จากประชาชาติธุรกิจ
ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานี้ คนไทยร่วม 70 ล้านคน เผชิญสภาพอากาศเลวร้าย ร้อนจัดจนชีวิตจะหาไม่ อุณหภูมิทะลุปรอท 40-44 องศาเซลเซียส ประดังกับภาวะภัยแล้งยาวนาน อากาศแปรปรวนอย่างหนัก ขาดน้ำกินน้ำใช้รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
ที่สำคัญภัยแล้งได้ส่งผลกระทบลึกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะคนที่ยังชีพด้วยภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเกษตรได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน ไม่มีผลผลิต/วัตถุดิบออกสู่ตลาด
กลุ่มแรกที่ต้องเสียสละก่อนใคร หลังรัฐบาลออกมาตรการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ก็คือ ชาวนา ที่ถูกห้ามทำนาปรัง โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด รวมไปถึงลุ่มน้ำป่าสัก แม่น้ำชี แม่น้ำมูลในโซนอีสานใต้ นอกจากต้องงดทำนาปรังแล้ว ยังต้องยกเลิกเลี้ยงปลาในกระชังอีกด้วย
ขณะที่ "คนต้นน้ำ" ทางภาคเหนือก็ได้รับผลกระทบแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะลุ่มน้ำปิง วันนี้ผู้คนต่างก็ลุ้นอยู่ทุกวันให้ฝนตกลงมา เพราะน้ำในเขื่อนแม่กวงและแม่งัดที่ป้อนน้ำหล่อเลี้ยงชาวเชียงใหม่ ลำพูน จะมีน้ำให้ใช้ถึงแค่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เท่านั้น ซึ่งสถานการณ์ ณ วันนี้น้ำในเขื่อนก็ยังแห้งขอด
หากคิดในกรณีเลวร้ายที่สุด (เพราะยุคนี้อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้) ถ้าฝนไม่มาตามนัดจริง ๆ อะไรจะเกิดขึ้น เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองต้นน้ำลำธารของแม่น้ำปิงและเจ้าพระยา อีกทั้งเป็นเมืองท่องเที่ยวและศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือ
ไม่เพียงคนต้นน้ำเท่านั้นที่จะอดน้ำ แต่หมายรวมไปถึง "คนกลางน้ำ" ในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่ของประเทศ จะกินอยู่กันอย่างไร แม้แต่น้ำใต้ดินที่ลงทุนเจาะบ่อบาดาลกันจนพรุนไปหมดทุกที่แล้วก็เริ่มเจอปัญหาน้ำไม่พอใช้เช่นกัน
เกิดอะไรขึ้นกับเมืองไทย!แม้จะมีคำอธิบายว่า เราอยู่ในช่วงปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ฝนตกน้อย ปริมาณน้ำใน 10 เขื่อนหลักของเมืองไทยอยู่ในสภาพแห้งขอด ฝนที่ตกลงมาก็ไม่ตกลงเขื่อน ธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนจึงเป็นปัจจัยที่เราไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป
ภัยแล้งที่ยาวนานมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่าค่อนปีแล้ว ผลกระทบด้านลบจึงซึมลึกกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้
ผู้คนในภาคเกษตรซึ่งลงทุนลงแรงผลิตอาหารหล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศและ ชาวโลกเดือดร้อนสาหัสมากกว่าใครสูญรายได้มหาศาลที่จะมาจุนเจือครอบครัวขณะ ที่อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร หรือผู้ส่งออกก็อยู่ในสภาพรันทดไม่ต่างกันทั้งระบบซัพพลายเชน
ล่าสุดยางพาราที่ปกติทุกปีจะต้องเริ่มเปิดกรีดในเดือนพฤษภาคมนี้ ก็ต้องเลื่อนออกไปอีก 1-2 เดือน ตอนนี้น้ำยางสดกำลังขาดตลาดอย่างหนัก พ่อค้า ผู้ส่งออกวิ่งหาซื้อกันฝุ่นตลบ แต่ชาวสวนยางก็ไม่มีผลผลิตจะขาย
ในภาพรวมปีนี้พืชเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นฤดู เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และข้าวเปลือก แต่สภาพความเป็นจริงในขณะนี้พบว่าไม่มีผลผลิตอยู่ในมือเกษตรกรแล้ว ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับอานิสงส์จากราคาที่ดีขึ้น
อีกตัวอย่างก็คือ "ผลไม้" โดยเฉพาะแหล่งผลิตใหญ่ของประเทศที่จังหวัดจันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ทุเรียนเมืองนนท์ อุตรดิตถ์ (ทุเรียนหลง-หลิน) พิษณุโลก (มะม่วงส่งออก) รวมถึงเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ซึ่งปลูกลำไย ลิ้นจี่ มากที่สุดของไทย ก็ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ผลไม้ยืนต้นตายยกสวนจำนวนมาก ผลผลิตลดลงมากถึง 20-50%
ตอนนี้แม้จะเข้าสู่ฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกแล้ว เราก็แทบจะหาซื้อทุเรียน มังคุด เงาะ มารับประทานกันไม่ได้เลย ขณะที่ราคาก็พุ่งปรี๊ด ดูแล้วชาวสวนน่าจะดีใจ แต่เอาเข้าจริงคนปลูกบอกว่า ปีนี้ต้องสู้แล้งโดยลงทุนซื้อน้ำมารดผลไม้ บางสวนตัดใจทิ้งให้เงาะ มังคุดตายไป แต่ถนอมทุเรียนไว้เพราะได้ราคาดีกว่า แต่ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทวีคูณ นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมผลไม้จึงแพงมากปีนี้
จากนี้ไป ความท้าทายของทุกฝ่ายก็คือ กำลังซื้อคนฐานรากหดตัวอย่างหนัก การจับจ่ายในท้องถิ่นไม่สะพัด หนี้สินพอกพูนเป็นงูกินหาง แม้แต่ธุรกิจหลายประเภทก็เจอสภาพที่ไม่ต่างกัน เพราะสินค้าขายไม่ออก แต่คนที่ยังมีกำลังซื้อต่อเนื่องก็คือ มนุษย์เงินเดือน ภาคราชการ และกลุ่มคนมั่งคั่งระดับบนเท่านั้น
เป็นภาวะที่ "รวยกระจุก จนกระจาย" ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของรายได้และคุณภาพชีวิตทิ้งห่างกันมากยิ่งขึ้น แล้วเราจะก้าวข้ามไปอย่างไร...?
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน