ไขปมคาใจ...ทำไมห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์
จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล
หลังจากกระแสข่าวที่มีคนกลุ่มหนึ่งออกมารณรงค์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผ่อนผันอนุโลมให้รถมอเตอร์ไซค์ทุกชนิดสามารถขึ้นสะพานข้ามแยกและลงอุโมงค์ลอดได้ เช่นเดียวกับรถยนต์ โดยให้เหตุผลว่าพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่บังคับใช้อยู่นั้นไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน
คำถามที่หลายคนสงสัยคือ เพราะเหตุใดถึงห้ามขึ้นสะพานข้ามแยก-ลงอุโมงค์? แล้วเราจะทำให้รถมอเตอร์ไซค์กับรถยนต์สามารถใช้ถนนร่วมกันได้หรือไม่?
ขอเถอะครับ
ในหมู่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเฟซบุ๊ก ขอเถอะครับ และแฮชแท็ก #ขอเถอะครับ
เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อไม่นานนี้ มีนักขับบิ๊กไบค์รายหนึ่งออกมาโพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามว่าเหตุใดวิศวกรไทยจึงไม่ออกแบบ"ถนน สะพาน และอุโมงค์ข้ามแยกแบบปลอดภัย"ให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถสองล้อ ทั้งที่จ่ายภาษีเหมือนกัน ทว่าในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่าห้ามไม่ให้รถมอเตอร์ไซค์ทุกชนิดขึ้นสะพานและลงอุโมงค์ ฝ่าฝืนถูกจับ-ปรับไม่มีละเว้น กระทู้ดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจและถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงอย่างกว้างขวาง
ล่าสุด โดม เผือกขจี วัย 39 สิงห์นักบิดและผู้ก่อตั้งเพจ ขอเถอะครับ ในฐานะแกนนำรณรงค์ให้มีการแก้ไขปรับปรุงพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เพิ่งตกเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อเขาลงทุนคุกเข่าอ้อนวอนเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรกลางสี่แยก เพื่อขอไม่ให้เขียนใบสั่งข้อหาขึ้นสะพาน ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
"ผมขี่มอเตอร์ไซค์มา 25 ปี เรื่องสะพานข้ามแยกและลงอุโมงค์นั้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนเข้าใจนะว่ามันขึ้นไม่ได้ เพราะขนาดซีซีเครื่องยนต์มันน้อย ขี่ขึ้นไปแล้วเสียวสันหลังแน่ๆ แต่ระยะหลังรถมอเตอร์ไซค์มีขนาดเครื่องยนต์ 100 ซีซีขึ้นไป สามารถทำความเร็วได้เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งตรงกับความเร็วที่กฏหมายกำหนดไว้ว่ารถทุกชนิดที่ขึ้นสะพานหรือลงอุโมงค์ต้องทำความเร็วไม่เกิน 60 กม.ต่อชั่วโมง นั่นหมายความว่าถ้ากำหนดแบบนี้ มอเตอร์ไซค์ก็ต้องขึ้นสะพานหรือลงอุโมงค์ได้สิ แต่เหตุผลที่มอเตอร์ไซค์ขึ้นไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมายข้อหนึ่งในพรบ.จราจร พ.ศ.2522 ที่ระบุไว้ว่ารถจักรยานยนต์จะต้องขับชิดขอบทางด้านซ้าย ซึ่งพอเอาเข้าจริง ขอบทางด้านซ้ายมันชิดไม่ได้ มีทั้งฝาท่อระบายน้ำ รถเมล์ รถแท็กซี่จอดแช่กันเยอะแยะเต็มไปหมด เรื่องนี้ทุกคนรู้หมด
สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้คือ มอเตอร์ไซค์โดนจับทุกวัน ไม่ให้ขึ้นสะพาน ไม่ให้ลงอุโมงค์ เขาก็ต้องเลี้ยวซ้ายไปกลับรถ จากนั้นต้องตัดเลนเพื่อเข้ามาเลนซ้ายสุดอีก เพิ่มความเสี่ยงอันตรายในชีวิตและทรัพย์สินเข้าไปอีกถ้าเทียบกับการข้ามสะพานไปแค่ 15 วินาที"
หนุ่มบิ๊กไบค์รายนี้เสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน
"ตัวเลขคร่าวๆของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในพื้นที่กทม. ผมเชื่อว่ามีมากกว่าหนึ่งล้านคน แล้วท่านผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในบ้านเมืองจะไม่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งหนึ่งล้านคนนี่เลยเหรอครับ ถึงเวลาแล้วที่ควรปรับปรุงพรบ.จราจรทางบก ซึ่งเราใช้กันมาเกือบ 40 ปีแล้ว ถ้าเรามีความจริงใจและเต็มใจในการพัฒนา ผมว่าทุกอย่างปรับปรุงแก้ไขได้
ทุกวันนี้ คนขับรถมอเตอร์ไซค์ต้องโดนจับ ปรับไปไม่รู้วันละเท่าไหร่ สำหรับบางคนที่มีเงินเดือนไม่กี่พัน เช่น พนักงานขับรถส่งเอกสาร พนักงานส่งอาหาร โดนใบสั่งทีนึง 300-400บาทถือว่าเยอะมากนะครับเลยไม่แปลกใจที่เราเห็นคนขี่มอเตอร์ไซค์กลับรถตรงคอสะพานเพื่อหนีตำรวจ เพราะนั่นเท่ากับรายได้เขาทั้งวันนะครับ ผมขอเรียกร้องให้ตำรวจจราจรช่วยอนุโลมให้เราสามารถใช้สะพานและอุโมงค์ไปก่อน จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ถ้าไม่อนุโลมให้เราใช้เราจะต้องโดนใบสั่งอีกกี่แสนอีกกี่ล้านบาท อนุโลมเรื่องนี้แค่เรื่องเดียว ส่วนเรื่องอื่นไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน แต่งท่อ ผ่าไฟแดง วิ่งช่องทางด่วน จับไปเถอะ"
นี่คือเสียงสะท้อนของตัวแทนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯ
ความปลอดภัยต้องมาก่อน
จากข้อมูลของกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ระบุว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสะพานข้ามแยกทั้งหมด 21 แห่ง ประกอบด้วย 1.สะพานกรุงเทพ 2.สะพานกรุงธน 3.สะพานเฉลิมหล้า 56 4.สะพานชมัยมรุเชฐ 5.สะพานผ่านพิภพลีลา 6.สะพานผ่านฟ้าลีลาศ 7.สะพานพระปกเกล้า 8.สะพานพระพุทธยอดฟ้า 9.สะพานพระราม 3 10.สะพานพระราม 6 11.สะพานพระราม 7 12.สะพานพระราม 8 13.สะพานพระราม 9 14.สะพานภูมิพล 15.สะพานมหาดไทยอุทิศสะพานมัฆวานรังสรรค์ 16.สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน 17.สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 18.สะพานเทวกรรมรังรักษ์ 19.สะพานเหล็ก 20.สะพานหัน และ21.สะพานอรไท
ขณะที่ อุโมงค์ลอดมี 10 แห่ง ประกอบด้วย 1.อุโมงค์ดินแดง 2.อุโมงค์บางพลัด 3.อุโมงค์ห้วยขวาง 4.อุโมงค์ท่าพระ 5.อุโมงค์สุทธิสาร 6.อุโมงค์หลักสี่ 7.อุโมงค์เชื่อมพหลโยธิน-ลาดปลาเค้า 8.อุโมงค์ถาวรธวัช 9.อุโมงค์กลับรถพัฒนาการ และ10.อุโมงค์แยกเกษตรฯ
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) อธิบายว่า สะพานข้ามแยกถูกออกแบบมาเพื่อระบายรถในช่วงที่การจราจรติดขัด รถมอเตอร์ไซค์สามารถลัดเลาะซิกแซกจนไปอยู่ตำแหน่งด้านหน้าสุดได้ จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นสะพาน
"การห้ามไม่ให้รถมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานข้ามแยกเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย เนื่องจากความเร็วของรถยนต์ต่างจากรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์เวลาขับเร็วแล้วเกิดอุบัติเหตุจะมีระบบป้องกันที่ดีกว่า ทั้งเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ต่างจากรถมอเตอร์ไซค์ที่แทบไม่มีอะไรป้องกันเลย ยิ่งถ้าสะพานข้ามแยกยาวๆปล่อยให้รถมอเตอร์ไซค์วิ่งปนกับรถยนต์จะอันตรายมาก เพราะเวลาถนนโล่ง รถจะวิ่งเร็วมาก ยกตัวอย่างสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ทางยาวๆรถมาเร็วๆ ถ้าเกิดอุบัติเหตุขณะที่มีมอเตอร์ไซค์อยู่บนสะพาน โอกาสที่คนขี่มอเตอร์ไซค์จะบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตมีสูงมาก เช่นเดียวกับกรณีห้ามมอเตอร์ไซค์เข้าช่องทางด่วนและขึ้นบนทางด่วน เพราะไม่สามารถควบคุมความเร็วของรถได้เลย
ส่วนเรื่องอุโมงค์ลอด ตามหลักวิชาการด้านความปลอดภัยบนท้องถนนระบุว่า เวลากลางวันขณะที่เราขับรถ ม่านตาจะหรี่ลงเพื่อไม่ให้มีแสงเข้ามามากเกินไป พอลงอุโมงค์ ม่านตาจะต้องมีการปรับตัวขยายขึ้นทันที ทำให้สายตาของคนขับรถช่วงนั้นจะเบลอไปประมาณครึ่งวินาที ไม่สามารถโฟกัสวัตถุข้างหน้าได้ ประกอบกับมอเตอร์ไซค์เป็นวัตถุขนาดเล็กไม่เหมือนรถยนต์ที่มีวัตถุขนาดใหญ่ ทำให้มองเห็นไม่ชัด อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านความเร็วด้วย จะสังเกตได้ว่าก่อนลงอุโมงค์ ถนนจะถูกออกแบบให้รถไม่ชลอความเร็วลง เพราะไม่รู้ว่าข้างในอาจมีรถติดหรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหรือเปล่า"
--------------------------------------------------------------------------------------------
ควบคุมความเร็วได้=ใช้ร่วมกันได้
ถามว่า สามารถออกแบบสะพานข้ามแยกหรืออุโมงค์ลอดมาให้รถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ใช้งานร่วมกันได้ไหม?
คำตอบจาก ผศ.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่าเป็นไปได้ แต่ต้องกำหนดเกณฑ์การใช้อย่างเคร่งครัด โดยไม่จำเป็นต้องมีปรับปรุงสะพานใหม่ด้วยซ้ำ
"วิธีคือต้องกำหนดให้ใช้ความเร็วที่เหมาะสมในระดับเดียวกัน เช่น กำหนดความเร็วไว้ที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วดังกล่าวถือว่าปลอดภัยสำหรับมอเตอร์ไซค์หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น พูดง่ายๆว่าไม่ทำให้ถึงตาย นอกจากนี้ต้องให้มอเตอร์ไซค์วิ่งตรงกลางร่วมกันกับรถยนต์เลย ไม่ต้องชิดขอบทางด้านซ้ายเหมือนก่อน เท่ากับว่ารถยนต์ก็ต้องเคารพรถมอเตอร์ไซค์เสมือนว่าเป็นรถยนต์อีกคันหนึ่งด้วย ถ้าทำแบบนี้รถทุกประเภทก็สามารถใช้สะพานข้ามแยกร่วมกันได้ ถึงอย่างนั้น อาจใช้ได้แค่สะพานข้ามแยกในบางพื้นที่เท่านั้น ต้องวิเคราะห์เป็นกรณีไป เช่น พื้นที่นั้นมีความเป็นไปได้ที่รถยนต์สามารถลดความเร็วลงเหลือ 50 กม.ต่อชั่วโมง ยกตัวอย่างสะพานข้ามแยกม.เกษตร ถนนวิ่งยาวๆแบบนั้นยากที่จะไม่ลดความเร็วลงเหลือ 50 กม.ต่อชั่วโมง การที่มอเตอร์ไซค์เข้าไปปะปนก็อาจมีปัญหา แล้วถ้าขึ้่นบนสะพานแล้วตอนลงจะต้องเปลี่ยนช่องมาเลนซ้ายสุด ก็อาจเกิดอันตรายได้ถ้ารถยนต์ที่วิ่งมาด้านล่างมาด้วยความเร็วสูง
ขณะที่เรื่องอุโมงค์ลอด มีข้อจำกัดด้านการมองเห็น เพราะเวลาลงอุโมงค์สายตาจะเบลอไปช่วงสั้นๆ รถมอเตอร์ไซค์ก็เล็กมาก อีกอย่างถ้าในอุโมงค์ระบบระบายน้ำไม่ดี ก็มีความเสี่ยงทำให้มอเตอร์ไซค์ลื่นล้ม โดยสรุปแล้วไม่มีข้อห้ามใดที่ไม่ให้รถมอเตอร์ไซค์ใช้สะพานข้ามแยกและอุโมงค์ลอดร่วมกับรถยนต์ได้ ถ้าเราสามารถควบคุมความเร็วได้"เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบถนน
เจ้าของเพจต้นตอภาพกราบตำรวจกลางถนน เข้ารับทราบข้อหาพร้อมขอโทษ
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โดย ทีมข่าวอาชญากรรม
เจ้าของเพจ “ขอเถอะครับ” และภาพคุกเข่าไหว้ตำรวจจราจรที่ถูกเผยแพร่ในโลกโซเชียล เข้ารับทราบข้อหาผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แจงอยากได้ภาพไปใช้ในการรณรงค์เรื่องการใช้สะพานข้ามแยก-อุโมงค์ แต่เว็บอื่นเอาไปใช้ต่อแบบผิดๆ พร้อมกราบขอโทษที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐได้รับผลกระทบ
จากกรณีที่โซเชียลเน็ตเวิร์กได้แชร์ภาพชายคนหนึ่งกำลังคุกเข่าไหว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรส่งต่อกันไป โดยภาพดังกล่าวเป็นภาพจากเพจชื่อ “ขอเถอะครับ” เฟซบุ๊กของผู้ใช้รายหนึ่ง ใช้ชื่อภาพว่า “ขอเถอะครับ สะพานและอุโมงค์เพื่อคนทุกล้อ” โพสต์เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยบางเว็บไซต์มีการนำเสนอข่าวว่าชายในภาพคนดังกล่าว กำลังกราบขอร้องไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเนื่องจากขี่จักรยานยนต์บิ๊ก ไบค์ขึ้นสะพานข้ามแยก หรือถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตำรวจบังคับให้ก้มกราบ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในโลกออนไลน์ถึงความไม่เหมาะสม มีประชาชนต่อว่าเป็นจำนวนมากทำให้ ด.ต.บุญมี พัฒนะแสง ผบ.หมู่ จร.งานสายตรวจ 1 กก.1 บก.จร.ต้องเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ ให้ดำเนินคดีต่อผู้โพสต์ภาพดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ สน.บางซื่อ นายโดม เผือกขจี อายุ 39 ปี เดินทางเข้าพบ ร.ต.ท.วีระพันธ์ พรมมาเขียว พงส.สน.บางซื่อ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยมี พ.ต.ท.พันธนนท์ เกียรติไพบูลย์ สว.งานสายตรวจ 1 กก.1 บก.จร. และ ด.ต.บุญมี พัฒนะแสง ผบ.หมู่ จร.งานสายตรวจ 1 กก.1 บก.จร.เจ้าหน้าที่ตำรวจในภาพดังกล่าว เข้าร่วมรับฟังการสอบปากคำ
นายโดมกล่าวว่า ในเกิดเหตุช่วงบ่ายวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ตนพร้อมกลุ่มเพื่อนในเพจเฟซบุ๊ก “ขอเถอะครับ” ได้นัดรวมตัวกันถ่ายทำรายการเพื่อรณรงค์เรื่องการใช้สะพานข้ามแยก-อุโมงค์ สำหรับรถทุกล้อ ทางช่องโมโน 29 ที่เมเจอร์รัชโยธิน อเวนิว ฝั่งตรงข้ามธนาคารไทยพาณิชย์ โดยหลังจากถ่ายทำรายการเสร็จตนพร้อมเพื่อนในกลุ่มก็ขับขี่รถบิ๊กไบค์รวม 4 คันออกจากจุดดังกล่าวเลี้ยวซ้ายที่แยกรัชโยธิน ไปกลับรถที่แยกเสนา จากนั้นก็ขี่รถย้อนกลับมาฝั่งมุ่งหน้าแยกรัชโยธินเพื่อจะไปที่อุโมงค์ สุทธิสาร-ห้วยขวาง แต่เมื่อกลับรถมาได้เล็กน้อยน้องในกลุ่มก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้ง ด่านอยู่บริเวณเชิงทางลงสะพานข้ามแยกเกษตรเรียกจับกุมเนื่องจากไม่ติดแผ่น ป้ายทะเบียน พวกตนจึงจอดรถรอ หลังจากนั้นตนก็หันไปเห็น ด.ต.บุญมียืนอยู่เป็นคนสุดท้ายในด่าน และว่างอยู่ไม่ได้จับกุมใคร ตนจึงเข้าไปก้มกราบ ด.ต.บุญมี พร้อมทั้งวานให้น้องที่พกกล้องวิดีโอไปช่วยถ่ายภาพให้เนื่องจากอยากได้ภาพไป ใช้ในการรณรงค์เรื่องการใช้สะพานข้ามแยก-อุโมงค์สำหรับรถทุกล้อมานานแล้ว หลังจากบันทักภาพเสร็จตนก็นำไปโพสต์ในหน้าเพจ “ขอเถอะครับ” ทันที พร้อมทั้งแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการรณรงค์เรื่องดังกล่าว แต่หลังโพสต์ไปก็มีเว็บไซต์หลายๆ เว็บ นำรูปดังกล่าวไปตนไปแชร์โดยที่ไม่ได้มีการขออนุญาตหรือสอบถามข้อเท็จจริงจาก ตนเลย อีกทั้งยังเขียนข่าวทำให้คนอ่านเข้าใจผิด เช่น ตนกำลังก้มกราบเพื่อขอร้องไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม หลังจากขี่รถบิ๊กไบค์ลงสะพานข้ามแยกมา หรือบ้างก็ว่าตนถูกตำรวจบังคับให้ก้มกราบก็มี
นายโดมกล่าวอีกว่า วันนี้ทางพนักงานสอบสวนได้นัดให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งตนก็ยินดีรับทราบข้อกล่าวหา แต่ตนไม่ได้มีเจตนาทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียหายแต่อย่างใด ซึ่งตนต้องขอโทษ ด.ต.บุญมีด้วยที่ทำให้ได้รับผลกระทบต่อเรื่องนี้ ทำให้เสียชื่อเสียง ทั้งที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ตนเพียงแค่ต้องการรณรงค์เรื่องการใช้สะพานข้ามแยก-อุโมงค์สำหรับรถทุกล้อ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม อยากเรียกร้องให้สื่อตามเว็บไซด์ต่างๆ ที่แชร์รูปตนไปและเขียนข่าวผิดไปจากข้อเท็จจริงว่าให้ช่วยรีบแก้ไขปรับปรุง ด้วย หากไม่มีการแก้ข่าวตนจะแจ้งความดำเนินคดีต่อเว็บไซต์นั้นๆ ต่อไป
ด้าน ด.ต.บุญมี พัฒนะแสง ผบ.หมู่ จร.งานสายตรวจ 1 กก.1 บก.จร.กล่าวว่า รู้สึกตกใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจากวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมาตนยืนเป็นคนสุดท้ายของด่านตรวจบริเวณเชิงสะพานข้ามแยกเกษตร ฝั่งขาเข้ามุ่งหน้าแยกรัชโยธิน ซึ่งนายโดมก็ไม่ได้ขับขี่จักรยานยนต์ลงสะพานข้ามแยกมาแต่อย่างใด แต่พอนายโดมมาก้มกราบตน ก็ถามกลับไปว่า “อ้าวน้อง ทำไมทำแบบนี้” เจ้าตัวก็บอกว่าไม่มีอะไรก่อนแยกย้ายกันไป หลังจากผ่านไป 1-2 วันเรื่องราวก็เริ่มใหญ่ขึ้น ตนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก คนรู้จักญาติพี่น้องก็มาถามตนว่าทำไมเป็นคนใจร้ายแบบนี้ ลูกตนก็ถามว่าทำไมพ่อถึงทำแบบนี้ ทั้งที่ไม่ได้เป็นเรื่องจริง ตนไม่ได้จับกุม ไม่ได้บังคับให้นายโดมก้มกราบตามที่สื่อเผยแพร่ไป ตนจึงปรึกษากับผู้บังคับบัญชาก่อนจะมาแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สน.บางซื่อ ท้องที่ที่ตนเปิดเจอรูปดังกล่าว เพราะเกรงว่าเรื่องราวจะบานปลาย อย่างไรก็ตาม อยากฝากบอกสังคมด้วยว่าภาพที่ออกสู่สายตาประชาชนกับภาพความจริงนั้นเป็นคนละ เรื่องกัน เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีสิทธิไปบังคับใครให้มาก้มกราบแต่อย่างใด
พ.ต.ท.พันธนนท์ เกียรติไพบูลย์ สว.งานสายตรวจ 1 กก.1 บก.จร.กล่าวว่า วันเกิดเหตุตนพร้อมลูกน้องจำนวน 20 นาย และเจ้าหน้าที่ทหารอีก 6 นาย แบ่งกำลังกันตั้งด่านตรวจขันวินัยจราจรบริเวณเชิงทางลงสะพานข้ามแยกเกษตร ทั้งสองฝั่ง เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ขี่ข้ามสะพานข้ามแยก ไม่ใช่มาตั้งด่านดักจับเพียงแค่ฝั่งเดียว แต่ก็ยังมีผู้กระทำผิดอยู่ตลอด หลังจากภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็ได้ทำรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตาม ลำดับชั้นจนถึง ผบ.ตร.แล้วก่อนจะให้ ด.ต.บุญมีเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ไว้
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต่อนายโดม ก่อนทำการสอบปากคำและพิมพ์ลายนิ้วมือ จากนั้นจะปล่อยตัวไป จากนั้นก็จะทำการตรวจข้อเท็จจริงถึงเรื่องการนำรูปไปลงในเพจดังกล่าว
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย