สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิถีชีวิตที่ถูกสั่นคลอนของ ชาวเทพา ก่อนโรงไฟฟ้าจะมาถึง

จาก โพสต์ทูเดย์

เรื่องและภาพโดย ปริตตา หวังเกียรติ


“ตายเหม็ด! ปลาตายเหม็ดแล้ว!”

เสียงร้องของชายคนหนึ่งดังขึ้นที่กระชังปลาริมฝั่งคลองเทพา ฉัน บังหมิด และชาวบ้านส่วนหนึ่งรีบรุดเดินตามเสียงไป เราพบปลากะพงหลายสิบตัวนอนนิ่งหงายท้องขาวๆบนผิวน้ำภายในกระชัง ปลาบางตัวกำลังดิ้นพล่าน ก่อนที่จะแน่นิ่ง ลอยตามขึ้นมา

เจ๊ะอู่สิง หลีเจริญ เจ้าของต้นเสียงกำลังใช้กระชอนช้อนปลาขึ้นมาจากผิวน้ำทีละตัว เจ้าของกระชังปลาเจ้าอื่นทยอยปรากฏตัวขึ้นด้วยสีหน้าไม่สู้ดีนัก ปลาในกระชังของพวกเขาก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน

“มีไหรกันๆ”

“ปลาตายเหม็ด น่าว่าเพราะมีการเทปูนของงานก่อสร้างที่เหนือน้ำ”

“แลปลาต๊ะ ตาขุ่นขาว ผิวแดงถลอก น่าว่าหมัน”

“ตอนนี้ แค่มีน้ำปูนปนน้ำ พวกผมก็ลำบากแรงแล้ว หากมีถ่านหิน พวกผมจะอยู่กันพรือ” เจ๊ะอู่สิงกล่าวขึ้น

‘ถ่านหิน’ คล้ายว่าจะกลายเป็นศัพท์บัญญัติใหม่ที่ถูกกล่าวถึงบ่อยขึ้นในกลุ่มชาวบ้านต.ปากบาง หมู่ 4 อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกเสนอให้เป็นที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเรือขนส่งถ่านหิน

‘สะอาดได้พรือ?’

ความวุ่นวายที่เกิดจากเรื่อง"ปลาตาย"ยามเช้านี้ ช่างดูขัดแย้งกับบรรยากาศเงียบสงบรอบๆที่ฉันสัมผัส ชุมชนปากบางมีความเป็นอยู่เรียบง่าย บ้านเรือนส่วนมากเป็นบ้านไม้หรือบ้านก่อปูนชั้นเดียวมีสวนล้อมรอบ ใกล้ชุมชนมีลำคลองยาวพาน้ำจากเทือกเขาสันกาลาคีรีมาบรรจบทะเลอ่าวไทยที่ปากคลองเทพา แหล่งการทำประมงพื้นบ้านอันเป็นรายได้หลักของชุมชน ควบคู่กับการทำสวนยางพารา

บังหมิด หรือ หมิด ชายเต็ม ยืนดูปลาตายเกลื่อนในกระชังปลาของเพื่อนด้วยความหวาดหวั่น คล้ายมองอนาคตของตัวเองเมื่อโครงการโรงไฟฟ้าฯจะลงทับที่บ้านของตน ปลาในกระชังตายเพราะน้ำปูนจากการก่อสร้างขนาดเล็กในวันนี้ เสมือนเป็นการกระตุกความหวาดหวั่นต่อผลกระทบที่อาจเกิดจากโครงการขนาดใหญ่กว่านั้นหลายเท่า

เกือบ 100 ครัวเรือนต้องอพยพออกจากพื้นที่ คำถามเกิดขึ้นมากมายถึงความไม่ชัดเจน ว่าพวกเขาต้องไปอยู่ที่ไหน? มีงานทำไหม? ชาวบ้านเดิมที่อยู่รอบโครงการจะยังคงพึ่งพิงทรัพยากรทะเลได้อย่างที่เป็นอยู่หรือไม่?

