใช้สิทธิ์เพราะลูกค้าไม่ได้ร้องขอมา
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต