“สถาบันการเงินชุมชน” ทำนบการเงินของคนรากหญ้า
โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่ต้องง้อธนาคาร หรือแหล่งเงินกู้นอกระบบ แต่ชุมชนสามารถสร้างทำนบทางการเงินของตัวเองได้ด้วย“สถาบันการเงินชุมชน”ภูมิคุ้มกันทางการเงินฉบับชุมชน
“ธนาคารเขารับซื้อเงินเราร้อยละ 1 แต่พอเราไปกู้เขาคิดร้อยละ 10 ชาวบ้านเสียเปรียบมาก เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะเอาเงินของเรามาออมกันเองเดือนละสิบบาทร้อยบาท ใครลำบากก็มาเอาไปใช้ เราจะสร้าง ‘ทำนบการเงิน’ ให้กับชุมชนของเรา”
คำของ “พระอาจารย์มนัส ขันติธัมโม” สำนักสงฆ์จันทรารักษ์ (โพธิ์ทอง) ผู้ริเริ่มเครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์ จังหวัดจันทบุรี ที่บอกไว้ในงาน “พลังชุมชนท้องถิ่นปฏิรูปสังคม” เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ผ่านมา
ความคิดปลุกพลังชาวบ้านให้มายืนด้วยลำแข้ง เกิดขึ้นเมื่อพบว่า คนในชุมชนต้อง “เสียเอกราชทางการเงิน” ให้กับสถาบันการเงิน และนายทุน มาโดยตลอด ซึ่งถ้าชุมชนยังบริหารจัดการการเงินของตัวเองไม่เป็น ไม่ลุกมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ก็ไม่มีทาง “ปลดแอก” จากปัญหานี้ได้
ที่มาของการชักชวนกันมาสร้างทำนบทางการเงินฉบับชุมชน ที่เริ่มจากทำนบเล็กๆ มีสมาชิกแค่ 100 คน มีเงินรวมกันเบื้องต้นแค่ไม่กี่พันบาท ทว่าทำมากว่าสิบปี กลับกลายเป็นทำนบขนาดใหญ่ มีสมาชิกประมาณ 8 หมื่นคน กระจายออกไปใน 140 กลุ่ม มีเงินออมปีละกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่มีเงินกองทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท!
ภาพนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมถึงได้รับความสนใจจากคนรากหญ้ามากขนาดนี้ พระอาจารย์มนัส เล่าว่า บทบาทของเครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี ไม่ใช่แค่การออม และให้กู้ แต่คือ การนำกำไรที่เกิดจากการบริหารเงิน อย่างดอกเบี้ยจากการให้กู้ มาทำเป็น “สวัสดิการ” ให้ชาวบ้าน เช่น นอนโรงพยาบาลได้คืนละ 500 บาท สมาชิกตายจ่าย 1 แสนบาท ตลอดจนมอบทุนการศึกษาให้บุตรหลานในชุมชน เหล่านี้เป็นต้น แม้แต่ใครอยากจะลาออกจากการเป็นสมาชิกยังได้ข้าวสารแถมให้อีก 100 กิโล แน่นอนว่า ไม่มีใครเลือกข้าวสาร เพราะการเป็นสมาชิก “สิทธิประโยชน์” มากกว่า
“ชาวบ้านก็บอกดีนะ มีเงิน มีสวัสดิการ มีกำไร และยังกู้เงินได้อีก”
สถาบันการเงินชุมชน เป็นการดูแลซึ่งกันและกันของชุมชน สร้างความเข้มแข็งมาได้หลายปี ด้วยการสร้างระบบตรวจสอบซึ่งกันและกันในชุมชน โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางการทำงาน จึงลดค่าใช้จ่าย มีการฝึกศักยภาพคนเพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ ป้องกันการเป็นหนี้เสีย และจัดการปัญหาต่างๆ ได้ ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้น
เวลาเดียวกัน ก็จัดทีมงานลงไปช่วยพัฒนาชาวบ้าน ร่วมแก้ปัญหาที่มีอยู่ เช่น ปัญหาด้านการเกษตร ที่ต่อยอดจนมีการผลิตปุ๋ยใช้เอง และขายกันเองภายในกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มเสียชีวิต ทำน้ำยาล้างจานแจกจ่ายแขกร่วมงาน มีดอกไม้จันท์ มีโลง พร้อมพระสวด ไม่ต้องให้เงินรั่วไหลออกไปไหน ที่น่าสนใจคือ นี่เป็นความคิดที่เกิดจากชาวชุมชนเองทั้งนั้น
เมื่อมีกำลังมีมากขึ้น ก็สามารถขยายไปแก้ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นได้ หนึ่งปัญหาสำคัญที่พ่วงมาแต่อดีต คือ ชาวบ้านเป็นหนี้ ต้องเอาบ้านและที่ไปจำนองไว้ และต้องทนจ่ายค่าดอกเบี้ยที่สูงลิ่ว ทางกลุ่มจึงรับจำนองทรัพย์สินเหล่านี้ไว้แทน แล้วให้สมาชิกได้ผ่อนจ่ายในราคาที่ถูกลง สุดท้ายก็พัฒนามาสู่การลงหุ้นกันเพื่อซื้อที่มาขายและเก็งกำไร
“เราลงทุนซื้อที่ แล้วจัดการขายให้กับสมาชิกและที่ไม่ใช่สมาชิก อย่าง ข้าราชการเกษียณที่อยากมีบ้านไว้อยู่หลังเกษียณ ก็มาซื้อกับเราได้ เราซื้อที่มาเพื่อจัดสรรให้สมาชิกได้อยู่ และเพื่อเก็งกำไร แล้วกระจายกำไรนั้นไปสู่ชุมชนของเรา”
พระอาจารย์มนัส บอกว่า นี่เป็นการกระจายการลงทุนจากคนรวยมาสู่คนจน เพื่อให้คนจนสามารถลงทุนเพื่อซื้อที่มาเก็งกำไรได้ เพราะไม่เช่นนั้น ที่ดินจะกลายเป็นของคนรวย และคนต่างชาติทั้งหมด ขณะที่อยากให้ภาพนี้เกิดขึ้นกับชุมชนทั้งประเทศ เพื่อให้คนจนได้มีทำนบกั้นเงินที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และอยู่ได้อย่างเข้มแข็งด้วยตัวเอง
ความเข้มแข็งทางการเงิน ไม่ได้นำมาแค่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชน ทว่ายังให้ในสิ่งที่เรียกว่า “ความสุข”
“พิศาล เกษมสุข” ผู้จัดการสถาบันการเงินชุมชนสุขสำราญ องค์การบริหารส่วนตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร อดีตนิสิตปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการบัญชี พนักงานกินเงินเดือนในเมืองหลวง ที่ตัดสินใจกลับบ้านเกิด หลังพบภาพฝังใจว่า พี่น้องในชุมชนมีแต่จะจนลงๆ ขณะที่คนรวยกลับกลายเป็น “นายทุน” เท่านั้น
ชุมชนสุขสำราญเป็นหมู่บ้านในป่าที่ติดชายแดนพม่า ระยะทางจากหมู่บ้านไปโรงพยาบาล ต้องผ่านถนนลูกรังยาวถึง 50 กิโล การไปเริ่มต้นพลิกฟื้นหมู่บ้าน เขาบอกว่า เริ่มจากไปหากลุ่มกองทุนที่เป็นสมบัติของชุมชนดั้งเดิม ซึ่งพบว่า มีกลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์จนเป็นวิสาหกิจชุมชนอยู่แล้ว จึงขอเข้าไปร่วมทำงานกับกลุ่มนี้
จากกลุ่มเล็กๆ ที่เริ่มในปี พ.ศ.2552 มีสมาชิกแค่ 77 คน มีเงินทุนตั้งต้นกว่า 3 แสนบาท และเป็นเงินทุนจากภายนอก คือ กู้จากธนาคาร พอได้เงินมาก็เอาไปสร้างกิจกรรม และก่อเกิดเป็นธุรกิจต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ในชุมชน จนปัจจุบันสถาบันการเงินชุมชนสุขสำราญ มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่กว่าร้อยล้านบาท มีการจัดสวัสดิการตอบแทนไปให้กับชุมชน มีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ 8 กิจกรรม โดยที่เขาย้ำว่า ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อไปเบียดเบียนชุมชน แต่เป็นรายจ่ายที่ปกติชาวบ้านต้องจ่ายให้กับนายทุนอยู่แล้ว ก็แค่กลับมาจ่ายให้กับสถาบันของชุมชน
ซึ่งเมื่อมีกำไร ก็ย้อนกลับไปเป็นของคนในชุมชนเอง..ไม่ใช่นายทุน
“ถึงตอนนี้ ผมพูดได้ว่า เราเป็นชุมชนในป่าที่มีความสุขที่สุด วันนี้มีเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะด้านเกษตรกรรม คอมพิวเตอร์ บัญชี และอื่นๆ พร้อมใจกันกลับบ้าน ไปทำงานที่บ้านด้วยกัน ปัจจุบันที่สถาบันการเงินชุมชน เรามีพนักงาน 14 คน ที่สร้างเงินเดือนได้เหมือนกับทำงานในกรุงเทพฯ” เขาบอกความสำเร็จ
แนวคิดสู่ความสำเร็จแบบสถาบันการเงินชุมชนสุขสำราญ คือ ทุกอย่างต้องเกิดจากความเห็นชอบของสมาชิก เรียกว่า ตั้งแต่คิด หรือทำขึ้นมาครั้งแรก ก็ต้องให้ชาวชุมชนเข้าใจตรงกันก่อน ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็เดินหน้าต่อไม่ได้ ขณะที่ต้องเป็นการทำงานร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งปัจจุบัน มีผู้เฒ่าผู้แก่มาร่วมเป็นกรรมการ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และกำหนดนโยบายว่า อยากให้ทำอะไร ส่วนฝ่ายเด็กรุ่นใหม่ที่มีวิชาความรู้ ก็ไปขับเคลื่อนให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริง
“วันนี้เด็กๆ ที่มีความรู้เริ่มกลับไปบ้านมากขึ้น คนหนึ่งที่กำลังเรียนแพทย์อยู่ เขาก็มีความฝันแบบเดียวกับผมว่า อยากไปสร้างโรงพยาบาลในชุมชนของเรา อยากกลับมาทำเหมือนพี่ และนี่ก็คือความสำเร็จที่แท้จริงของชุมชนสุขสำราญ”
ขณะที่ “เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และประธานมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.) ที่สรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จของการทำสถาบันการเงินชุมชน ว่ามาจาก 3 ตัวหลัก คือ “คน” ไม่ว่าจะตัวสถาบันการเงิน ตลอดจนกรรมการ และเหล่าสมาชิก ที่ต้อง ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ และมีความเชื่อมั่นว่า ระบบการเงินชุมชนจะช่วยเขาได้จริง คิดแบบนี้ถึงจะอยู่รอด
ต่อมาคือ “ความรู้” โดยต้องมีความรู้เรื่องการบริหารชีวิตตัวเอง มีความรู้ในการจัดการเงินทุน ต้องมีทักษะในการประกอบอาชีพ เพราะส่วนมากแล้ว ชาวบ้านมักกู้เงินเพื่อมาประกอบอาชีพ ตลอดจนต้องสามารถใช้ความรู้ในการวางแผนต่างๆ ได้ เขาย้ำว่า ถ้าขาดความรู้เหล่านี้ ทุกอย่างก็เกิดขึ้นไม่ได้
ปิดท้ายกับ “ระบบ” ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยสิ่งที่ชุมชนต้องตระหนักก็คือ “ออมก่อนกู้” ถ้าคิดแต่จะกู้ โดยไม่คิดออมก่อน สถาบันการเงินคงไม่สามารถเข้มแข็งได้ และที่อีกหัวใจคือ ต้องมี "สวัสดิการชุมชน" เพื่อจูงใจให้คนอยากเข้าร่วม
“ส่วนเงื่อนไขสู่ความสำเร็จของสถาบันการเงินชุมชน คือ การเติบโตที่มีการจัดการอย่างสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ มีการตอบสนองความต้องการของสมาชิกที่ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิต มีการเพิ่มขึ้นของเงินทุนจากการออมหรือหุ้นมากกว่าการกู้ภายนอก มีต้นทุนต่ำ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับส่วนงานพี่เลี้ยงหรือนโยบายภาครัฐ”
เขาสรุปปิดท้าย เพื่อให้สถาบันการเงินชุมชน เกิดขึ้น และยั่งยืนได้ ด้วยสองมือของชุมชน
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย