เชียงใหม่ยอดซื้อ"3สมุนไพร"พุ่ง สธ.แนะกินควบ"ยาแผนปัจจุบัน
จากประชาชาติธุรกิจ
สธ.ยืนยันขิง-พุทราแห้ง-เห็ดหูหนูดำ มีฤทธิ์ลดไขมันในเส้นเลือด แนะกินระยะแรก จ.เชียงใหม่ คึก ปชช.แห่ซื้อสมุนไพร ยอดขายพุ่ง 15%
จากกรณีที่ นพ.ประชา กัญญาประสิทธิ์ หรือหมอเบิร์ด แผนกประสาทและศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม จ.เชียงใหม่ ออกมาระบุว่ามีคนไข้นำ ขิง พุทราจีนแห้ง และเห็ดหูหนูดำ มาตุ๋นรวมกันแล้วดื่มในตอนเช้าและเย็น รักษาอาการโรคหลอดเลือดสมองตีบจนคนไข้มีอาการดีขึ้น ในขณะที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายสนับสนุนให้กินสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า การที่ สธ.สนับสนุนให้คนหันมาสนใจการรักษาด้วยสมุนไพรเป็นสิ่งที่ดี เพราะการบริโภคสมุนไพรในชีวิตประจำวันเป็นการป้องกันความเสี่ยงในการเป็นโรคไขมันอุดตัน ลดไขมันในเส้นเลือดได้ เหมาะกับคนที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคไขมันอุดตัน เช่น คนที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีความมัน หรือคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีไขมันในเส้นเลือดยังไม่สูงมาก เช่น มีปริมาณกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขอแนะนำให้ใช้ยาสมุนไพรในการเริ่มรักษา ก่อนจะกินยาแผนปัจจุบัน เนื่องจากหากรับประทานยาแผนปัจจุบันแล้วจะต้องรับประทานไปตลอดชีวิต
นพ.ธวัชชัยกล่าวต่อว่า สมุนไพร 3 ชนิด ขิง พุทราจีนแห้ง และเห็ดหูหนูดำ ที่ นพ.ธวัชชัยมีการอ้างถึงนั้นมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันจริง อย่างขิงมีฤทธิ์ร้อนมีคุณสมบัติลดไขมันในเลือดได้ ส่วนพุทราจีนและเห็ดหูหนูดำนั้น เป็นยาลดไขมันในตำรับยาจีนอยู่แล้ว ทั้งนี้อยากให้ประชาชนหันมาใช้ยาสมุนไพรก่อนในระยะเริ่มต้น ในช่วงที่ไขมันในเลือดไม่สูงมาก เพราะสมุนไพรจะช่วยควบคุมระดับไขมัน
ในเลือดไม่ให้มีมากหรือน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายมีไขมันในระดับที่สมดุล เนื่องจากไขมันร้อยละ 70 ของร่างกาย เป็นไขมันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองเพื่อใช้ในการซ่อมแซมระบบต่างๆ ของร่างกาย หากมีระดับไขมันในเลือดที่มากขึ้นจึงค่อยปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารับประทานยาแผนปัจจุบัน
"ในการใช้สมุนไพรในการรักษานั้นไม่ทำให้ร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อน สามารถใช้ควบคู่กับยาแผนปัจจุบันได้เนื่องจากไม่ทำปฏิกิริยาร่วมกัน จึงถือว่ามีความปลอดภัย" อธิบดีกรมการแพทย์ฯกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากการสำรวจที่ตลาดวโรรส อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบว่า หน้าร้านขายของฝากของที่ระลึกในตลาด มีพ่อค้าแม่ค้านำพุทราจีน เห็ดหูหนู และขิง ออกมาวางขายด้านหน้าร้านแทนการวางขายด้านหลังร้าน หลังหนังสือพิมพ์ได้นำเสนอข่าวสมุนไพรแก้เส้นเลือดสมองตีบ
ด้านนายชลิต เอมวัธนา เจ้าของร้านบอมเบพานิชย์ ตลาดวโรรส กล่าวว่า ที่ร้านจำหน่ายเครื่องเทศทุกชนิด หรือเครื่องยาจีน ตลอดวันมีคนมาถามซื้อสมุนไพรทั้ง 3 ตัวมากจนผิดสังเกต เรียกว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ซึ่งร้านจะจำหน่ายให้ตามปกติ โดยราคาสินค้าแต่ละตัวมีจำหน่ายเฉลี่ยขีดละ 30-50 บาท ถือว่าขายดี กระทั่งทราบในภายหลังว่าเนื่องจากการเสนอข่าวทางสื่อมวลชนทำให้มีคนสนใจซื้อกันมาก
"สมุนไพรทั้ง 3 ชนิด มีสรรพคุณเป็นยาเย็นรักษาธาตุไฟ โดยนำส่วนผสมทั้ง 3 ชนิด ในปริมาณเท่ากันอย่างละ 1 ส่วน มาต้มในน้ำ เพื่อจิบแทนน้ำตลอดวันจะส่งผลดีต่อสุขภาพ อย่างแรกคือ ทำให้รู้สึกดี แบบเดียวกับการทำอโรมา ซึ่งทั้ง 3 ชนิดไม่เรียกว่าสมุนไพร แต่เป็นเครื่องเทศ หากนำ 2 ตัวขึ้นไปผสมกันถือว่าเป็นยา หรือมีสรรพคุณทางยา" นายชลิตกล่าว และว่า ร้านของตนเปิดจำหน่ายเครื่องยาจีนมานานกว่า 60 ปี ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ที่เรียนจบด้านอายุรเวทมาจากประเทศอินเดีย และสืบทอดมาถึงคุณพ่อและตน เรียนจบด้านอายุรเวทจากที่เดียวกัน ซึ่งร้านจำหน่ายสมุนไพร 3 ชนิดมานานแล้ว โดยไม่เกี่ยวกับการผ่านการรับรองจาก อย.หรือไม่
ทพ.ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า วันนี้มีคนโทรศัพท์มาสอบถามเรื่องนี้กันมาก จึงเพียงแต่รับทราบไว้ แต่ไม่สามารถตอบได้ เพราะยังไม่มีการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ จึงอธิบายเหตุผลใดๆ ไม่ได้
ที่มา นสพ.มติชนรายวัน
“กระเจี๊ยบแดง-ขมิ้นชัน-ขิง” ตัวท็อปลดไขมันในเลือด จ่อทำคู่มือสมุนไพรรักษาโรคเรื้อรัง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
กรมแพทย์แผนไทยฯ เผยสมุนไพรหลายชนิดลดไขมันในเลือดได้ ชู “กระเจี๊ยบแดง - ขมิ้นชัน - ขิง” ตัวท็อป กินได้ทุกวัน แนะกินแบบหมุนเวียนหลากหลาย เร่งคลอดคู่มือสมุนไพรรักษาโรคเรื้อรังสำหรับแพทย์แผนไทย - ปชช. ใช้รักษา ร่วมดูแลตัวเอง
“กระเจี๊ยบแดง-ขมิ้นชัน-ขิง” ตัวท็อปลดไขมันในเลือด จ่อทำคู่มือสมุนไพรรักษาโรคเรื้อรัง
จากกรณี นพ.ประชา กัญญาประสิทธิ์ หรือ หมอเบิร์ด แผนกประสาทและศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม จ.เชียงใหม่ ออกมาเปิดเผยสูตรสมุนไพรทางเลือก มีขิง พุทราจีน เห็ดหูหนูดำ มาตุ๋นรวมกันแล้วดื่มรักษาอาการหลอดเลือดสมองตีบจนไข้อาการดีขึ้น ซึ่งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเตรียมตั้งคณะทำงานจัดทำคู่มือไกด์ไลน์สมุนไพรรักษาโรคเรื้อรัง เพื่อเป็นคู่มือการันตีแพทย์แผนไทย - แพทย์ทางเลือกนั้น
วันนี้ (23 ก.พ.) นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ปัจจุบันการรักษาโรคด้วยสมุนไพรมีจำนวนมาก อย่างสูตรขิง พุทราจีนแห้ง และเห็ดหูหนูดำ ก็เป็นสูตรอาหารบำรุงสุขภาพของจีนที่ใช้กันมานาน โดยเฉพาะขิง มีการวิจัยมากในสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป พบว่า มีสารลดไขมันและน้ำตาลในเลือดได้ มีฤทธิ์ร้อนลดการอักเสบ และขยายหลอดเลือด โดยใช้ขิงสดเอามาฝานต้มกับน้ำรับประทาน หรือนำมาประกอบอาหารได้ จึงไม่แปลกที่พบว่าขิงเป็นส่วนผสมหลักในการรักษาโรคไขมันในเลือด หรือหลอดเลือดสมองตีบ อย่างไรก็ตาม ต้องดูปริมาณไขมันในเลือดด้วยว่ามากน้อยแค่ไหน หากคอเลสเตอรอลสูงกว่า 300 มิลลิกรัมต้องรักษาควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน
“ขณะนี้กรมฯได้ตั้งทีมทำคู่มือการใช้ยาสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ โดยมอบให้สถาบันการแพทย์แผนไทยเป็นผู้ดำเนินการ เบื้องต้นจะบรรจุว่ามียาและสมุนไพรอะไรในการรักษาโรคได้บ้าง แบ่งเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติจำนวน 76 รายการ ประกอบด้วย ยาสูตรเดี่ยว 26 รายการ และยาสูตรตำรับ 50 รายการ นอกนั้นจะเป็นยาสมุนไพรที่สามารถหาได้ในครัวเรือนในการรักษาโรคเรื้อรัง 6 โรค มีเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคมะเร็ง โรคอัมพฤกษ์อัมพาต และโรคภูมิแพ้ ซึ่งคาดว่าโรคเบาหวาน ความดัน และไขมันในเลือดสูง น่าจะแล้วเสร็จก่อน” อธิบดีกรมพัฒน์ กล่าวและว่า คู่มือนี้จะจัดทำให้กับแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกในการประกอบการพิจารณา รวมทั้งประชาชนทั่วไปก็สามารถมาขอได้ที่กรมฯ หากจัดทำเสร็จแล้ว
นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ สมุนไพรที่น่าสนใจอีกตัวคือกระเจี๊ยบแดง จากการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่า มีสารแอนโทไซยานิน กรดอินทรีย์หลายชนิด วิตามินซี วิตามินเอ และแร่ธาตุอื่นๆ ซึ่งจากการสกัดสารเหล่านี้มาทดลองในสัตว์ทดลองและในคนบางกลุ่ม เมื่อตรวจปัสสาวะพบว่า ไขมันในเลือดลดลงได้ และความดันโลหิตก็ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้น การกินให้ใช้ดอกกระเจี๊ยบแดงตากแห้งแล้วบดเป็นผง ตักปริมาณปริมาณ 1 ช้อนชา ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย ทิ้งไว้ 5 - 10 นาที รินเฉพาะน้ำสีม่วงแดงใสดื่มได้ทุกวัน แต่หากดื่มมากเกินไปจะมีผลข้างเคียงเป็นยาระบาย
“ความจริงยังมีสมุนไพรหลายตัวที่มีสรรพคุณลดไขมันในเลือด ความดันโลหิตสูง อาทิ กระเทียม ใบกระเพรา ดอกคำฝอย อบเชย พริกชี้ฟ้า พริกไทยดำ ลูกเดือย หรือแม้กระทั่งขมิ้นชัน ซึ่งหาง่ายและนำมาเป็นประกอบอาหารกินได้ทุกวัน ไม่ก่อให้เกิดอันตราย เพียงแต่ต้องกินแบบหมุนเวียน ให้มีความหลากหลาย สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวานต้องป่วยไม่มาก จะเห็นผล แต่หากมีระดับน้ำตาลในเลือด หรือไขมันในเลือดมากเกินไป ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาควบคู่กันแบบผสมผสาน และต้องหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอและเหมาะสม” อธิบดีกรมฯ กล่าว
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต