สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คดีประวัติศาสตร์ แม่เมาะ ถึงประชาชนได้ ชัยชนะ แต่ก็ สูญเสีย

จากประชาชาติธุรกิจ

นับเป็นบทเรียนครั้งประวัติศาสตร์ สำหรับความสูญเสียที่เกิดกับชาวบ้านแม่เมาะ จ.ลำปาง และผลกระทบที่เกิดกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายหลังจากมีการเรียกร้องและการต่อสู้คดีมายาวนานกว่า 10 ปี

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำตัดสิน



ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง นำขวดยาเปล่าที่คนในครอบครัวใช้รักษาตัวภายใน 2 ปี ใส่ถุงมาที่ศาลปกครอง จ.เชียงใหม่  -  ขอบคุณภาพจาก ตะวัน พงศ์แพทย์


เป็นคำตัดสินกรณีที่ชาวบ้านเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะอ.แม่เมาะจ.ลำปาง ยื่นฟ้องศาลปกครอง กล่าวหาว่า กฟผ.ในฐานะเป็นผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ละเลยไม่ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองแร่ แผนผังโครงการ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตรหลายประการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จนก่อให้เกิดมลพิษ และทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับอันตรายต่อชีวิต สุขภาพอนามัย และทรัพย์สินเสียหาย

คดีนี้ชาวบ้านแม่เมาะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่เมื่อปี 2546

วันที่ 4 มีนาคม 2552 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษาให้ฝ่ายชาวบ้านชนะคดี แต่ กฟผ. ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

การต่อสู้คดีดำเนินมาถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด สรุปได้ว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กฟผ.ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

คำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นที่สุด กฟผ.ต้องดำเนินการตามคำพิพากษาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา


หมายความว่า กฟผ.ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้

อย่างไรก็ตาม คดีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์นั้น ไม่มีเรื่องการเยียวยา


ชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง เข้าฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ วันที่ 10 ก.พ. 58 โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายใน90 วันหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา - ขอบคุณภาพจาก ตะวัน พงศ์แพทย์


กลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะได้เรียกร้องค่าเสียหายจาก กฟผ.อีกหลายคดี โดยเฉพาะคดีที่ชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ นำโดย นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ต่อสู้มานานกว่า 10 ปี เพื่อให้ กฟผ.จ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะของ กฟผ. แพร่กระจายสารพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากระทบชาวบ้าน สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม จำนวน 131 คนที่เหลือในปัจจุบัน หลังจากล้มตายลงไป โดยเรียกร้องค่าเสียหาย 1,086 ล้านบาท ซึ่งศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 นี้เวลา 14.00 น. ณ ศาลปกครองเชียงใหม่

นางมะลิวรรณกล่าวว่า ต่างคนต่างใจจดจ่อว่า ผลพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดจะออกมาเป็นอย่างไร ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นปีที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้า ได้ฟ้องร้อง กฟผ.หลายคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 19 ราย ใช้เวลาฟ้องร้องกว่า 10 ปี

ถึงแม้ศาลปกครองเชียงใหม่เป็นศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้ กฟผ.จ่ายเงินเยียวยา แต่มีการยื่นอุทธรณ์ต่อ ทำให้คดียืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.จะเร่งดำเนินการตามคำสั่งศาลภายในระยะเวลา 90 วันตามกำหนด คือ การดำเนินกิจการเหมือง กฟผ.คำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด

สำหรับการเปลี่ยน แปลงแก้ไขมาตรการบางมาตรการในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้เริ่มดำเนินการไปบ้าง แล้วเนื่องจากบางมาตรการมีแนวทางดำเนินการได้ดีกว่ามาตรการเดิมอาทิการทำ ม่านน้ำเพื่อลดฝุ่นละลองมีมาตรการที่ดีกว่าคือการปลูกต้นสนเป็นกำแพง ธรรมชาติต้นสนเหล่านั้นมีความสูงมากกว่าม่านน้ำ ม่านน้ำอาจไม่มีความจำเป็น ทาง กฟผ.ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองตลอดเวลา และยังบำบัดน้ำเสีย จากที่จะใช้แบคทีเรียบริเวณรากของต้นกกย่อยซัลเฟสปนเปื้อนในน้ำ พบว่าสามารถใช้จุลินทรีย์ประเภทไม่ใช้ออกซิเจนหรืออนาเอโรบิคย่อยได้ดีกว่า

นาย สุนชัยกล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา กฟผ.ไม่ได้ละเลยการดูแลสิ่งแวดล้อม อีกทั้งพยายามปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ตามข้อมูล ข้อเท็จจริง และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป กฟผ.ยินดีที่มีข้อยุติในประเด็นปัญหาต่างๆ และคิดว่าน่าจะทำให้เกิดบรรยากาศของความเข้าใจอันดีระหว่างชุมชนบางส่วนที่ ยังมีความวิตกกังวลกับการดำเนินงานของโรงไฟฟ้ากฟผ.โดยกฟผ.ถือว่าชุมชนแม่ เมาะเป็นเพื่อนบ้านของเรา


ชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง รอฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ - ขอบคุณภาพจาก ตะวัน พงศ์แพทย์


ทางด้านน.ส.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต้องตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติตามที่ระบุในอีไอเอหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าจะไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ ถือเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่น่าตกใจ ไม่เฉพาะกรณีของโรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะเท่านั้น

โครงการอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกหลายโครงการในประเทศไทยก็แทบจะตรวจสอบกันไม่ ได้เลยว่ามีการปฏิบัติตามข้อตกลงในอีไอเอหรือไม่จะมีก็แต่เจ้าของโครงการ เขียนรายงานเสนอสผ.หรือคณะกรรมการผู้ชำนาญ(คชก.)รับรู้เท่านั้นประชาชนหรือ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่ของโครงการนั้นจะไม่มีโอกาสได้รับรู้ หรือตรวจสอบได้เลย

"ประเด็นที่อยากจะให้เกิดขึ้นในตอนนี้ คือ กระบวนการตรวจสอบอีไอเอ ว่าหลังจากโครงการเกิดขึ้นแล้ว เจ้าของโครงการได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดหรือไม่ เรื่องนี้ภาครัฐที่รับผิดชอบต้องเข้มแข็งมากกว่านี้" น.ส.อาภากล่าว

ส่วนการเยียวยาตามที่ชาวบ้านแม่เมาะฟ้องร้องนั้น คงต้องรอถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำตัดสินออกมาอย่างไร?

แต่ไม่ว่าผลคดีจะออกมาเช่นไร ก็ไม่คุ้มกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นอยู่ดี



ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน วันที่ 16 ก.พ. 2558


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : คดีประวัติศาสตร์ แม่เมาะ ถึงประชาชนได้ ชัยชนะ แต่ก็ สูญเสีย

view