สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกาหลีใต้โล่งวิกฤต เมอร์ส เริ่มเบาบาง WHOชื่นชมไทยรับมือผู้ติดเชื้อรวดเร็วฉับไว

เกาหลีใต้โล่งวิกฤต'เมอร์ส'เริ่มเบาบาง WHOชื่นชมไทยรับมือผู้ติดเชื้อรวดเร็วฉับไว

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       เอเอฟพี - เกาหลีใต้เผยในวันศุกร์(19มิ.ย.) ว่าการแพร่ระบาดของเมอร์ส ที่คร่าชีวิตประชาชนไปแล้ว 24 ศพ มีท่าทีเริ่มลดลงแล้ว หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่แค่คนเดียว ถือเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ ขณะที่องค์การอนามัยโลกชื่นชมไทยรับมือกับผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศได้ อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
       
       ด้วยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่แค่คนเดียวในวันศุกร์(19มิ.ย.) ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อไวรัสกลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลางในเกาหลี ใต้ นับตั้งแต่ตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม เพิ่มเป็น 166 คน ถือเป็นการแพร่ระบาดรุนแรงที่สุดนอกเหนือจากซาอุดีอาระเบีย
       
       ในส่วนของจำนวนประชาชนที่ถูกกักกันก็ลดลงจากวันพฤหัสบดี(18มิ.ย.) ร้อยละ 12 เหลือ 5,930 คน หนึ่งวันหลังจากไทยยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้รายแรกในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้
       
       รัฐบาลของประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อการตอบสนองที่ไม่เพียงพอในช่วงแรกๆ แต่ มากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก(WHO) มองในแง่บวกอย่างระมัดระวังเมื่อวันพฤหัสบดี(18มิ.ย.) ต่อประสิทธิภาพของเกาหลีใต้ในการยับยั้งการแพร่ระบาด หลังจากเดิมที WHO ได้ให้คำจำกัดความการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ว่าเป็นเหมือนสัญญาณปลุกให้ทุกคน ตื่นขึ้น
       
       หมู่บ้านในชนบทแห่งหนึ่งซึ่งถูกปิดตายตามมาตรการกักกันโรค กลับมาเปิดการเข้าออกและอนุญาตให้ชาวบ้านราว 102 คนได้ใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง "ดูเหมือนว่าการแพร่ระบาดเริ่มลดลงแล้ว" เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขรายหนึ่งในกรุงโซลบอก "แต่เราต้องรอดูว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ตามโรงพยาบาลต่างๆหรือไม่"
       
       สำหรับผู้ติดเชื้อรายล่าสุดเป็นชายวัย 62 ปี ที่ติดไวรัสระหว่างดูแลสมาชิกของครอบครัวที่ป่วยด้วยเชื้อร้ายนี้ ณ ศูนย์การแพทย์ซัมซุงในกรุงโซล ศูนย์กลางของการแพร่ระบาด ซึ่งในบรรดาผู้ติดเชื้อทั้งหมด มีกว่าครึ่งที่ได้รับเชื้อในโรงพยาบาลดังกล่าว
       
       โรงพยาบาลแห่งนี้ถึงขั้นต้องระงับให้บริการผู้ป่วยที่ไม่ได้ติดเชื้อ เมอร์สตั้งแต่วันอาทิตย์(14มิ.ย.)ที่ผ่านมา ไปจนถึงวันพุธหน้า(24มิ.ย.) ส่วนคนไข้ที่อื่นๆก็ถูกย้ายไปยังศูนย์แพทย์อื่นหลายแห่ง
       
       ปัจจุบันยังเหลือผู้ป่วยเมอร์สอยู่ในโรงพยาบาลซัมซุง 112 คน ขณะที่ 30 คนฟื้นไข้และได้รับอนุญาตกลับบ้านแล้ว
       
       หมู่บ้านแจงด็อค ในเมืองซันชาง ทางใต้ของกรุงโซล กลับสู่ภาวะปกติแล้ว หลังมาตรการปิดกั้นเส้นทางที่บังคับใช้มานาน 2 สัปดาห์ตามหลังมีชาวบ้านวัย 72 ปีคนหนึ่งถูกตรวจพบว่าติดเชื้อเมอร์ส ถูกยกเลิกในวันศุกร์(19มิ.ย.) ส่วนหมู่บ้านอีกแห่งที่อยู่ภายใต้มาตรการกักกันโรค ก็คาดหมายว่าจะดำเนินการแบบเดียวกันในวันจันทร์(22มิ.ย.) เนื่องจากไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่แล้ว
       
       ในกรุงเทพฯ ทางการไทยเผยในวันศุกร์(19มิ.ย.) ว่าญาติๆ 3 คนของชายชาวโอมานวัย 75 ปีที่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อเมอร์ส มีผลตรวจ 2 รายออกมาเป็นลบ ส่วนอีกคนยังสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ตามนพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกกับเอเอฟพีว่า "เราจะตรวจเช็กทั้ง 3 อีกครั้ง" แต่ก็ไม่ได้ให้กรอบเวลาใดๆ
       
       เอเอฟพีรายงานว่าไทยที่ตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์กำลังเป็นที่ นิยมในหมู่ผู้ป่วยจากตะวันออกกลาง แถลงพบคนไข้ที่มีผลตรวจเมอร์สออกมาเป็นบวกรายแรกในวันพฤหัสบดี(18มิ.ย.) ไม่กี่วันหลังจากเขาเดินทางเข้าประเทศพร้อมกับครอบครัวเพื่อรักษาโรคหัวใจ และจนถึงช่วงค่ำวันศุกร์(19มิ.ย.) นพ.สุรเชษฐ์ เผยว่าอาการของคนไข้ทรงตัว
       
       ด้านโฆษกกระทรวงสาธารณสุขบอกกับเอเอฟพีว่าทางการไทยกำลังสังเกตอาการ ประชาชน 85 คนที่สัมผัสกับชายชาวโอมานคนดังกล่าว ในนั้นรวมถึงคนที่อยู่บนเที่ยวบินเดียวกัน ในโรงพยาบาลหรือที่บ้านของพวกเขา
       
       ส่วนผศ.นพ.มนต์เดช สุขปราณี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สถานพยาบาลที่ชายชาวโอมานเข้ารักษาตัวเป็นแห่งแรก เผยว่าได้กักกันโรคเจ้าหน้าที่ 58 คน แต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเมอร์สรายใหม่
       
       ในเวลาต่อมาที่เจนีวา คริสเตียน ลินด์เมเออร์ โฆษกขององค์การอนามัยโลก แถลงยกย่องไทยที่ลงมือและเฝ้าระแวดระวังอย่างทันทีทันใด ในการกักกันโรคผู้ป่วยเมอร์สรายแรกและญาติๆของเขา


ผู้ป่วย "เมอร์ส" อาการดีขึ้น แต่หายใจเองไม่ได้ ขยายกลุ่มเสี่ยงสูงต้องติดตาม 66 ราย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

       สธ.เผยผู้ป่วยเมอร์สอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ แต่ปอดยังบวม หายใจเองไม่ได้ แต่พบ "ลูกชาย-น้องชาย" เริ่มมีอาการป่วย ระบุอยู่ห้องแยกโรคแล้ว ไม่ต้องกังวล เร่งเก็บตัวอย่างวิเคราะห์เชื้อ ขยายจำนวนผู้สัมผัสโรคเสี่ยงสูงในไทย 66 ราย เป็นคนบุรีรัมย์ 1 ราย ยังติดตามตัวไม่ได้ และกลุ่มเสี่ยงต่ำในไทย 75 ราย ขอ WHO ส่งผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลระบบ ยันไม่ระบาดแบบเกาหลี
       
       หลังจากชายชาวตะวันออกกลางอายุ 75 ปี เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส มายังประเทศไทย และพบว่ามีอาการไข้ ไอ เหนื่อยหอบ ได้เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในห้องแยกโรคความดันลบ โดยผลการตรวจวิเคราะห์เชื้อพบว่าป่วยเป็นโรคเมอร์ส ซึ่งขณะนี้ได้ส่งตัวมารักษาต่อที่สถาบันบำราศนราดูร พร้อมเฝ้าะรังญาติที่เดินทางมาด้วยอีก 3 ราย เนื่องจากเป้นผู้สัมผัสใกล้ชิด และกำลังติดตามผู้มีประวัติสัมผัสอีก 59 รายนั้น

        ล่าสุด วันนี้ (19 มิ.ย.) เมื่อเวลา 12.30 น. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ นพ.ศุภมิตร์ ชุณสุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คร. และ นพ.ธนะรักษ์ ผลิพัฒน์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา คร. แถลงข่าวความคืบหน้าในเรื่องนี้ ว่า ได้รับรายงานจาก ผอ.สถาบันบำราศฯ ว่า อาการของผู้ป่วยรายนี้ดีขึ้น ไม่มีอาการทรุดลง ซึ่งยังคงต้องรักษาแบบประคับประคองอาการ ด้วยการให้น้ำเกลือ อาหาร ออกซิเจน และยาเพื่อลดไข้ เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสรักษา สำหรับการติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยรายนี้มีทั้งหมด 161 คน ซึ่งมีทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำ แบ่งเป็นผู้โดยสารรวมลูกเรือจำนวน 106 คน คนขับแท็กซี่ 2 คน เจ้าหน้าที่ รพ.เอกชน 47 คน และโรงแรมอีก 6 คน
       
       ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มี ความเสี่ยงสูงมีจำนวน 68 ราย แบ่งเป็น 1.ผู้โดยสารสองแถวหน้าและสองแถวหลังของผู้ป่วย 21 ราย ซึ่งขณะนี้ติดตามได้แล้ว 3 ราย คือญาติของผู้ป่วยอยู่ในห้องแยกโรคสถาบันบำราศฯ เพื่อติดตามตามอาการ ส่วนที่เหลืออีก 18 คนนั้น เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางออกนอกประเทศไทยไปแล้ว 2 คน เป็นคนไทยมีภูมิลำเนา จ.บุรีรัมย์ 1 คน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถติตตามตัวได้ และชาวต่างชาติอีก 15 คน ยังอยู่ในประเทศไทย สามารถติดตามได้แล้วบางราย และ 2.เจ้าหน้าที่ รพ.เอกชนอีก 47 ราย สรุปกลุ่มเสี่ยงสูงที่ยังอยู่ในไทยคือ 66 ราย ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลางหรือเสี่ยงต่ำนั้น มีจำนวน 93 ราย แบ่งเป็น 1.ผู้โดยสารที่มาเที่ยวบินเดียวกัน 85 ราย แต่เปลี่ยนเครื่องออกนอกประเทศไปแล้ว 6 ราย เป็นลูกเรือ 12 ราย เดินทางออกนอกประเทศไปแล้วเช่นกัน เหลือที่ต้องติดตามในไทยอีก 67 ราย 2.คนขับรถแท็กซี่ 2 ราย สามารถตามตัวได้แล้ว 1 ราย อยู่ระหว่างติดตาม 1 ราย และ 3.พนักงานโรงแรมอีก 6 ราย สรุปกลุ่มเสี่ยงต่ำที่ยังอยู่ในไทย 75 ราย
       
       "ขณะนี้ สธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กทม. และผู้แทนองค์การอนามัยโลก มาหารือเพื่อช่วยกันติดตามป้องกันการติดเชื้อ ไม่ให้แพร่กระจายออกไป นอกจากนี้ ยังได้ส่งอีเมล์ถึงองค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่ที่อินเดีย ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่เข้ามาช่วยดูระบบของ ไทยให้เข้มแข็ง รวมถึงประสาน 37 สายการบินที่มาจากตะวันออกกลางและเกาหลีใต้ให้ให้คำแนะนำผู้โดยสารในการ ปฏิบัติตัวหากมีไข้ ไอ หายใจลำบากระหว่างอยู่ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร พร้อมทำแผ่นพับ 3 ภาษาคือ อังกฤษ อาหรับ และไทย ในการให้คำแนะนำด้วย ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าโอกาสการแพร่กระจายเชื้อแบบเกาหลีใต้เกิดขึ้นได้น้อย เพราะผู้ป่วยได้รับการแยกตัวใน รพ.ตั้งแต่แรก และตรวจวิเคราะห์เชื้อได้เร็ว ต่างจากเกาหลีใต้ที่ผู้ป่วยเดินทางไปรักษาถึง 5 แห่ง" รมว.สาธารณสุข กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกระแสข่าวลูกชายของผู้ป่วยมีอาการป่วย ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า จากการสังเกตอาการของญาติผู้ป่วยทั้ง 3 ราย พบว่า คนที่เป็นลูกชายเริ่มมีอาการไอ ส่วนน้องชายของผู้ป่วยเริ่มมีไข้ต่ำๆ ซึ่งได้มีการแยกตัวอยู่ในห้องแยกโรคตามกระบวนการอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ทำการเก็บตัวอย่างเชื้อที่บริเวณจมูกและช่องคอไปวิเคราะห์แล้ว คาดว่าจะรู้ผลภายใน 5-6 ชั่วโมง ซึ่งหากติดเชื้อจริงก็ไม่น่าตกใจ เพราะมีการแยกตัวไว้แล้ว เพื่อป้องกันการสัมผัส
       
       ผู้สื่อข่าวถามถึงชายชาวบุรีรัมย์ที่ยังติดตามตัวไม่ได้ ยิ่งนานจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงหรือไม่ นพ.ธนะรักษ์ กล่าวว่า ขณะ นี้กำลังเร่งติดตาม แต่คิดว่าไม่น่ามีปัญหาในเรื่องความเสี่ยงต่อระบบป้องกันควบคุมโรค เพราะอย่างกรณีเกาหลีใต้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยเมอร์สแล้วเดินทางไปจีน ซึ่งมีอาการตั้งแต่อยู่บนเครื่องบินก็ไม่พบว่ามีผู้โดยสารคนใดที่เดินทาง ร่วมมาด้วยมีอาการป่วย อย่างเคสชาวบุรีรัมย์ที่ยังตามตัวไม่ได้คิดว่าโอกาสป่วยไม่สูงมาก แต่จะพยายามติดตามให้เร็วที่สุดเพื่อติดตามอาการ
       
       ดร.ริชาร์ด บราวน์ รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการประเมินพบว่าประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อยู่ใน เกณฑ์ดีมาก เพราะมีประสบการณ์มาตั้งแต่โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ 2009 รวมไปถึงโรคติดเชื้ออีโบลา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพบผู้ป่วยประชาชนย่อมวิตกกังวล แต่ประเทศไทยสามารถควบคุมตัวผู้ป่วยได้ และมีระบบติดตามตัวผู้ที่สัมผัสให้สังเกตอาการได้ และยังมีการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ในการแยกตัวเข้าห้องแยกโรคความดันลบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ จึงขอให้อย่าตระหนก แต่องไม่ประมาท ขอให้ดูแลสุขภาพส่วนตัว
       
       พญ.จริยา แสงสัจจา ผอ.สถาบันบำราศฯ กล่าวว่า อาการ ผู้ป่วยเมอร์สตอนนี้ยังมีอาการปอดบวม ไม่มีไข้ แต่หายใจเองไม่ได้ ยังต้องใส่ออกซิเจนอยู่ และเนื่องจากผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ และมีอาการรุนแรง ดังนั้น จึงไม่สามารถบอกได้ว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่ ส่วนครอบครัวของผู้ป่วยอีก 3 คนนั้นได้เก็บตัวอย่างเชื้อส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การ แพทย์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ประสานไปยังสถานทูตโอมาน ให้ส่งล่ามมาช่วยแปลภาษาให้ ซึ่งแม้ว่าครอบครัวนี้จะพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย แต่ก็อยากจะพูดภาษาของตัวเอง ดังนั้น ตอนนี้สภาพจิตใจจึงถือว่าดีขึ้นมาก คลายความกังวลลงไปมาก เพราะรู้สึกได้รับการดูแลเอาใจใส่จากประเทศไทยและสถานทูตของตัวเอง โดยสถาบันบำราศฯ เป็นต้นแบบของห้องแยกโรคความดันเป็นลบที่มีมาตรฐาน ซึ่งเชื้อโรคไม่สามารถหลุดรอดออกมาข้างนอกอย่างแน่นอน อีกทั้งยังมีการกันผู้ป่วยทั่วไปไม่ให้เข้าไปใกล้บริเวณห้องแยกโรคอยู่แล้ว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า สังคมตั้งคำถามว่าทำไมปล่อยให้มีผู้ป่วยหลุดเข้ามาในประเทศ ทั้งที่มีการตั้งเทอร์โมสแกน พญ.จริยา กล่าวว่า เทอร์โมสแกนไม่สามารถคัดกรองผู้ป่วยได้ 100% เพราะบางคนที่เข้ามายังไม่แสดงอาการป่วย ไม่ได้มีไข้ตลอด 24 ชั่วโมง บางคนรับประทานยาลดไข้ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงจึงตรวจไม่พบ แต่ สธ.มีมาตรการที่ดีในการคัดกรองผู้ป่วย ทำให้พบผู้ป่วย รักษา และติดตามผู้สัมผัสโรคได้อย่างท่วงที
       
       ด้าน นางสิทธินี นวลปลอด อายุ 60 ปีที่มาใช้บริการที่สถาบันบำราศฯ กล่าวว่า ไม่ได้เกรงกลัวที่มีคนไข้โรคเมอร์สมาที่นี่ เพราะมั่นใจในระบบคัดแยกผู้ป่วย และสถาบันบำราศฯ ไม่ได้รับผู้ป่วยโรคนี้เป็นโรคแรก ก่อนหน้านี้ยังรับผู้ป่วยไข้หวัดนก ซาร์ ไข้หวัดใหญ่ 2009
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถาบันบำราศฯ ยังเปิดให้บริการตามปกติ มีการแจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้มารับบริการ พร้อมเจลล้างมือ ขณะที่บริเวณห้องผู้ป่วยเมอร์สยังเงียบสงบ เนื่องจากแพทย์และเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูผู้ป่วยเป็นระยะ


“บำรุงราษฎร์” แถลง ไม่พบผู้ติดเชื้อ “เมอร์ส” เพิ่ม กักตัว 58 เจ้าหน้าที่ รพ.14 วัน รอดูอาการ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ผู้บริหาร รพ.บำรุงราษฎร์ ตั้งโต๊ะแถลง ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเมอร์สเพิ่ม หลังพบผู้ป่วยรายแรกในไทยเป็นคนไข้ของโรงพยาบาล เผยเจ้าหน้าที่ 58 คน ที่สัมผัสผู้ป่วย ยอมให้ถูกกักตัว 14 วัน เพื่อรอดูอาการ ยังบอกไม่ได้จะมีหรือไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม แต่เฝ้าระวังตลอด
 
      เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ที่ผ่านมา ที่ชั้น 22 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถนนสุขุมวิท ผู้บริหารและทีมแพทย์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้แถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ เมอร์ส (MERS) รายแรกในประเทศไทยเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 คนไข้คนดังกล่าวได้เดินทางมาขอเข้ารับการรักษาเอง ด้วยอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ทางโรงพยาบาลได้คัดกรอง และ ซักประวัติ ตามมาตรการที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด พบว่า ผู้ป่วยรายนี้ อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จึงต้องแยกผู้ป่วยรายดังกล่าวไปยังห้องแยกโรคความดันลบ ซึ่งอยู่ในห้องที่มีสำหรับการรักษาโรคติดเชื้อรุนแรง เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อ ซึ่งได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขให้เข้ามาร่วมตรวจสอบ ด้วยตั้งแต่ต้น ทางโรงพยาบาลมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ รวม 4 ครั้ง โดยการเก็บตัวอย่างส่งตรวจและปฏิบัติตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา และเมื่อทางห้องปฏิบัติการแจ้งกลับมาว่า พบเชื้อไวรัสเมอร์ส กระทรวงสาธารณสุขจึงได้รับตัวไปรักษาต่อที่สถาบันบำราศนราดูร ตั้งแต่เมื่อเช้ามืดวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ทางโรงพยาบาลขอยืนยันว่า ตอนนี้ ไม่มีผู้ป่วยโรคเมอร์สในโรงพยาบาลแล้ว และยังไม่พบผู้ป่วยต้องสงสัยรายอื่นอีก โดยมีการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด
       
        สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลกับผู้ป่วยรายแรกนั้น ทางโรงพยาบาลได้ให้เจ้าหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลชั่วคราว เพื่อให้อยู่ในพื้นที่แยกเฉพาะ เพื่อสังเกตการณ์และให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นเวลา 14 วัน โดยมีการตรวจเชื้อเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ทุกวัน ซึ่งผลการตรวจจนถึงวันนี้ ทุกท่านยังมีอาการปกติดี ไม่มีใครป่วยเป็นโรคเมอร์ส เจ้าหน้าที่ทุกท่านให้ทางโรงพยาบาลเฝ้าระวังจนครบ 14 วัน
       
        มาตรการเฝ้าระวัง และ คัดกรอง และวินิจฉัยดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงขั้นสูงสุด ตามที่เคยปฏิบัติมาโดยตลอด ทางโรงพยาบาลยังคงประสานงานในด้านการเฝ้าระวังโรค และดูแลความปลอดภัยของบุคลากรอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ประชุมของกรมควบคุม กระทรวงสาธารณสุข ยังชื่นชมในมาตรการของโรงพยาบาลที่กำลังปฏิบัติอยู่ด้วย จึงขอให้ทุกท่านมั่นใจในมาตรฐาน และความปลอดภัยของโรงพยาบาล
       
       ส่วนการย้ายคนไข้ออกจากชั้น 10 มีกรณีที่ต้องย้ายอยู่ประจำอยู่แล้วครับ ด้วยความจำเป็นของโรค และตัวผู้ป่วยเอง ทั้งหมดเป็นการประสานงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วย ไม่เกี่ยวกันกับพื้นที่ติดเชื้อหรืออย่างใด ผู้ป่วยรายแรกของเรานั้น อยู่ในห้องแยกความดันลบทั้งหมด
       
       สำหรับเจ้าหน้าที่ที่สัมผัส ที่ให้การดูแลผู้ป่วยรายนี้ มีตั้งแต่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งตอนนี้ทั้งหมดได้ถูกให้อนุญาตให้หยุดงานชั่วคราว และเข้ามารับการดูแลจากโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวัง ตอนนี้เราได้ขยายวงกว้างกว่าการเฝ้าระวัง มากกว่ามาตรฐานที่ทางกระทรวงได้กำหนดไว้ จำนวนของเรา ปัจจุบันจะมีประมาณ 58 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้สัมผัสผู้ป่วยในหลายระดับ เพราะฉะนั้น ความเสี่ยง ความเข้มข้นที่ต้องเฝ้าระวังก็จะไม่เท่ากัน แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ทางโรงพยาบาลอยากรักษามาตรฐาน และความปลอดภัยอย่างสูงสุด เพราะฉะนั้น เราขยายวงกว้างกว่าที่จำเป็น
       
       เมื่อถามว่า มั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ผู้บริหารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า เราไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีกรณีใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะฉะนั้น การเฝ้าระวังจึงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเราได้มีการเพิ่มระดับการเฝ้าระวังมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดกรณีที่ 1 แล้ว และยังคงเฝ้าระวังต่อเนื่อง เราไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีกรณีที่ 2 หรือไม่ เพราะฉะนั้น ต้องเรียนให้ทราบว่า คำตอบคือไม่ทราบว่าจะมีหรือไม่ แต่เราเฝ้าระวังตลอดเวลา แม้กระทั่งปัจจุบันก็ตาม
       
       ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่องทางที่ผู้ป่วยจะเข้ามาที่โรงพยาบาลเราจะมีหลายช่องทาง ผู้ป่วยที่รับย้ายตรงจากต่างประเทศ เราแอคติเวทระบบนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และยืนยันถ้าเข้าข่ายประเทศกลุ่มเสี่ยง มีอาการ เราปฏิเสธการรับมาโดยตลอด วันนี้ขอยืนยัน ในส่วนที่ 2 ที่เราบังคับไม่ได้ คือ ผู้ป่วยที่วอล์กอิน และเดินเข้ามา ปัจจุบันเราตรึงมาตรการสูงสุด ในการคัดกรองผู้ป่วยที่เข้ามาทุกราย ด้วยแนวทางที่เราเซ็ตไว้ และเราให้ความมั่นใจครับว่า ช่องทางของผู้ป่วยที่เดินเข้ามา กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงจะแยกกันอย่างชัดเจน
       
       มาตรการคัดกรอง เกิดขึ้นตั้งแต่ด่านแรกที่คนไข้เข้าสู่โรงพยาบาลในจุดต่างๆ จะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเตรียมพร้อมที่จะเฝ้าระวังและสอบถามตลอดจนสังเกตอาการ ของคนไข้ว่า เข้าสู่อาการของคนไข้ที่มีความเสี่ยงหรือไม่ หากมีข้อกำหนดตามที่กำหนดไว้ เราจะส่งผู้ป่วยไปยังบริเวณเฉพาะ ซึ่งเป็นบริเวณที่แยกออกจากบริเวณของโรงพยาบาลปกติ จะถูกดูแลโดยทีมแพทย์ที่แยกออกตั้งหาก และมีระบบระบายอากาศที่แยกออกจากตัวโรงพยาบาลโดยสิ้นเชิง การตรวจสอบจะเกิดขึ้น ณ ยูนิต หรือหน่วยงานนี้ และจะทำการส่งต่อผู้ป่วยไปยังห้องแยกผู้ป่วยตามความเหมาะสม ซึ่งห้องแยกผู้ป่วยจะมีระบบระบายอากาศที่แยกออกจากตัวโรงพยาบาลใหญ่ทั้งหมด
       
       ทีมแพทย์เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า คนไข้ที่ติดเชื้อเมอร์สได้มาถึงห้องฉุกเฉิน เวลาประมาณสามทุ่มสี่สิบห้า และมีอาการหนักมากตั้งแต่ต้น ทำให้เจ้าหน้าที่ด่านแรกทำการคัดกรอง โดยไม่ได้ปะปนกับคนไข้ท่านอื่นเลยแม้แต่น้อย และได้ทำการเจรจาต่อรองกับคนไข้ว่า ป่วยมาก และมีความจำเป็นต้องอยู่ห้องแยก โดยมีความดันลบ เพื่อป้องกันเรื่องของการแพร่กระจายโรคติดเชื้อที่เราสงสัย คือ เมอร์ส โคโรนา ไวรัส แต่คนไข้และญาติปฏิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนการแยกผู้ป่วย ทางทีมแพทย์ที่ดูแลมีข้อสงสัยความเป็นไปได้ว่าจะเป็นโรคนี้ค่อนข้างมาก จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะเจรจาต่อรองกับคนไข้และญาติ ขอให้อยู่ในห้องแยก มิเช่นนั้น ถ้าคนไข้ไม่ได้เข้าไปในห้องแยกของโรงพยาบาลแล้ว ก็อาจไปแพร่กระจายเชื้อในบริเวณใกล้เคียงที่อยู่นอกโรงพยาบาล หรือในบริเวณอื่นๆ ของประเทศไทยด้วย เราเลยพยายามอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นให้ญาติและตัวคนไข้ยอมรับสถานการณ์ ซึ่งในที่สุด คนไข้ก็ยอม ซึ่งอันนี้ต้องเรียนว่าไม่มีคนไข้ท่านไหนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ณ ขณะนั้น สัมผัสกับผู้ป่วยท่านนี้เลยในขณะนั้น
       
       “คนไข้ด่านแรกที่เข้ามาที่ห้องฉุกเฉิน เราก็ให้คนไข้สวมหน้ากากป้องกันนะครับ เป็นหน้ากากป้องกัน และได้เจรจากับคนไข้ขณะนั้น โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนมีเครื่องป้องกันครบทุกอย่าง แล้วหลังจากเจรจาเสร็จเรียบร้อย คนไข้และญาติยอมแล้ว เราก็ส่งคนไข้ขึ้นสู่วอร์ดแยกทันที ผู้ที่เข็นคือเจ้าหน้าที่ที่ช่วยดูแลคนไข้ออกจากแท็กซี่ ได้รับการป้องกันด้วยการสวมหน้ากากเช่นเดียวกันครับ”
       
       เมื่อถามว่า ผู้ป่วยเข้ามารักษาตอนแรกคือโรคระบบทางเดินหายใจ หรือว่ามาจากอาการป่วยโรคประจำตัว เพราะทางสาธารณสุข ชี้แจงว่า ผู้ป่วยเข้ามาเบื้องต้นเพื่อรักษาโรคหัวใจ ทีมแพทย์ตอบว่า คนไข้เข้ามามีอาการหอบเหนื่อย และมีอาการไอ และเบื้องต้น ตอนที่เข้ามาในห้องฉุกเฉิน บอกว่า รายงานว่าตัวเองไม่มีไข้ และเราได้วัดไข้เบื้องต้นไม่มี เราได้ทำการเอกซเรย์ และพบว่า เอกซเรย์ปอด มีรอยโรคผิดปกติทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นปอดอักเสบ ร่วมกับหัวใจวายร่วมด้วย ซึ่งยังแยกไม่ออกว่าเป็น ทั้ง 2 กรณีร่วมด้วยหรือไม่ แต่เนื่องจากว่า คนไข้มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เราจึงมีข้อสงสัยเป็นอย่างยิ่ง และหลังจากที่ได้รับตัวเข้าไปไว้ในห้องแยกแล้ว คนไข้ก็มีไข้ในวันรุ่งขึ้น 30 องศา วัดไข้ได้ทั้ง 2 ครั้ง ในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 17 ซึ่งตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่คนไข้มีไข้
       
       เมื่อถามย้ำว่า ทางผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจจะเดินทางมารักษาโรคหัวใจกับโรงพยาบาลเอกชนตั้งแต่ แรก ทีมแพทย์ตอบว่า คนไข้ไม่รู้การวินิจฉัยแต่ว่าเมื่อตรวจร่างกายแล้วพบว่า อาการอย่างนี้คืออาการของโรคหัวใจ แต่เนื่องจากเงาปอดที่เราเห็นในเอกซเรย์นั้น แยกไม่ออกว่า เป็นปอดอักเสบ หรือหัวใจวาย หรือทั้ง 2 อย่างร่วมด้วย การวินิจฉัยจึงเกิดขึ้นว่า คนไข้ น่าจะเป็นไปได้ทั้ง 2 กรณี และเนื่องจากเรามีข้อสงสัยในโรคนี้ร่วมด้วย เราจึงให้คนไข้ได้รับการรักษาโดยอยู่ในห้องแยกครับ ขอย้ำว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้ติดต่อโรงพยาบาลเล่วงหน้ามาก่อนเลย แต่เป็นการเดินมาขอเข้ารับการรักษา (วอล์กอิน) ทั้งนี้ กรณีวอล์กอิน เบื้องต้นทำได้ 2 โรค คือ โรคหัวใจวายเฉียบพลัน และโรคติดเชื้อ ซึ่งสงสัยจะเป็น เมอร์ส โคโรน่า ไวรัส
       
       ส่วนการสวมหน้ากากป้องกันการติดเชื้อนั้น เนื่องจากว่าการแพร่เชื้อ เมอร์ส โคโรน่า ไวรัส เป็นลักษณะของละอองเสมหะ ซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ตามมาตรฐานทั่วไป หากว่า เราไม่ได้ทำหัตถการที่จะทำให้คนไข้ไอ เช่น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การสวมหน้ากากที่เราเรียกว่า เซอจิเคิล แมสนั้น ถือว่าเพียงพอ และหากว่า คนไข้มีอาการไอร่วมด้วย เราต้องสวมหน้ากากที่เรียกว่า N95 ซึ่งหน้ากาก ไม่ใช่หน้ากากอนามัยทั่วไป แต่เป็นหน้ากากทางการแพทย์เฉพาะ
       
       รายละเอียดการแถลง-ตอบคำถามผู้สื่อข่าว
       
       ทีมแพทย์ - เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 โดยคนไข้เองมาด้วยอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ทางโรงพยาบาลได้คัดกรอง และซักประวัติ ตามมาตราการที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด พบว่า ผู้ป่วยรายนี้ อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เราจึงต้องแยกผู้ป่วยรายดังกล่าวไปยังห้องแยกโรคความดันลบ ซึ่งอยู่ในห้องที่มีสำหรับการรักษาโรคติดเชื้อรุนแรง เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อ ซึ่งได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขให้เข้ามาร่วมตรวจสอบ ด้วยตั้งแต่ต้น ทางโรงพยาบาลมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ รวม 4 ครั้ง โดยการเก็บตัวอย่างส่งตรวจและปฏิบัติตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (..ฟังไม่ชัด..) และเมื่อทางห้องปฏิบัติการแจ้งกลับมาว่า พบเชื้อไวรัสเมอร์ส กระทรวงสาธารณสุขจึงได้รับตัวไปรักษาต่อที่สถาบันบำราศนราดูร ตั้งแต่เมื่อเช้ามืดวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ทางโรงพยาบาลขอยืนยันว่าตอนนี้ ไม่มีผู้ป่วยโรคเมอร์สในโรงพยาบาลแล้ว และยังไม่พบผู้ป่วยต้องสงสัยรายอื่นอีก โดยมีการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด
       
        สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลกับผู้ป่วยรายแรกนั้น ทางโรงพยาบาลได้ให้เจ้าหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลชั่วคราว เพื่อให้อยู่ในพื้นที่แยกเฉพาะ เพื่อสังเกตการณ์และให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นเวลา 14 วัน โดยมีการตรวจเชื้อเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ทุกวัน ซึ่งผลการตรวจจนถึงวันนี้ ทุกท่านยังมีอาการปกติดี ไม่มีใครป่วยเป็นโรคเมอร์ส เจ้าหน้าที่ทุกท่านให้ทางโรงพยาบาลเฝ้าระวังจนครบ 14 วัน
       
        มาตรการเฝ้าระวัง และคัดกรอง และวินิจฉัยดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงขั้นสูงสุด ตามที่เคยปฏิบัติมาโดยตลอด ทางโรงพยาบาลยังคงประสานงานในด้านการเฝ้าระวังโรค และดูแลความปลอดภัยของบุคลากรอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ประชุมของกรมควบคุม กระทรวงสาธารณสุข ยังชื่นชมในมาตรการของโรงพยาบาลที่กำลังปฏิบัติอยู่ด้วย จึงขอให้ทุกท่านมั่นใจในมาตรฐาน และความปลอดภัยของโรงพยาบาล ขอบคุณครับ
       
        ครับ เป็นคำแถลงชี้แจงของโรงพยาบาล ถ้าท่านสื่อมวลชนมีคำถามครับ ยกมือ ทีละท่านนะครับ
       
       นักข่าว - ค่ะ จากบางกอกโพสต์ ที่มีการย้ายคนไข้ออกจากชั้น 10 คือเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ไหมคะ
       
       ทีมแพทย์ - ในส่วนของการย้ายผู้ป่วย มีเรื่องราวที่เราต้องย้ายอยู่ประจำอยู่แล้วครับ ด้วยความจำเป็นของโรค และตัวผู้ป่วยเอง ทั้งหมดเป็นการประสานงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วยครับ อันนี้ไม่เกี่ยวกันกับพื้นที่ติดเชื้อหรืออย่างใดครับ อย่างที่ท่านอาจารย์ชาญวิทย์ได้เรียนในตอนแรก ผู้ป่วยรายแรกของเรานั้น อยู่ในห้องแยกความดันลบทั้งหมด
       
       นักข่าว - ค่ะ ขอบคุณค่ะ
       
       นักข่าว - สวัสดีครับ จากช่อง 7 นะครับ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่สัมผัสผู้ป่วยรายแรกรายนี้ มีกี่คนครับ ที่ต้องเฝ้าระวังดูอาการ และเป็นส่วนไหนบ้างครับ
       
       ทีมแพทย์ - ครับ เจ้าหน้าที่ที่สัมผัส ที่ให้การดูแลผู้ป่วยท่านนี้ รายแรก มีตั้งแต่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งตอนนี้ทั้งหมดได้ถูกให้อนุญาตให้หยุดงานชั่วคราว และเข้ามารับการดูแลจากโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังอาการอย่างที่เรียนให้ทราบแล้วครับ
       
       นักข่าว - กี่คนนะครับ
       
       ทีมแพทย์ - ครับ ตอนนี้เราได้ขยายวงกว้างกว่าการเฝ้าระวัง มากกว่ามาตรฐานที่ทางกระทรวงได้กำหนดไว้ เพราะฉะนั้น จำนวนของเรา ปัจจุบันจะมีประมาณ 58 ท่าน ซึ่งทั้งหมดนี้ ผมเน้นอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้สัมผัสผู้ป่วยในหลายระดับ เพราะฉะนั้น ความเสี่ยง ความเข้มข้นที่ต้องเฝ้าระวังก็จะไม่เท่ากัน แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ทางโรงพยาบาลอยากรักษามาตรฐาน และความปลอดภัยอย่างสูงสุด เพราะฉะนั้น เราขยายวงกว้างกว่าที่จำเป็น
       
       นักข่าว - จากช่อง 5 ครับ ทางโรงพยาบาลมั่นใจว่ายังไง ว่าจะไม่มีผู้ป่วยในโรงพยาบาลอีกครับ เพราะผู้ป่วยที่นี่ก็มาจากตะวันออกกลางบ้าง และอีกหลายๆ ประเทศ
       
       ทีมแพทย์ - ขออนุญาตตอบคำถามนะครับ เราไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีกรณีใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะฉะนั้น การเฝ้าระวังจึงเป็นไปอย่างต่อเนื่องครับ และเราได้มีการเพิ่มระดับการเฝ้าระวังมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดกรณีที่ 1 แล้ว และยังคงเฝ้าระวังต่อเนื่อง เราไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีกรณีที่ 2 หรือไม่ เพราะฉะนั้น ต้องเรียนให้ทราบว่า คำตอบคือไม่ทราบครับ ว่าจะมีหรือไม่ แต่เราเฝ้าระวังตลอดเวลาครับ แม้กระทั่งปัจจุบันก็ตาม
       
       ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมนะครับ ช่องทางที่ผู้ป่วยจะเข้ามาที่โรงพยาบาลเราจะมีหลายช่องทางนะครับ ผู้ป่วยที่รับย้ายตรงจากต่างประเทศ เราแอคติเวทระบบนี้อย่างที่ท่านอาจารย์ชาญวิทย์เรียนตั้งแต่ปี 2555 จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และยืนยันถ้าเข้าข่ายประเทศกลุ่มเสี่ยง มีอาการ เราปฏิเสธการรับมาโดยตลอด วันนี้ขอยืนยัน ในส่วนที่ 2 ที่เราบังคับไม่ได้คือ ผู้ป่วยที่วอล์กอิน และเดินเข้ามา ปัจจุบันเราตรึงมาตรการสูงสุด ในการคัดกรองผู้ป่วยที่เข้ามาทุกราย ด้วยแนวทางที่เราเซ็ทไว้ และเราให้ความมั่นใจครับว่า ช่องทางของผู้ป่วยที่เดินเข้ามา กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงจะแยกกันอย่างชัดเจนครับ
       
       นักข่าว - มาตรการที่ว่าเป็นแนวทางที่เซ็ทไว้ ช่วยขยายนิดนึงได้ไหมครับ เป็นอะไร ยังไงบ้าง
       
       ทีมแพทย์ - มาตรการคัดกรอง เกิดขึ้นตั้งแต่ด่านแรกที่คนไข้เข้าสู่โรงพยาบาลในจุดต่างๆ จะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเตรียมพร้อมที่จะเฝ้าระวังและสอบถามตลอดจนสังเกตอาการ ของคนไข้ว่า เข้าสู่อาการของคนไข้ที่มีความเสี่ยงหรือไม่ หากมีข้อกำหนดตามที่กำหนดไว้ เราจะส่งผู้ป่วยไปยังบริเวณเฉพาะ ซึ่งเป็นบริเวณที่แยกออกจากบริเวณของโรงพยาบาลปกติ จะถูกดูแลโดยทีมแพทย์ที่แยกออกตั้งหาก และมีระบบระบายอากาศที่แยกออกจากตัวโรงพยาบาลโดยสิ้นเชิง การตรวจสอบจะเกิดขึ้น ณ ยูนิต หรือหน่วยงานนี้ และจะทำการส่งต่อผู้ป่วยไปยังห้องแยกผู้ป่วยตามความเหมาะสม ซึ่งห้องแยกผู้ป่วยจะมีระบบระบายอากาศที่แยกออกจากตัวโรงพยาบาลใหญ่ทั้งหมด นะครับ
       
       นักข่าว - จากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น อยากทราบว่าตั้งแต่มีข่าวออกไปเมื่อวาน ไม่ทราบว่าทางโรงพยาบาลได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างหรือยัง เช่น มีผู้ป่วยท่านอื่นที่อาจรับการรักษาโรคอื่นๆ ขอย้ายออกจากโรงพยาบาลหรือไม่ หรือเห็น มีการแจ้งผู้ป่วยในโรงพยาบาลไหมคะ หรือให้เขารับมือยังไง
       
       ทีมแพทย์ - เท่าที่ทราบยังไม่มีนะครับ เพราะว่าเราได้ให้ความเชื่อมั่นในผู้ป่วยของเราทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่นอนอยู่กับเรา หรือผู้ป่วยที่ได้รับบริการ ทุกท่านก็ได้รับการ ให้ความไว้วางใจ และเชื่อมั่นในระบบการคัดกรองและมาตรฐานของเรา อย่างที่ท่านอาจารย์มนต์เดช ได้แถลงไป
       
       นักข่าว - ขอเพิ่มคือ ผู้ป่วยรายอื่นทราบไหมคะว่า โรงพยาบาลนี้มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อเมอร์สเข้ามา
       
       ทีมแพทย์ - ต้องเรียนว่าเป็นผู้ป่วยต้องสงสัยนะครับ และช่องทางของเขาอย่างที่เรียนซ้ำ คือ อยู่ในช่องทางของผู้ป่วยที่เข้าไปอยู่ห้องแยกโรคความดันลบ เพราะฉะนั้น อันนั้นเป็นช่องทางที่แยกจากผู้ป่วยโดยทั่วไปชัดเจน เหตุทั้งหมดที่เราได้ทราบผลยืนยันแน่นอนคือ เช้ามืดของเมื่อวานนี้นะครับ กระบวนการทั้งหมดได้แอคติเวท และเราได้เตรียมการที่จะประสานกับภาครัฐบาลนะครับอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นสำนักระบาด หรือทางท่านรัฐมนตรีเองก็ตาม เพื่อให้ความมั่นใจว่า 1 คนของเราไม่เกิดความตื่นตระหนกจนเกินควร ผู้ป่วยของเรายังได้รับการดูแล และที่สำคัญไม่ให้เกิดการกระจายเชื้อเกิดขึ้นที่เรา เพราะฉะนั้น หลังจากแถลงข่าวในวันนี้ คงมีมาตรการถัดไปที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในเบื้องต้น พนักงานและแพทย์ทุกท่านได้รับการสื่อสารออกไปแล้ว เพราะงั้นคงมีข้อความถัดไปตามมาโดยลำดับครับ
       
       นักข่าว - ประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ครับที่อยู่โรงพยาบาล ที่รับผู้ป่วยที่เป็นชาวตะวันออกกลางครับ
       
       ทีมแพทย์ - ครับ โดยเฉลี่ยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ครับ
       
       นักข่าว - ส่วนของการรับผู้ป่วยแต่ละเคส ปกติจะได้รับเป็นอีอาร์เสมอไปใช่ไหมคะ กรณีนี้ผู้ปวยต้อง อาจต้องนั่งรอ หรือปะปนกับผู้ป่วยท่านอื่นที่มารับบริการหรือเปล่า ตอนนี้ ทางโรงพยาบาลยังไงกับเรื่องนี้คะ
       
       ทีมแพทย์ - คือคนไข้มาถึงห้องฉุกเฉิน สามทุ่มสี่สิบห้า และมีอาการหนักมากตั้งแต่ต้น ทำให้เจ้าหน้าที่ของเราด่านแรกทำการคัดกรองตั้งแต่แรก โดยไม่ได้ปะปนกับคนไข้ท่านอื่นเลยแม้แต่น้อย และได้ทำการเจรจาต่อรองกับคนไข้ว่า ป่วยมาก และมีความจำเป็นต้องอยู่ห้องแยก โดยมีความดันลบ เพื่อป้องกันเรื่องของการแพร่กระจายโรคติดเชื้อที่เราสงสัยคือ เมอร์ส โคโรนา ไวรัส แต่คนไข้และญาติปฏิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนการแยกผู้ป่วย ทางทีมแพทย์ที่ดูแลมีข้อสงสัยความเป็นไปได้ว่าจะเป็นโรคนี้ค่อนข้างมาก จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะเจรจาต่อรองกับคนไข้และญาติ ขอให้อยู่ในห้องแยก มิเช่นนั้น ถ้าคนไข้ไม่ได้เข้าไปในห้องแยกของโรงพยาบาลแล้ว ก็อาจไปแพร่กระจายเชื้อในบริเวณใกล้เคียงที่อยู่นอกโรงพยาบาล หรือในบริเวณอื่นๆ ของประเทศไทยด้วย เราเลยพยายามอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นให้ญาติและตัวคนไข้ยอมรับสถานการณ์ ซึ่งในที่สุด คนไข้ก็ยอม ซึ่งอันนี้ต้องเรียนว่าไม่มีคนไข้ท่านไหนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ณ ขณะนั้น สัมผัสกับผู้ป่วยท่านนี้เลยในขณะนั้นนะครับ
       
       นักข่าว - ขออนุญาตถามเพิ่มเติมรายละเอียดนะคะ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ ที่สังคมอาจตั้งคำถาม ในเรื่องกรณีนี้ ระบุว่าผู้ป่วยมาด้วยอาการที่หนักแล้ว แต่ทางกระทรวงแถลงว่า ผู้ป่วยใช้บริการแท็กซี่เดินทางมาโรงพยาบาล กรณีนี้ เวรเปลไปรับโดยตรงตั้งแต่ลงจากแท็กซี่เลยไหม และก็ในห้องอีอาร์ปกติจะมีแค่ม่านกั้นนะค่ะ ตรงนั้นเซฟตี้พอไหม ยังไง
       
       ทีมแพทย์ - คนไข้ด่านแรกที่เข้ามาที่ห้องฉุกเฉิน เราก็ให้คนไข้สวมหน้ากากป้องกันนะครับ เป็นหน้ากากป้องกัน และได้เจรจากับคนไข้ขณะนั้น โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนมีเครื่องป้องกันครบทุกอย่าง แล้วหลังจากเจรจาเสร็จเรียบร้อย คนไข้และญาติยอมแล้ว เราก็ส่งคนไข้ขึ้นสู่วอร์ดแยกทันที ผู้ที่เข็นคือเจ้าหน้าที่ที่ช่วยดูแลคนไข้ออกจากแท็กซี่ ได้รับการป้องกันด้วยการสวมหน้ากากเช่นเดียวกันครับ
        ขอเพิ่มเติมประเด็นนิดนึงนะครับว่า ในห้องฉุกเฉิน ก็มีห้องแยกเช่นเดียวกันครับ ห้องตรวจแยกที่มีระบบระบายอากาศออกนอกอาคารนะครับ
       
       นักข่าว - รบกวนถามทางคณะแพทย์ค่ะว่า ที่บอกว่าผู้ป่วยเข้ามาด้วยอาการที่ฉุกเฉิน และมีอาการหนัก เข้ามารักษาเบื้องต้นตอนแรก คือ ด้วยความเสี่ยงที่เป็นความต่อเนื่องจากโรคระบบทางเดินหายใจ หรือว่ามาจากอาการป่วยโรคประจำตัวคะ เพราะว่าทางสาธารณสุขชี้แจงว่า ผู้ป่วยเข้ามาเบื้องต้นที่จะมารับการรักษากับโรงพยาบาลเอกชน มาด้วยโรคหัวใจนะค่ะ
       
       ทีมแพทย์ - คนไข้เข้ามามีอาการหอบเหนื่อย และมีอาการไอ และก็เบื้องต้น ตอนที่เข้ามาในห้องฉุกเฉิน บอกว่า รายงานว่าตัวเองไม่มีไข้ และเราได้วัดไข้เบื้องต้นไม่มี เราได้ทำการเอกซเรย์ และพบว่า เอกซเรย์ปอด มีรอยโรคผิดปกติทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็น ปอดอักเสบ ร่วมกับหัวใจวายร่วมด้วย ซึ่งยังแยกไม่ออกว่าเป็น ทั้ง 2 กรณีร่วมด้วยหรือไม่ แต่เนื่องจากว่า คนไข้มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เราจึงมีข้อสงสัยเป็นอย่างยิ่ง และหลังจากที่ได้รับตัวเข้าไปไว้ในห้องแยกแล้ว คนไข้ก็มีไข้ในวันรุ่งขึ้น 30 องศา วัดไข้ได้ทั้ง 2 ครั้ง ในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 17 ซึ่งตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่คนไข้มีไข้ครับ
       
       นักข่าว - ขอยืนยันอีกรอบนะคะ คือหมายความว่า ทางผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจจะเดินทางมารักษาโรคหัวใจกับโรงพยาบาลเอกชนตั้งแต่ แรกเหรอคะ
       
       ทีมแพทย์ - คนไข้ไม่รู้การวินิจฉัยครับ แต่ว่าเมื่อตรวจร่างกายแล้วพบว่า อาการอย่างนี้คืออาการของโรคหัวใจ แต่เนื่องจากเงาปอดที่เราเห็นในเอกซเรย์นั้น แยกไม่ออกว่า เป็นปอดอักเสบ หรือหัวใจวาย หรือทั้ง 2 อย่างร่วมด้วย การวินิจฉัยจึงเกิดขึ้นว่า คนไข้ น่าจะเป็นไปได้ทั้ง 2 กรณีครับ และเนื่องจากเรามีข้อสงสัยในโรคนี้ร่วมด้วย เราจึงให้คนไข้ได้รับการรักษาโดยอยู่ในห้องแยกครับ
        ขอย้ำนะครับ ผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้ติดต่อโรงพยาบาลเราล่วงหน้ามาก่อนเลย วอล์กอินครับ
       
       นักข่าว - ถามเพิ่มเติมนิดนึงนะคะ กรณีวอล์กอิน ให้คุณหมออธิบายนิดนึงนะคะว่า กระทำยังไงบ้างคะ
       
       ทีมแพทย์ - เบื้องต้นมีอยู่ 2 โรคครับ คือ โรคหัวใจวายเฉียบพลัน และ โรคติดเชื้อ ซึ่งสงสัยจะเป็น เมอร์ส โคโรนา ไวรัส ครับ
       
       นักข่าว - ขอนุญาตถามนะคะ ที่บอกว่าใส่หน้ากากนี้ อธิบายลักษณะของหน้ากากได้ไหมคะ ว่าเป็นลักษณะยังไง และสามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากน้อยแค่ไหนคะ
       
       ทีมแพทย์ - เนื่องจากว่าการแพร่เชื้อ เมอร์ส โคโรนา ไวรัส เป็นลักษณะของละอองเสมหะ ซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ตามมาตรฐานทั่วไป หากว่า เราไม่ได้ทำหัตถการที่จะทำให้คนไข้ไอ เช่น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การสวมหน้ากากที่เราเรียกว่า เซอจิเคิล แมสนั้น ถือว่าเพียงพอครับ และหากว่า คนไข้มีอาการไอร่วมด้วย เราต้องสวมหน้ากากที่เรียกว่า N95 ครับ
       
       นักข่าว - หน้ากาก ไม่ใช่หน้ากากอนามัยทั่วไปที่สวมอย่างนี้ใช่ไหมคะ เป็นหน้ากากทางการแพทย์เฉพาะเลย
       
       ทีมแพทย์ - ถูกต้องครับ
       
       นักข่าว - ขอบคุณคะ
       
       ทีมแพทย์ - มีเพิ่มเติมไหมครับ ถ้าไม่มี จะได้ขอยุติการให้ข้อมูลแต่เพียงเท่านี้นะครับ งั้นขอปิดการแถลงข่าวนะครับ ขอขอบพระคุณ ท่านสื่อมวลชนครับ ขอขอบพระคุณท่านผู้บริหารครับ


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : เกาหลีใต้โล่งวิกฤต เมอร์ส เริ่มเบาบาง WHOชื่นชมไทยรับมือผู้ติดเชื้อรวดเร็วฉับไวเกาหลีใต้โล่งวิกฤต'เมอร์ส'เริ่มเบาบาง WHOชื่นชมไทยรับมือผู้ติดเชื้อรวดเร็วฉับไว

view