“เขาแหลงกับเราว่าถ่านหินสะอาด” บังหมิดพูดขึ้น “มันจิสะอาดได้พรือ แค่ลำพังตอนนี้แค่โครงการยังไม่ทันมาลง พวกเราก็เริ่มเดือดร้อนกันแล้ว”

ความเดือดร้อนที่ว่าคือความกังวลอย่างหนักที่สุมคลุมผู้คัดค้านโครงการ ทั้งเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต ขณะเดียวกันความขัดแย้งภายในชุมชนกำลังค่อยๆก่อร่างสร้างตัวระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน น้ากับหลานต่อยกัน การแสดงท่าที่สนับสนุนโครงการของผู้นำชุมชนหลายคนทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันระหว่างผู้นำและลูกบ้าน การพูดถึงถ่านหินได้กลายเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนของชุมชน

เรื่องน่าหนักใจไม่น้อยไปกว่ากัน คือเรื่อง ‘กูโบร์’ อันเป็นที่รักษาศพของบรรพบุรุษผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำให้ลูกหลานมีวันนี้ เมื่อคนอิสลามฝังศพแล้ว ธรรมเนียมคือลูกหลานต้องดูแล ไม่สามารถขุดศพขึ้นมาได้อีก และกูโบร์นี้จะอยู่ชิดขอบโรงไฟฟ้าในอนาคต

บังหมิดยังคงจำภาพที่เกิดขึ้นในวันจัดเวทีประชาพิจารณ์ผลการประเมินกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการโรงไฟฟ้าฯและท่าเรือถ่านหินครั้งที่ 3 ได้อย่างถี่ถ้วน

ย้อนกลับไปเมื่อ 27-28 ก.ค. ที่องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง มีผู้มาร่วมเวทีหลายพันคน เสื้อโต๊ปชายสีขาวถูกแจกให้กับผู้เข้าร่วมงานเพื่อการละหมาด ลวดหนามขึงพรืดกลางถนน รถหุ้มเกราะตำรวจตระเวนรอบพื้นที่ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนคุมอย่างแน่นหนา ณ ปากทางเข้าเวทีมีบอร์ดขนาดใหญ่สกรีนคำสั่งผู้ว่าราชการสงขลา เนื้อหาคือการห้ามการชุมนุมของ “ผู้เห็นต่าง” ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯอันก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ผู้คัดค้านโครงการเข้าขอพบผู้ว่าฯ ในมือถือป้ายมีข้อความคัดค้านโครงการ แต่กติกาของเวทีครั้งนี้ไม่อนุญาตให้มีการแสดงป้ายในบริเวณงาน พวกเขาเลือกที่จะไม่ลดป้ายเพราะนั่นคือวิธีการแสดงความเห็นอย่างหนึ่ง

“มีที่ไหน โครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้ใช้เวลาทำประชาพิจารณ์เพียง 9 เดือน” บังหมิดกล่าวอย่างอัดอั้น พลางนึกถึงเวทีประชาพิจารณ์ครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ย. 2557 ข้าวสารถูกแจกแก่ผู้เข้าร่วมเวที

ในมุมมองของบังหมิด คำว่า ‘สะอาด’ คงหมายถึงการเคารพกันและกัน การยอมรับในวิถีและวัฒนธรรมของชุมชนกระมัง

โรงไฟฟ้าสะอาดเพื่อความมั่งคง 

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเรือถ่านหินกำลังถูกผลักดันโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บนพื้นที่ 2,960 ไร่ ในต.ปากบาง หมู่ 4 เพื่อเพิ่มกำลังไฟฟ้าผลิตในภาคใต้ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan 2015 หรือ PDP 2015) ที่ต้องการเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกถึง 9 แห่งในประเทศไทยเพื่อทดแทนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีกำลังผลิตติดตั้งรวม 2,200 เมกะวัตต์ (MW) ประกอบด้วย 2 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 1,100 MW กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เครื่องที่ 1 ในปี 2564 และเครื่องที่ 2 ในปี 2567 จะมีการทำท่าเทียบเรือถ่านหินยาวลงไปในทะเล 3 กิโลเมตรเพื่อรองรับการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ โดยจะมีการใช้ถ่านหินประมาณ 21,700 ตัน/วัน กฟผ.คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ในปี 2560

ระหว่างเวทีประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3 ว่าที่พันตรี ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกฟผ. ยืนยันว่าเวทีประชาพิจารณ์ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายในทุกขึ้นตอน พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นต่อมาตรการและเทคโนโลยีการดักจับมลพิษของกฟผ.

จากข้อมูลของกฟผ. ถ่านหินนำเข้าเป็นประเภทซับบิทูมินัสและบิทูมินัสซึ่งให้ความร้อนสูงและสร้างมลพิษน้อยกว่าถ่านหินประเภทลิกไนต์ที่ใช้ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะในปัจจุบัน กฟผ.วางงบประมาณเป็นมูลค่าถึง 1 ใน 3 ของโครงการ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาทเพื่อลงทุนทำเทคโนโลยีดักจับมลสารต่างๆให้เหลือน้อยที่สุด และมีการนำน้ำเสียที่เกิดในกระบวนการมาบำบัดและใช้ใหม่ทั้งหมด ยกเว้นน้ำในระบบหล่อเย็นและระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่จะมีการปรับคุณสมบัติให้ใกล้เคียงกับน้ำทะเลก่อนระบายออกสู่ภายนอก นี่คือส่วนหนึ่งของที่มาของ ‘ถ่านหินสะอาด’ 

“กระบวนการทั้งหมดทำในระบบปิด ผลกระทบจะเกิดน้อยมาก และคนเทพาส่วนมากก็เห็นด้วยกับโครงการนี้ เราได้หารือกับชุมชนแล้ว เขาพร้อมจะรับการชดเชย”ดร.อนุชาติกล่าว

การชดเชยนั้นรวมถึงค่าที่ดินและต้นไม้ในกรณีที่ต้องอพยพออก กฟผ.มีนโยบายจ้างแรงงานท้องถิ่น 100% โดยจะมีความต้องการแรงงานก่อสร้าง 3,000 ตำแหน่ง และพนักงานเดินเครื่อง 300 ตำแหน่ง

ดร.อนุชาติเชื่อว่า โครงการโรงไฟฟ้าจะนำการลงทุนเข้ามาและสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้ถือว่าเป็นพื้นที่สีแดง รวมทั้งจะมีการให้สิทธิประโยชน์จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแก่คนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินของโรงไฟฟ้า

ยากจนหรือมั่งคั่ง

ป้ายเขียนด้วยมือ “คนเทพาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ถูกขึงติดตรงหน้าบ้านหลายหลังในพื้นที่โครงการ หนึ่งในนั้นคือบ้านของ ดุนรอหะ ประสิทธิ์หิมะ หรือ บังหะ

บ้านของบังหะล้อมรอบด้วยสวนยางพาราสูงใหญ่ น้ำยางเป็นอีกหนึ่งรายได้หลักของชุมชนรองจากการทำประมง บังหะออกมาต้อนรับฉันและชาวบ้านด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แม้ว่าเขาจะกลายเป็นอีกหนึ่งผู้ถูกอพยพออกจากบ้านเกิด

ฉันพบหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งในบ้าน รูปผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่นหลายคนถูกตัดต่อเรียงแถวในกระดาษหน้าใหญ่ หน้าถัดไปมีบทสัมภาษณ์ของเขาเหล่านั้นในทิศทางเห็นชอบกับโครงการโรงไฟฟ้าฯ หนึ่งในนั้นคือ พณวรรธน์ พงศ์ประยูร หรือ ครูขิ้ม ที่ปรึกษาศูนย์ดำรงธรรมและครูผู้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในเทพา

ก่อนหน้านี้ ฉันเพิ่งได้พูดคุยกับพณวรรธน์สั้นๆในเวทีประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3 เขาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการหลัก ฉันยังคงจำวลีที่เขาเอ่ยได้แม่นว่า “ชาติใดไม่มีพลังงาน ชาตินั้นเป็นมหาอำนาจไม่ได้”

เขาอธิบายว่า ทะเลเทพาไม่มีความอุดมสมบูรณ์อีกแล้วเพราะถูกอวนลาก อวนรุน กวาดทรัพยากรไปจนหมด ดินในพื้นที่โครงการก็เป็นดินทราย ปลูกพืชผลไม่ดีนัก ดังนั้น โรงไฟฟ้าฯจะเพิ่มมูลค่าให้พื้นที่จากที่ไม่มีมูลค่าใดเลย

“ถ่านหินถูกและสะอาด เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าให้ภาคใต้และเร่งการเติบโตด้านเศรษฐกิจ เพราะการเติบโตของมนุษย์ต้องใช้ไฟฟ้า” เขากล่าวกับฉันด้วยสีหน้าภาคภูมิใจที่โรงไฟฟ้ากำลังจะสร้างความมั่นคั่ง

แต่คำอธิบายของพณวรรธน์ทำให้ฉันรู้สึกสับสนพอสมควรเมื่อเห็นภาพตรงหน้า แม้รายได้หลักคือการกรีดยาง ครอบครัวของบังหะอยู่ได้อย่างสมถะ ภายในบ้านของเขามีเฟอร์นิเจอร์เพียงน้อยชิ้น ใช้หลอดไฟไม่กี่หลอด ไม่มีโซฟารับแขกเหมือนอย่างบ้านในเมืองใหญ่ เรานั่งกันบนพื้นบ้านปูกระเบื้องพลางสนทนาเรื่องลูกๆของเขาที่ได้เรียนหนังสือทุกคน ไม่ไกลจากบ้านเขา กุ้ง ปู ปลา ถูกลำเลียงขึ้นส่งร้านค้าชุมชนข้างคลองเทพาอย่างไม่ขาดสาย สินค้าประมงถูกบริโภคในพื้นที่หรือส่งไปไกลถึงภายในจังหวัดสงขลาและปัตตานี

เมื่อไหร่กันที่การนั่งพื้น การกรีดยาง หรือแม้แต่การทำประมงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความยากจน ถึงกับต้องเอาสิ่งก่อสร้างมาแทนที่เพื่อแสดงถึงความมั่งคั่ง

“จะให้เปลี่ยนได้พรือ ชีวิตผมอิสระแบบนี้ วันไหนอยากออกไปจับปลาก็ออก วันไหนอยากพักก็พัก ไม่เคยอดสักมื้อ" มะแอ หวันวัง ชาวประมงในต.ปากบาง หมู่ 4 กล่าว

คำพูดของเขาตีความอีกนัยหนึ่งว่า เขาทำงานโดยเป็นนายของงาน ไม่ใช่งานเป็นนายของเขา แต่คนเมืองที่โตมาภายใต้สังคมตอกบัตรเข้างานคงคิดว่าเขาจนนัก หารู้ไม่ว่าชาวประมงพื้นบ้านบางคนทำรายได้เหยียบแสนบาทต่อเดือน เพียงแต่ต้องเอาไปเกื้อกูลเลี้ยงสมาชิกทั้งครอบครัว

อีกด้านหนึ่ง ยูโส๊ะ วาเซ็ง กำลังรับแขกที่ชานหน้าบ้านของเขาในต.ปากบาง หมู่ 3 ระยะ 3 กม.จากที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าฯ ใกล้ๆชานมีชั้นไม้โปร่ง บนนั้นมีกล่องไม้สำหรับเลี้ยง ‘ผึ้งชันโรง’ ซึ่งผลิตน้ำผึ้งเกรดดีอันเป็นที่ลือชาเรื่องคุณสมบัติด้านการรักษาโรค ราคาน้ำผึ้งขวดหนึ่งอยู่ที่ 1,000-1,500 บาท ส่วนรายได้ต่อเดือนของเจ้าของฟาร์มเช่นยูโส๊ะนั้นก็เหยียบแสนเช่นกัน แต่เขาสามารถมีเวลาชื่นชมธรรมชาติและดูแลครอบครัวได้อย่างเต็มที่

เขาไม่ต้องให้อาหารกับผึ้ง เพราะผึ้งพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนใกล้ๆ ซึ่งสร้างละอองเกสรตามธรรมชาติให้เป็นอาหาร เขาแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่ของโครงการโรงไฟฟ้าฯต่อสภาพแวดล้อม เพราะนั่นหมายถึงการทำฟาร์มผึ้งของเขาอาจถึงจุดจบ

ไม่ต่างกัน ทั้งสัตว์และผู้คนที่อิงแนบอยู่กับความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมที่มีทั้งความเข้มแข็งและเปราะบางในตัว และเมื่อถึงคราวจนมุม อาจเข้มแข็งหรือเปราะบางได้มากยิ่งขึ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

โรงไฟฟ้าเพื่อคนเทพา?

45 กิโลเมตรจากอ.เทพา กิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้แทนเครือข่ายชาวจะนะรักษ์ถิ่น กำลังนั่งจิบน้ำสมุนไพรทำเองตรงหน้าบ้านใกล้ตลาดอ.จะนะ แหล่งเพาะพันธ์นกเขาชวาอันมีชื่อเสียง 

เมื่อ 10 ก่อน กิตติภพเข้าร่วมคัดค้านการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าจะนะ แต่แรงต้านภาคประชาชนไม่สามารถหยุดโครงการได้ โรงไฟฟ้าจะนะชุดที่ 1 ได้ก่อสร้างและเริ่มดำเนินการในปี  2551 ด้วยกำลังผลิต 746.8 MW ตามด้วยโรงไฟฟ้าจะนะชุดที่ 2 กำลังผลิต 860 MW เริ่มดำเนินการในปี  2557 โดยใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเชียในอ่าวไทยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต

แค่โรงไฟฟ้า 2 โรงยังไม่พออีกหรือสำหรับภาคใต้ เรื่องนี้มีคำถาม ว่าไฟฟ้าที่ผลิตใหม่จะนำไปให้ใคร ทุกวันนี้ อากาศที่จะนะได้รับผลกระทบ รวมถึงนกเขาชวาและฐานอาชีพคน อยู่ๆก็เอาถ่านหินมาที่เทพาอีก เขาพยายามแยกให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเรื่องของคนเทพาเท่านั้น เหมือนยุทธวิธีที่ใช้กับโรงไฟฟ้าจะนะ ทั้งที่ทะเลและอากาศเชื่อมต่อกันหมด หากถูกทำลาย เราจะเหลืออะไร”กิตติภพกล่าว

จากข้อมูลของกฟผ. ภาคใต้มีกำลังไฟฟ้าผลิตประมาณ 2,885 MW ใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 2,600 MW กระทรวงพลังงานได้คาดการณ์ไว้ว่าภาคใต้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นที่ 5% ต่อปี หรือเพิ่มเป็น 3,062 MWในปี 2562 ด้วยธุรกิจภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เราอยู่ในยุคแห่งการประโคมข้อมูล อยู่ที่ว่าเราจะเชื่อข้อมูลชุดไหน

จากการวิเคราะห์ของ สันติ โชคชัยชำนาญกิจ นักวิชาการกลุ่มจับตาพลังงาน ระบุว่า กำลังผลิตรวมของภาคใต้ในปัจจุบันมีถึง 4,630 MW ประกอบด้วยแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา (240) และเขื่อนบางลาง (72) โรงไฟฟ้าจะนะ (1,476) โรงฟ้าขนอม (748) โรงไฟฟ้ากระบี่ (315) การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก (29) การส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง (650) สำรองฉุกเฉิน (550)และการซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย (300) นั่นหมายความว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอาจไม่มีความจำเป็น แต่แผน PDP 2015 ต้องการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้า โดยทดแทนด้วยถ่านหินจากการนำเข้าเช่นกัน หากแต่ว่า ถ่านหินสำรองในโลกนี้สามารถใช้ได้อีกเป็นระยะเวลายาวนานถึง 100-200 ปี และเป็นที่หมายตาของทุนใหญ่ในการขยายธุรกิจด้านพลังงาน

ฉันพูดคุยกับชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและจะนะจำนวนหนึ่ง ที่เชื่อว่ากระแสไฟฟ้าจะถูกนำไปสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคตมากกว่าที่จะหนุนการใช้สอยในครัวเรือนเป็นหลัก สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของภาคธุรกิจที่มองว่าโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ในอนาคตจะเอื้อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้ามากในอนาคต

ตั้งแต่รัฐบาลคสช.ได้เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีการนำโครงการพัฒนาในภาคใต้มาปัดฝุ่นใหม่ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือสงขลา 2 แลนด์บริดสตูล-สงขลา และการหมายมั่นปั้นมือของรัฐบาลที่จะตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดสงขลาและนราธิวาส

นั่นหมายถึงถ่านหินอาจไม่ใช่เรื่องเฉพาะของคนเทพาอีกต่อไป แม้ว่าเวทีประชาพิจารณ์ของโครงการโรงฟ้าฯและท่าเรือถ่านหินจะวางกรอบผู้เข้าร่วมที่อยู่ในระยะรัศมี 5 กม.จากโครงการ และบ่อยครั้งที่ได้ยินสโลแกนจากผู้นำชุมชนว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อคนเทพา”

กิตติภพเล่าว่า ชาวบ้านบางกลุ่มในอ.จะนะและอ.เทพากำลังริเริ่มตั้งสหกรณ์พลังงาน เพื่อให้ชุมชนสามารถหาเงินทุนไปริเริ่มการทำกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในครัวเรือน และยังมีความเคลื่อนไหวในการฟื้นฟูนาข้าว การทำวนเกษตร สวนสมุนไพรและมีการลงปฏิญญากันว่าจะผลักดันให้ทะเลจะนะและเทพาเป็นแหล่งอาหารอาเซียน

“เราเพิ่งเริ่มตั้งไข่ โรงไฟฟ้าถ่านหินก็มา ทั้งที่การพึ่งพาตัวเองคือทิศทางที่เราจะอยู่รอด”


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : วิถีชีวิตที่ถูกสั่นคลอนของ ชาวเทพา ก่อนโรงไฟฟ้าจะมาถึง

view