จากประชาชาติธุรกิจ
จังหวัด "ชุมพร" เป็นเมืองกาแฟที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "บราซิลเมืองไทย" เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์ "โรบัสต้า" มากที่สุดในประเทศไทย โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2558 ของสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพรระบุว่า ชุมพรมีพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า 125,701 ไร่ โดยในอำเภอสวี มีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตมากที่สุด รองลงมาคืออำเภอท่าแซะ
นายจิระ สมบูรณ์เวชชการ นายกสมาคมพ่อค้ากาแฟไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์กาแฟของไทยว่า ชุมพรยังถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้ามากที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้ มีผลผลิตเฉลี่ยปีละประมาณ 2 หมื่นตัน แม้ว่าเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา ปริมาณผลผลิตลดลงเหลือประมาณ 1 หมื่นตันเศษเพราะประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ก็ยังเป็นจังหวัดที่ปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้ามากถึง 80% ของประเทศ
ส่วนกรณีที่ไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปีนี้ คิดว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม หรือลาว ยังไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัวของไทยสำหรับกาแฟพันธุ์โรบัสต้า ตราบใดที่รัฐบาลยังคงมาตรการรับซื้อกาแฟโรบัสต้า ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท และต้องรับซื้อผลผลิตในประเทศก่อนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลเพิ่งมีการนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศได้ประมาณ 4 ปีเท่านั้น
"สาเหตุที่ต้องนำเข้า เนื่องจากผลผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และกาแฟจากประเทศเพื่อนบ้านที่นำเข้าส่วนใหญ่ก็เป็นเมล็ดกาแฟดิบที่ยังไม่มีการแปรรูป"
ในส่วนของกาแฟพันธุ์อราบิก้า ที่กำลังเริ่มออกมาตีตลาดอยู่ในขณะนี้นั้น ส่วนใหญ่มักปลูกทางภาคเหนือ และเป็นกาแฟที่มีความแตกต่างจากพันธุ์โรบัสต้าโดยสิ้นเชิง นั่นคือพันธุ์อราบิก้าจะมีปริมาณกาเฟอีนต่ำและรสชาติอ่อนนุ่มกว่าพันธุ์โรบัสต้า ทำให้อัตราส่วนในการนำมาแปรรูปค่อนข้างสูงกว่าพันธุ์โรบัสต้ามาก ราคาจึงสูงกว่าพันธุ์โรบัสต้า ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับรสนิยมในการดื่มกาแฟ และเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคด้วย
นายกสมาคมพ่อค้ากาแฟไทยบอกว่า ปัจจุบันมีผู้รับซื้อกาแฟรายใหญ่ในประเทศ 3 ราย คือ เนสท์เล่ มอคโคน่า และเขาช่องรัฐบาลจึงต้องทำความตกลงกับผู้รับซื้อรายใหญ่ทั้ง 3 รายนี้ให้ชัดเจนในเรื่องราคารับซื้อ หากยังคงมาตรการรับซื้อกาแฟพันธุ์โรบัสต้าไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาทได้อยู่แบบนี้ ปัญหาการชุมนุมประท้วงของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟก็คงไม่เกิดขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม นอกจากจังหวัดชุมพรจะเป็นแหล่งผลิตกาแฟโรบัสต้ามากที่สุดของประเทศ เพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มกาแฟแล้ว ปัจจุบันชาวสวนกาแฟเมืองชุมพรยังได้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มกาแฟ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป กาแฟคั่วบด พร้อมทั้งมีการสร้างแบรนด์ออกมาตีตลาด ประมาณ 10 ราย
ขณะนี้แบรนด์กาแฟจากชุมพรที่สามารถสู้กับคู่แข่งในตลาดได้มีประมาณ 5 ราย คือ กาแฟคอฟฟี่ฟาร์ม (Coffee Farm) กาแฟเขาทะลุ (Khao Thalu) กาแฟถ้ำสิงห์ (Tham Sing) กาแฟเอสที (ST) และกาแฟชุมพร (Chumphon Coffee) นอกนั้นจะเป็นผู้ผลิตรายย่อยของวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ในท้องถิ่น
นายประยูร สงค์ประเสริฐ นายกสมาคมชาวสวนกาแฟไทยให้ข้อมูลว่า ในตลาดโลกยังต้องการผลผลิตกาแฟปีละประมาณ 7 ล้านตัน ขณะที่เมืองไทยผลิตกาแฟได้ประมาณ 2 หมื่นตันเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศด้วย ดังนั้นอนาคตของกาแฟไทยหลังเข้าสู่ AEC จึงค่อนข้างสดใสกว่าพืชชนิดอื่น
ในส่วนของกาแฟพันธุ์อราบิก้า ที่กำลังรุกคืบเข้ามาแชร์ตลาดกาแฟอยู่ในขณะนี้ ก็คงไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดกาแฟโรบัสต้าได้ เพราะกาแฟทั้ง 2 พันธุ์นี้ มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องรสชาติ ราคา และขั้นตอนในการชงกาแฟ
สำหรับการปลูกกาแฟในประเทศเพื่อนบ้านนั้น สปป.ลาวนิยมปลูกกาแฟอราบิก้ามากกว่าโรบัสต้า ซึ่งนายกสมาคมชาวสวนกาแฟไทยประเมินว่า สิ่งที่น่ากลัวคือกาแฟจากเวียดนาม เพราะมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยมาก และผลผลิตต่อไร่ก็มากกว่าด้วย ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวสวนเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้นจากเดิมที่มีผลผลิตประมาณ 200-300 กิโลกรัมต่อไร่ ควรเพิ่มเป็นประมาณ 500 กิโลกรัมต่อไร่ จึงจะคุ้มค่ากับพื้นที่ปลูก
แม้ว่ามุมมองของนายกสมาคมพ่อค้ากาแฟไทย และนายกสมาคมชาวสวนกาแฟไทยจะสอดคล้องกันว่า อนาคตของกาแฟไทยหลังการเข้าสู่ AEC จะค่อนข้างสดใส โดยเฉพาะกาแฟพันธุ์โรบัสต้า แต่ชาวสวนกาแฟ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรประมาท แต่ควรให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งเกาะติดเทรนด์การผลิตและการบริโภคกาแฟของตลาดโลกอย่างใกล้ชิดด้วย
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย