สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถ่านหิน อยู่ใกล้กว่าที่คิด

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ปีนี้ทุกคนสัมผัสได้ถึงภาวะโลกร้อน ที่เกิดขึ้นอย่างน่ากลัว ความร้อนระอุที่มากระทบผิวหนัง แทบจะเผาไหม้ แม้แต่เดินกางร่มไปกลางแดด ยังไม่สามารถช่วยผ่อนคลายความร้อนลงได้ เพราะความร้อนอีกส่วนระเหยมาจากพื้นผิวถนน

เมื่ออากาศร้อนมากขึ้น ส่งผลต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประชาชนพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการใช้แอร์กันกระหน่ำ จนล่าสุดเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รายงานยอดการใช้ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 58 ว่า พุ่งสูงสุดถึง 27,198.4 เมกะวัตต์ จากพีกครั้งก่อนเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 อยู่ที่ 27,139.0 เมกะวัตต์ และถือเป็นสถิติการใช้สูงสุดทุบสถิติเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้

ทำให้กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่จัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP) ปี 2558-2579 ที่เพิ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นกันไปเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน 2558 มีการประเมินการใช้ไฟฟ้าในอนาคตของไทยช่วงปลายแผนจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หรือจะมีกำลังการผลิตประมาณ 70,410 เมกะวัตต์

และมีการกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นมาก จึงได้มีการปรับแผนกระจายการใช้เชื้อเพลิงโดยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงจาก 64% จะใช้เพียง 30-40% จะเพิ่มการใช้ถ่านหินจาก 20% เป็น 20-25% พลังน้ำจากต่างประเทศเพิ่มจาก 7% เป็น 15-20% พลังงานหมุนเวียนเพิ่มจาก 8% เป็น 15-20% นิวเคลียร์ 0-5% โดยคาดว่าราคาค่าไฟฟ้าในปี 2579 จะอยู่ที่ประมาณ 5.50 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 3.8 บาทต่อหน่วย

การปรับมาใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดกระแสการต่อต้านอย่างมากมายถึงผลกระทบในเชิงลบ โดยเฉพาะการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้า

ซึ่งมีบทเรียนกรณีตัวอย่างของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปางมาให้เห็นตลอด โดยชาวบ้านเริ่มฟ้องร้องมาตั้งแต่ก่อนการก่อสร้าง หลังการก่อสร้างเสร็จ เดินเครื่องไปแล้ว จนถึงปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ได้พยายามดำเนินการแก้ปัญหา ปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่จากต่างประเทศมาใช้ และป้องกันมาโดยตลอด

มาถึงโรงไฟฟ้า จ.กระบี่ ถึงวันนี้เปิดรับฟังความคิดเห็นรอบที่ 3 จบไปนานแล้ว และมีข้อเสนอให้ทำการแก้ไขต่าง ๆ แต่ยังเกิดกระแสคัดค้านจากคนในพื้นที่ถึงปัจจุบัน

หลายประเทศมีนโยบายลดการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน หันไปใช้พลังงานทดแทนอื่น เพราะมี "ทางเลือก"...

แต่ประเทศไทยเหตุใดจึงเลือกใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น ! คำถาม ซึ่งมีคำตอบค่อนข้างชัดเจน คือ เพราะประเทศไทยยังไม่มี "ทางเลือก" ที่ดีกว่า "ถ่านหิน" จึงเป็น "ทางรอด" ที่จะก่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน

ลึก ๆ ในใจของหลายคนรู้ดีว่า ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็น...แต่จะสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหนก็สร้างไป แต่อย่าสร้างใกล้บ้านฉันเป็นพอ !

แต่ที่น่าแปลก คือ ความกังวลของหลายคนเกี่ยวกับการใช้ถ่านหิน ต่างพุ่งเป้าไปยังการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเท่านั้น

แต่ทราบกันหรือไม่ว่า ความจริงการเผาไหม้จากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และมีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อยู่ไม่ไกลจากตัวคุณเลย

เพราะปัจจุบันโรงงานผลิตอาหาร และเครื่องดื่มจำนวนมากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย มีการนำเข้าถ่านหิน "ซับบิทูมินัส" มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำ เพื่อลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงกันแต่ละปีจำนวนมาก

โดยที่เจ้าของโรงงานแทบจะไม่มีการแจ้งอุตสาหกรรมจังหวัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิง ทั้งที่มีข้อกฎหมายบังคับให้แจ้ง

แม้แต่อุตสาหกรรมจังหวัดหลายแห่งยอมรับว่า ไม่เคยได้รับแจ้งจากโรงงาน แต่ทราบว่ามีการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจริง ขณะที่กรมควบคุมมลพิษบอกทำอะไรไม่ได้ เป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรม

ดังนั้น จึงคิดว่าถึงเวลาที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเอง ควรช่วยกันสอดส่องดูแลกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เลือกปฏิบัติ เลือกคัดค้านแต่โครงการขนาดใหญ่ เพราะไม่ว่าโรงงานใหญ่หรือเล็กก็ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฝุ่นมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถ่านหิน อยู่ใกล้กว่าที่คิด

view