จากประชาชาติธุรกิจ
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาแบรนด์สินค้า-บริการจาก แดนมังกรเริ่มมีบทบาทในตลาดโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะด้าน อิเล็กทรอนิกส์และไอทีไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าไฮเออร์ และมีเดีย เว็บไซต์ขายของอาลีบาบาที่ขึ้นมาเทียบชั้นเจ้าตลาด ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า แบรนด์สินค้ากีฬาสัญชาติจีนส่งสัญญาณพร้อมสู้ศึกกับบรรดาแบรนด์จากตะวันตก
อย่างกลุ่มสินค้า "กีฬา" ซึ่งที่ผ่านมาแบรนด์กีฬาสัญชาติจีนเคยเฟื่องฟูในช่วงที่จีนเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิค ปี 2551 ก่อนจะถดถอยหลังเผชิญสภาวะฟองสบู่แตกจากการขยายสาขามากเกินไป ซึ่งบางแบรนด์ขยายสาขามากถึงปีละ 1,000 สาขาติดต่อกัน 5 ปี รวมถึงการแข่งขันที่ดุเดือดกับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และแบรนด์ต่างชาติ อย่าง เฮชแอนด์เอ็ม และยูนิโคล่ ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดที่เคยสูสีกับแบรนด์อย่างไนกี้และอาดิดาส ในช่วงปี 2553-2554 กลายเป็นถูกทิ้งห่าง
ล่าสุด "อันตา" (Anta) แบรนด์สินค้ากีฬารายใหญ่ของจีนเริ่มฟื้นตัว เห็นได้จากส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ปีซ้อนหรือตั้งแต่ปี 2557-2558 จาก 8.7% ขยับเป็น 9.9% หรือเพิ่มขึ้น 1.2% ขณะที่ 2 ผู้นำคือ ไนกี้มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม 1% เป็น16% และอาดิดาสเพิ่มขึ้น 2.2% เป็น 17.5% ตามลำดับ เช่นเดียวกับ "หลี่ หนิง" (Li Ning) แบรนด์สินค้ากีฬาสัญชาติจีนอีกราย ซึ่งปีที่แล้วพลิกกลับมามีกำไรอีกครั้งหลังขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปี
"แคทเธอลีน ลิม" นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กอธิบายว่า การลดขนาดตัวเองเป็นสาเหตุหลักที่ช่วยให้แบรนด์เหล่านี้ฟื้นตัวโดย "อันตา" ปิดสาขาไปกว่า 900 สาขา ระหว่างปี 2555-2556 ส่วน "หลี่ หนิง" ลดจำนวนสาขาจาก 8,255 สาขา เหลือ 6,133 สาขา ทั้ง 2 แบรนด์จึงสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้มหาศาล
ขณะเดียวกัน "อันตา" ยังหันมาทำตลาดเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดตัวแบรนด์สินค้าเด็ก หลังรัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว และจับมือร้านค้า เพื่อทำโปรโมชั่นและตกแต่งร้านให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ รวมถึงเป็นพันธมิตร "ดีเซนเต้ โกลบอล รีเทล" (Descente Global Retail) แบรนด์อุปกรณ์กีฬาสัญชาติญี่ปุ่น เตรียมไลน์อัพสินค้า รองรับดีมานด์ช่วงโอลิมปิกฤดูหนาวซึ่งจะจัดขึ้นที่จีนในปี 2565
"แม้ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดของทั้งอันตาและหลี่ หนิงจะยังห่างอาดิดาสและไนกี้ แต่ด้วยการมีสาขาในเกือบทุกเมืองของจีนและการทำตลาดที่เน้นเจาะชนชั้นกลาง ซึ่งกำลังขยายตัวจะกลายเป็นกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ช่วยให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดอย่างต่อเนื่อง"
สอดคล้องความเห็นของ "มาร์ค แทนเนอร์" ผู้อำนวยการของสำนักวิจัยไชน่าสกินนีชี้ว่า ผู้บริโภคชาวจีนเริ่มให้เครดิตแบรนด์จีนมากขึ้น เห็นได้จากยอดขายสินค้าหลายประเภท เช่น โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเมื่อปี 2011 ชาวจีนใช้มือถือแบรนด์ตะวันตกถึง 70% แต่ปีที่แล้วแบรนด์จีนสามารถครอง 8 ใน 10 อันดับมือถือขายดีในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่เป็นที่เรียบร้อย
แนวโน้มนิยมสินค้าจีนยังคงต่อเนื่องในปีนี้ เห็นได้จากผลสำรวจของสำนักวิจัยแมคคินซีย์ ซึ่งพบว่า ชาวจีน 62% จะเลือกซื้อสินค้าแบรนด์จีนหากคุณภาพและราคาเท่ากับสินค้าแบรนด์ต่างชาติ เป็นผลจากการปรับตัวของแบรนด์จีนที่หันมาเน้นคุณภาพมากกว่าราคา ขณะเดียวกันใช้วิธีโปรโมตแบรนด์และสินค้าผ่านภาพยนตร์ เพราะภาพยนตร์จีนฉายทั่วประเทศและครองส่วนแบ่งตลาด 62% ของตลาดโรงหนัง
"ย้อนไป 5 ปีก่อน ชาวจีนที่มีกำลังซื้อยังไม่ยอมรับและไม่กล้าพกสินค้าเหล่านี้ติดตัวออกจากบ้าน แต่ปัจจุบันการใช้แบรนด์จีนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยและรักชาติไปแล้ว"
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต