จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน
ความมหัศจรรย์ของ “ปูม้า” คือปริมาณไข่จำนวนมหาศาล แต่ละครั้งคราวจะออกไข่มากกว่า 8 แสน–1 ล้านฟอง ถ้าไข่ทั้งหมดถูกปล่อยลงสู่ทะเลและรอดชีวิต นั่นหมายความว่าสมาชิกปูม้าก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นวงรอบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับชาวประมงกลับตรงกันข้าม หลายรายในหลายพื้นที่ยืนยันตรงกันว่าหาปูม้าได้น้อยลง และยังต้องออกทะเลไปไกลกว่าเดิม ความยากลำบากเกิดขึ้นกับประมงเรือเล็ก-ประมงพื้นบ้าน
“ปูไข่ราคาถูกมาก ขายได้กิโลละ 80-100 บาทเท่านั้น มันคงจะคุ้มค่ากว่าถ้าเราปล่อยให้เขาออกไข่เพื่อกำเนิดชีวิตใหม่ แทนที่จะเอาไปขายเลย” กัมพล ถิ่นทะเล ชาวประมงเรือเล็ก ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล อธิบายแนวคิดการจัดตั้ง “ธนาคารปู”
อีกบทบาทหนึ่งของ “กัมพล” คือการเป็นรองนายกสมาคมประมงพื้นบ้าน นั่นทำให้เขามีช่องทางสื่อสารวิธีคิดดังกล่าวไปสู่สมาชิกในเครือข่ายอีกร่วม 300 คนได้
“พวกเราเห็นปัญหาตรงกัน คือ ปริมาณปูม้าลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เลยมาตั้งวงคุยกันว่า ถ้าใครออกทะเลแล้วได้ปูที่กำลังมีไข่ ให้แยกปูตัวนั้นแล้วนำกลับมาเลี้ยงไว้ในสถานที่แห่งหนึ่งจนกว่ามันจะวางไข่ เมื่อเราปล่อยไข่คืนสู่ท้องทะเลแล้วค่อยให้เจ้าของปูมารับแม่ปูคืนไป” กัมพล ฉายภาพการดำเนินการของธนาคารปู
ที่สุดแล้วจึงก่อกำเนิดเป็น“ธนาคารปู” ตั้งอยู่ที่ศาลาประมงพื้นบ้าน หมู่ 4 ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล โดยการสนับสนุนจากสมาคมรักษ์ทะเลไทย รูปแบบการดำเนินงานคือจะเตรียมสถานที่สำหรับเลี้ยงแม่ปูไว้ แยกเป็นถังๆ พร้อมท่อออกซิเจน และต่อท่อจากถังเลี้ยงออกไปสู่ทะเล แต่ปิดวาล์วเอาไว้
เมื่อชาวประมงได้แม่ปูที่กำลังจะวางไข่มา ก็จะนำมามอบให้ธนาคารปูหรืออาจเรียกคนในธนาคารปูไปรับก็ได้ จากนั้นแม่ปูจะถูกนำมาเลี้ยงไว้ในถัง โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารปูจะจดบันทึกชื่อเจ้าของปู จำนวนแม่ปู รวมถึงหมายเลขถังที่ใช้เลี้ยง เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับส่งคืนแม่ปูภายหลังวางไข่แล้ว
สำหรับอายุของไข่ปูจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ตามสีไข่ที่อยู่ข้างนอกตัวปู 1.สีเหลือง ต้องเลี้ยงอีกประมาณ 2 สัปดาห์ 2.สีแดง 1 สัปดาห์ 3.สีเทา 3-5 วัน และสุดท้ายคือสีดำ ซึ่งไม่เกิน 1 คืน ก็สามารถวางไข่และปล่อยคืนสู่ทะเลได้ โดยทันทีที่แม่ปูวางไข่ในถังเลี้ยง เจ้าหน้าที่ก็จะเปิดวาล์วเพื่อให้ไข่ปูไหลไปตามท่อลงสู่ท้องทะเลทันที
“เรามีสมาชิกในสมาคมประมาณ 300 คน แต่ละคนก็ทำประมงแตกต่างกัน ทั้งหาปลา หากุ้ง หาหอย สำหรับชาวประมงที่หาปูเป็นหลักมีอยู่ 80-90 คน แต่ละเดือนเราได้แม่ปูมาเลี้ยงเฉลี่ย 30-40 ตัว จนถึงขณะนี้ดำเนินโครงการมาแล้วเกือบ 1 ปี เท่ากับว่าเราปล่อยไข่ปูกลับคืนสู่ทะเลแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ล้านฟอง และโดยปกติปูจะโตเต็มวัยประมาณ 4 เดือน นั่นหมายความว่าใน 1 ปี เราสร้างปูขึ้นมา 3-4 รุ่นแล้ว” กัมพล ให้รายละเอียด
รองนายกสมาคมประมงพื้นบ้านรายนี้ บอกว่า เมื่อไข่ปูลงสู่ทะเลแล้วก็มักจะเป็นอาหารปลา ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับธรรมชาติว่าจะรอดชีวิตออกมาได้เท่าไร หากรอดเพียงแค่ 10% ในระยะเวลา 1 ปี ทะเลจะมีปูม้าเพิ่มขึ้นกว่า 30 ล้านตัว โดยความสำเร็จที่จับต้องได้คือจากเดิมต้องออกไปหาปูไกลถึง 2-3 ไมล์ทะเล ปัจจุบันออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จับปูได้แล้ว
“เราเป็นมนุษย์ที่ผ่านมาในพื้นที่แห่งนี้แล้วก็ไป ก็เลยคิดว่าอย่าให้สัตว์น้ำต้องหายไปพร้อมๆ กับชีวิตของเราเลย มันควรจะมีเหลือไว้ให้ลูกหลานบ้าง พวกเราทำประมงพื้นบ้าน เราหากินกันแบบอนุรักษ์คือทำพออิ่ม”กัมพล อธิบายวิถีชาวประมง
กัมพล ทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดคือความพยายามของชาวประมงในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเพื่อให้อยู่ถึงลูกหลาน แต่มันจะไม่มีค่าเลย ถ้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งหมายถึงท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะทุกอย่างจะถูกทำลายล้างหมด ไม่เหลือแม้แต่วิถีชีวิตของชาวประมง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน