สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัฐโละทิ้งข้าวเสื่อม13ล้านตัน หลุด400เหรียญขาดทุนก็ขาย

จากประชาชาติธุรกิจ

"อุ๋ย-ฉัตร ชัย" เร่งระบายสต๊อกข้าวเสื่อม-ข้าวคละ 13 ล้านตัน ตั้งเป้าราคาข้าวขึ้น 1,000 บาท/ตัน หารือผู้ส่งออก-โรงงานอาหารสัตว์-โรงงานเอทานอลเริ่มเน่าแล้ว 10 ล้านตัน โบรกเกอร์ข้าวจับตาราคาข้าวขาวไทยหลุด 400 เหรียญ หวั่นปีนี้เสียแชมป์ส่งออกข้าวให้อินเดีย

สต๊อกข้าวจำนวน 16-17 ล้านตันที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้ ท่ามกลางการจับตามองของโบรกเกอร์ค้าข้าวในตลาดโลกในข้อที่ว่า รัฐบาลไทยจะระบายสต๊อกข้าวออกมาเมื่อไหร่ ด้วยวิธีไหน และ ระบายอย่างไร จนล่าสุด พล.อ ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตัดสินใจที่จะเปิดประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาลอีก 1.06 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวคละเกรด A-B-C เพื่อลดจำนวนข้าวในสต๊อกลง

"อุ๋ย" ขายข้าวเสื่อม 12 ล้านตัน

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้ข้าวสารที่มีอยู่ในสต๊อกรัฐบาล จำนวน 17 ล้านตัน หายไปจากความรู้สึกของพ่อค้าข้าว เพราะเป็นตัวกดราคาข้าวในตลาดโลก

โดยพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานว่า ในข้าวทั้งหมดจำนวน 17 ล้านตัน แยกเป็นข้าวคุณภาพดี จำนวน 4 ล้านตันกว่า ซึ่งขณะนี้กำลังรอจังหวะนำออกขาย และเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ จำนวน 12 ล้านตันกว่า ซึ่งเป็นข้าวเน่า 2 ล้านตัน กับเป็นข้าวเริ่มเน่าแล้ว จำนวน 10 ล้านตัน

ขณะนี้จึงกำลังคิดว่าจะ ต้องนำข้าวเสื่อมคุณภาพจำนวน 12 ล้านตันกว่าไปทำอย่างอื่น เช่น นำไปทำเป็นแอลกอฮอล์ แต่ต้องมีสถานที่จำหน่ายและไม่กระทบผู้อื่น อย่างไรก็ตามต้องได้ผลตอบแทนดีพอสมควร หรือไม่ให้ต่ำกว่าราคาที่นำไปขายเป็นข้าวเกรดต่ำ ซึ่งขอเวลาคิด 1 เดือน และถ้าทำได้จะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ห"รือเร่งระบ"ยข้าวเสื่อมคุณภ"าพ

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้จัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการค้าข้าว-โรงงานผู้ผลิต อาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อขอความเห็นถึงแนวทางการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลในส่วนที่เป็น "ข้าวเสื่อมคุณภาพ" โดยเบื้องต้นคาดว่า จะมีปริมาณข้าวเสื่อมประมาณ 3 ล้านตันจากปริมาณสต๊อก 16 ล้านตัน ไม่นับรวมส่วนที่เป็นข้าวเกรด A และเกรด B อีกปริมาณ 3 ล้านตัน และส่วนที่เหลือเป็นข้าวเกรด C

โดยความกังวล ที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเปิดระบายข้าวเหล่านี้ออกไปแล้ว รัฐบาลมีการบริหารจัดการอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้ข้าวเสื่อมคุณภาพจำนวนนี้ "ไหลกลับ" เข้ามาสร้างความเสียหายกับราคาข้าวภายในประเทศ เพราะเงื่อนไขการประมูลไม่ได้บังคับให้ส่งออก ประกอบกับรัฐบาลจะแบ่งข้าวออกเป็นเกรด A B C และต่ำกว่า C แต่ในทางความเป็นจริงคลังแต่ละคลังมีข้าวเก็บคละกันอยู่ทุกเกรด นั้นหมายถึง เวลาขายก็รวมอยู่ในคลังเดียวกันแบบคิดราคาเฉลี่ยเหมาคลังนั้นเอง

"ที่ผ่านมารัฐบาลเลือกขายในคลังที่มีข้าวเกรด A และเกรด B ออกมาขายก่อน จนเหลือแต่คลังที่มีข้าวผสมกันทุกเกรด ดังนั้นจึงไม่มีใครรู้ว่า คลังไหนจะมีข้าวเกรดไหนในสัดส่วนที่เท่าไหร่ ดีหรือเลวอย่างไร

นอกจากนี้ในส่วนของอุตสาหกรรมพลังงานที่จะออกมารับซื้อข้าวเสื่อมคุณภาพอย่าง โรงงานผลิตเอทานอลนั้น การขายข้าวเสื่อมคุณภาพที่จะใช้เป็นวัตถุดิบออกมาเป็นจำนวนมาก ๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาพืชเกษตรชนิดอื่น เช่น มันสำปะหลัง และโมลาสจากอ้อย ประกอบกับทางโรงงานเอทานอลได้แจ้งว่า ปัจจุบันความต้องการเอทานอลที่ผลิตจากข้าวยังมีไม่มาก เพราะมีต้นทุนสูงกว่าเอทานอลที่ผลิตจากโมลาสหรือมันสำปะหลัง ที่สำคัญโรงงานต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรกลายเป็นต้นทุนสำคัญ และถึงแม้จะใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบจริงทุกโรงก็จะมีความต้องการใช้ไม่เกินปีละ 1 ล้านตันเท่านั้น นั้นหมายถึงถ้าใช้วิธีการนี้กว่าจะระบายข้าวเสื่อมในสต๊อกออกหมดต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี

"ทางสมาคมจึงเสนอให้รัฐบาลใช้หลาย ๆ วิธีผสมผสานกันในการระบายข้าวเสื่อม แต่ต้องมีรายละเอียดการปฏิบัติที่ชัดเจน"

ข้าวขาวราคาหลุด 400 เหรียญ

ด้าแหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศแจ้งในที่ประชุมว่า ไม่กังวลเรื่องราคาขายข้าวเสื่อมคุณภาพในสต๊อก "ทำอย่างไรก็ได้ให้ระบายออกไปให้ได้ พวกผมคิดว่า ที่รัฐบาลต้องเร่งระบาย เป็นเพราะภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บข้าวสูงมาก หากคิดเฉพาะเพียงแค่ดอกเบี้ยก็ประมาณเดือนละ 50 ล้านบาท ยังไม่นับรวมค่าฝากเก็บ ค่ารมยา ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากกว่า 400 ล้านบาทต่อเดือน"

แต่ถ้าระบายข้าวออกมาในราคาต่ำขนาดนั้น เช่น ข้าวขาวเกรด C ไม่ถึงตันละ 10,000 บาท ย่อมจะส่งผลให้ราคาข้าวฤดูกาลใหม่ลดลงตามไปด้วย สุดท้ายผู้ซื้อในต่างประเทศก็จะยึดราคานี้เป็นฐานราคาข้าวไทยในตลาดโลก

"ตอนนี้ไม่ว่าจะคิดแนวทางใดก็กระทบหมด แนวโน้มด้านราคาส่งออกน่าห่วงมาก เพราะราคาข้าวขาว 5% ไทยจะหลุดจาก 400 เหรียญสหรัฐต่อตันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับจากปี 2539 ซึ่งขณะนั้นราคาข้าวเปลือกในตลาดซื้อขายเพียงตันละ 5,000-6,000 บาท แต่ตอนนี้ราคาข้าวเปลือกยังคงอยู่ที่ระดับตันละ 7,000 บาท เป็นเพราะโรงสีสามารถขายปลายข้าวราคาสูงช่วยค้ำราคาเอาไว้ แต่ในการประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาลจำนวน 1.06 ล้านตันรอบที่ 3/2558 (ส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว 5% กับ ปลายข้าว รวมกัน 800,000 ตัน) ในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ รัฐบาลนำเอาปลายข้าวออกมาระบายด้วยเชื่อว่า จะขายได้ดีที่สุดในราคา กก.ละ 8-9 บาท แต่หลังจากนี้ราคาปลายข้าวในตลาดจะอ่อนตัวลง เพราะโรงสีคงไม่ซื้อข้าวเปลือกไปสีแล้ว ทำให้ข้าวเปลือกราคาลงอีก ส่วนข้าวเหนียวจะขายยากที่สุดในรอบนี้" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เปิดประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาลไปแล้วรวม 6 ครั้ง ปริมาณข้าว 2.01 ล้านตันคิดเป็นมูลค่า 22,374 ล้านบาท รวมเหลือข้าวในสต๊อกรัฐบาลอีก 16 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นข้าวเสื่อมคุณภาพอยู่ระหว่าง 2.5-3 ล้านตัน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 13 ล้านตันเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพผสมกับข้าวดีปะปนกันอยู่ในคลังที่ฝากเก็บโดยที่ ไม่สามารถแยกออกมาได้

หวั่นเสียแชมป์ส่งออกข้าว

ส่วน สถานการณ์ส่งออกข้าว 5 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-พฤษภาคม 2558) ปรากฏประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวไปได้ในปริมาณ 3.5 ล้านตันเท่ากับประเทศอินเดีย ต่างกันเพียงแค่หลักหมื่นตันเท่านั้น โดยภาวะแบบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน เนื่องจากอินเดียมีนโยบายผลักดันการส่งออกข้าวเฉพาะ 5 เดือนที่ผ่านมาอินเดียส่งออกเพิ่มขึ้น 30% ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่า อินเดียจะประสบปัญหาภัยแล้งผลผลิตน่าจะลดลง โดยปริมาณสต๊อกลดลงจาก 22.4% เหลือ 22.23 ล้านตัน แต่รัฐบาลอินเดีย กลับผลักดันการส่งออกเพิ่มขึ้นโดยราคา "ข้าวนึ่ง" อินเดียอยู่ที่ตันละ 355-365 เหรียญ/ตัน แต่ข้าวนึ่งไทยราคาประมาณ 365-375 เหรียญ/ตัน หรือต่างกันตันละ 30 เหรียญ ดังนั้นไทยจึงเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวนึ่งในแอฟริกา ซึ่งเป็นผู้นำเข้าหลักปีละ 250,000-300,000 ตันให้อินเดีย ประกอบกับตลาดนี้ประสบปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนยูโรอ่อนค่ามีความต้องการสินค้า ราคาถูกลง ส่วนเวียดนาม แม้ว่าภาพรวมจะส่งออกข้าวลดลง 2.2% แต่เวียดนามมีความได้เปรียบไทยในเรื่องราคาข้าวขาวตันละ 350-360 เหรียญหรือต่ำกว่าราคาข้าวไทยที่ตันละ 365-375 เหรียญ สาเหตุสำคัญมาจากปีนี้เวียดนามส่งข้าวออกไปจำหน่ายผ่านพรมแดนให้จีนไม่ได้ ยอดส่งออกข้าวในส่วนนี้จึงลดลงเหลือ 50,000 ตัน ล่าสุดรัฐบาลไทยได้เข้าร่วมประมูลขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ในวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ในปริมาณ 250,000 ตัน ปรากฏุเวียดนามชนะการประมูลครั้งนี้ไปในปริมาณข้าว 100,000 ตัน


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : รัฐโละทิ้งข้าวเสื่อม13ล้านตัน หลุด400เหรียญขาดทุนก็ขาย

view