จากประชาชาติธุรกิจ
ปัจจุบัน "กล้วยหอมทอง" กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาด "ญี่ปุ่น" มีความต้องการบริโภคกล้วยหอมออร์แกนิกจากไทยไม่อั้น ด้วยรสชาติที่หวาน หอม อร่อยถูกใจผู้บริโภคแดนปลาดิบ ทำให้ปีนี้เป็นปีทองของการส่งออกก็ว่าได้ ซึ่งผู้ส่งออกรายใหญ่ก็คือ "สหกรณ์การเกษตรท่ายาง" อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกรสวนกล้วยหอมทองกว่า 350 ราย
"มานะ บุญสร้าง" หัวหน้าฝ่ายการตลาดสหกรณ์การเกษตรท่ายาง บอกว่า เพชรบุรีเป็นพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองแหล่งใหญ่และคุณภาพเยี่ยมของประเทศ ซึ่งมีการจัดการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากการดึงเกษตรกรเข้าสู่ระบบสหกรณ์ แล้วให้ความรู้ด้านการปลูก การดูแลรักษาแบบออร์แกนิก ตลอดจนการบรรจุแพ็กกิ้งส่งออก ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องปลอดสารพิษตกค้าง เพราะญี่ปุ่นเป็นตลาดหลักจะเข้มงวดมากเรื่องการตรวจหาสารพิษตกค้าง
ปีนี้สัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 20% อีก 80% จำหน่ายในประเทศ ดีมานด์ทั้ง 2 ตลาดยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง แนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยในปี 2557 สหกรณ์การเกษตรท่ายาง มีรายได้ทั้งส่งออกและจำหน่ายในประเทศรวม 60 ล้านบาทโดยส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นจำนวน 500 ตัน มูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท แต่ปีนี้คาดว่าจะลดลงเหลือ 250 ตัน เพราะผลผลิตไม่เพียงต่อความต้องการตลาด ส่วนการจำหน่ายในประเทศปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2,500 ตัน มูลค่า 54 ล้านบาท
ขณะนี้สมาชิกของสหกรณ์ฯมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทอง 1,200 ไร่ และกำลังจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 300 ไร่ รวมทั้งสิ้น1,500 ไร่ เพื่อรองรับความต้องการที่เติบโตแบบก้าวกระโดด
สำหรับสถานการณ์ราคาปรับตัวสูงขึ้น 100% หากเทียบกับเมื่อปี 2557 นับว่าเป็นราคาที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี จากปัจจัยผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ประกอบกับภัยแล้งลุกลามอย่างหนัก ทำให้กล้วยหอมทองขาดตลาดในบางช่วงเวลา ไม่มีสินค้าวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด
จุดเด่นของกล้วยหอมทองเพชรบุรีคือสีเหลืองทองสวยงาม เนื้อแน่น ไม่หวานมาก เหมาะกับกลุ่มคนรักสุขภาพโดยสหกรณ์จะคัดเลือกกล้วยหอมที่มีความแก่ 70-80% ออกสู่ตลาด หากให้กล้วยหอมมีความแก่ 100% รสชาติจะไม่อร่อย
"มานะ" บอกอีกว่า จะเร่งเดินหน้าขยายพื้นที่ปลูกไปในพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกกล้วยหอมเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต ราคาดีความต้องการสูง ซึ่งจะดึงเกษตรกรเข้าสู่ระบบสหกรณ์ ข้อดีคือ หากราคาผันผวน เกษตรกรจะมีความเสี่ยงน้อย อีกทั้งยังรับซื้อไม่อั้น มีตลาดที่แน่นอน มีเงินปันผลให้สมาชิก และยังสามารถให้กู้เงินไปลงทุนทำสวนได้ พร้อมทั้งมีการแนะนำการปลูก การดูแลรักษา กล้าพันธุ์
ล่าสุดมีเกษตรกรปลูกผักสวนครัวกว่า 100 ราย หันมาปลูกล้วยหอม และแนวโน้มจะมีการปลูกกล้วยหอมทองในจังหวัดเพชรบุรีมากขึ้นท่ามกลางราคาข้าว ยางพารา ที่ร่วงต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำสวนกล้วยหอมแล้วประสบความสำเร็จ เพราะต้องมีความรู้ การดูแลรักษาที่ดี
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของ "ประชาชาติธุรกิจ" พบว่า นอกจากสหกรณ์การเกษตรท่ายาง เพชรบุรี จะเป็นผู้ส่งออกกล้วยหอมทองแล้ว ขณะนี้ยังมีผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นเข้าไปรับซื้อกล้วยหอมทองออร์แกนิกในพื้นที่อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานีอีกด้วย ซึ่งตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการกล้วยหอมจากไทยจำนวนมาก แต่การปลูกแบบออร์แกนิกยังมีไม่มาก เพราะทำยาก มาตรฐานสูง นอกจากนั้นยังมีการส่งออกไปประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง ส่วนคู่แข่งสำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ และเอกวาดอร์
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย