สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สำรวจพบ ปลาดิบ ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเกินเกณฑ์ คาดใช้มีด เขียง ปนของดิบอื่น

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

        ผลตรวจเฝ้าระวังปลาแซลมอนนำเข้าช่วง 3 ปี ไม่พบโลหะหนักปนเปื้อนเกินเกณฑ์ที่กำหนด แต่พบปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ แบคทีเรียเกินเกณฑ์อื้อ คาดปนเปื้อนทั้งจากในธรรมชาติ ขณะแล่ปลาดิบ ใช้มีด เขียง ร่วมกับของดิบอื่น สุขอนามัยคนทำแย่
       
       นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคเนื้อปลาแซลมอน ทั้งแบบปรุงสุกและแบบปลาดิบหรือ "ซาซิมิ" อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการส่งต่อผ่านสังคมออนไลน์ถึงความไม่ปลอดภัยในการบริโภคเนื้อปลา แซลมอน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวล กรมฯ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร จึงร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังความปลอดภัย โดยการตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก 3 ชนิด ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะมีการปนเปื้อน คือ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม ในเนื้อปลาแซลมอนที่นำเข้าตั้งแต่ปี 2555 - ปัจจุบัน โดยพบว่า โลหะหนักทั้งสามตัวตรวจพบมีปริมาณต่ำมากและไม่เกินค่าที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดไว้
       
       นพ.อภิชัย กล่าวว่า ส่วนซาซิมินั้น ระหว่าง พ.ค.-มิ.ย. 2556 ได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารญี่ปุ่นเมนูซาชิมิ ที่ทำจากปลาทะเลดิบจากภัตตาคาร/ร้านอาหารญี่ปุ่น จำนวน 32 ร้าน จากซูเปอร์มาร์เก็ต 10 แห่งและมินิมาร์ท 1 แห่งใน กทม.และปริมณฑล รวมทั้งหมด 52 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์และพยาธิตัวกลม โดยตรวจหาจุลินทรีย์ 2 กลุ่ม คือ จุลินทรีย์ที่บ่งชี้สุขลักษณะการผลิต ได้แก่ จำนวนจุลินทรีย์รวม และอีโคไล และจุลินทรีย์ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ 5 ชนิด ได้แก่ เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส , วิบริโอ คอเลอเร , ซาลโมเนลลา , ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส และสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส และพยาธิตัวกลมกลุ่มอนิสซาคิส (Anisakidae) โดยพบว่า จุลินทรีย์ที่บ่งชี้สุขลักษณะการผลิตเกินเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหาร และภาชนะสัมผัสอาหาร จำนวน 37 ตัวอย่าง ส่วนจุลินทรีย์ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษเกินเกณฑ์ฯ 7 ตัวอย่าง แต่ตรวจไม่พบพยาธิกลุ่มอนิสซาคิส
       
       "การปนเปื้อนของจุลินทรีย์อาจเกิดจาก การปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม หรือปนเปื้อนจากน้ำทะเลตามธรรมชาติ รวมไปถึงการปนเปื้อนขณะแล่และหั่นปลาดิบ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการปนเปื้อนมาจากอาหารดิบอื่นๆ โดยการใช้อุปกรณ์เครื่องครัว เช่น มีด เขียงและภาชนะร่วมกัน โดยไม่ได้ล้างให้สะอาด แต่บางกรณีการปนเปื้อนเชื้อซาลโมเนลลาและอีโคไล ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในอุจจาระของคน และสัตว์นั้นอาจมาจากผู้ประกอบการมีสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ล้างมือให้สะอาดภายหลังการเข้าห้องน้ำ" อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
       
       นพ.อภิชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ การเลือกซื้อเนื้อปลาทะเลที่แล่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ควรสอบถามแหล่งที่มาของปลา และเลือกปลาที่เตรียมแบบ sashimi grade บรรจุในภาชนะที่ปิดเรียบร้อย เพื่อป้องกันการปนเปื้อน และเก็บรักษาในอุณหภูมิแช่เย็นตลอดอายุการจำหน่าย เพื่อควบคุมการเพิ่มปริมาณของเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากเป็นอาหารที่เน่าเสียง่ายจึงควรรีบรับประทานให้หมดภายในวันที่ซื้อ ส่วนผู้ประกอบอาหารและผู้แล่ปลา ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหาร และถ้ามีบาดแผลที่มือให้ปิดพลาสเตอร์ และใส่ถุงมือขณะประกอบอาหาร เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนเชื้อสู่อาหาร


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : สำรวจพบ ปลาดิบ ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเกินเกณฑ์ คาดใช้มีด เขียง ปนของดิบอื่น

view