จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ปรีชา วุฒิพงศ์
“ผมไม่ปฏิเสธความจำเป็นของการผลิตไฟฟ้า แต่มีพลังงานทางเลือกใดให้เราเลือกได้อีก นอกจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะมาทำในพื้นที่ภาคใต้ ถ้ามันมีพลังงานอื่นๆ ให้เลือกได้นอกจากการใช้ถ่านหินแล้ว เราต้องนำชุมชนไปให้ถึงขั้นนั้นให้ได้”
สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดอกเตอร์ด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์ จากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี บอกถึงความตั้งใจของเขาที่จะพัฒนาพลังงานทางเลือกสำหรับชุมชน
กว่า 2 ปีมาแล้ว นับตั้งแต่ปลายปี 2556 ที่ผู้คนในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และละแวกใกล้เคียงต้องประหลาดใจกับรถยนต์ที่ติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ยิ่งกว่านั้นกันชนด้านหน้ารถยังมีใบพัดติดไว้อีก 5 ตัว
นี่คือการเรียนรู้และทดลองด้วยตัวเอง จากการใช้งานจริง ซึ่งเป็นการขยายต่อมาจากการใช้โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้าน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปี 2556 เริ่มทดลองจากการซื้อแผงโซลาร์เซลล์ 1 แผง ขนาด 140 วัตต์ แบตเตอรี่ 1 ลูก พร้อมทั้งทำระบบติดตั้งให้แผงหมุนตามพระอาทิตย์ได้ด้วยระบบ “อัตโนมือ” หรือใช้มือหมุน โดยทดลองที่บ้านเกิด อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช
“ทดลองใช้กับเครื่องสูบน้ำ สูบขึ้นไปเก็บบนถังขนาด 1,000 ลิตร ซึ่งตั้งอยู่สูง 3 เมตร ซึ่งจะสูบช่วงกลางวันจนเต็มถัง ส่วนกลางคืนใช้กับหลอดไฟแบบแอลอีดีขนาด 12 โวลต์ ในบ้าน 4 หลอด และพัดลมอีก 2 ตัว ซึ่งสามารถใช้ได้ตลอดคืน ทำให้เรามองเห็นโอกาสที่จะทำได้จริง”
เมื่อเห็นว่าทำได้ สมพรเริ่มการทดลองอีกครั้ง โดยซื้อแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มอีก 6 แผง แต่คราวนี้เขาทดลองใช้กับระบบไฟฟ้าทั้งบ้าน ผลที่ออกมาปรากฏว่าสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ครึ่งหนึ่ง
หลังจากนั้นโจทย์ใหม่ของเขาคือ แผงโซลาร์เซลล์ที่ผู้ขายคุยโวว่ามีอายุการใช้งานถึง 25 ปีนั้น เป็นจริงอย่างที่ว่าหรือไม่ เพราะหากลงทุนมาใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ แล้วอุปกรณ์ไม่มีความคงทน อายุการใช้งานสั้นก็ไม่คุ้มค่า นี่คือการทดลองนำแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งบนหลังคารถ เพื่อทดสอบการถูกแรงกระแทก
“ผมไปดูแผงโซลาร์เซลล์เก่าที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ และที่ดอยแม่สลอง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งมีแผงโซลาร์เซลล์ในชุมชนติดตั้งมาตั้งแต่ช่วงปี 2538 และปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งานนานกว่า 10 ปี ไปทดลองต่อระบบใช้งาน ก็พบว่าประสิทธิภาพของแผงยังมีมากกว่า 80% ซึ่งทำให้เรามั่นใจว่าอย่างน้อยแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้ใช้งานได้มากกว่า 15 ปีแน่ๆ”
การทดลอง เรียนรู้จริงจนเห็นผล ทำให้สมพรขยายความรู้ของเขาต่อไปยังชุมชน และริเริ่มตั้ง “แชร์พลังงาน”
“เหมือนการเล่นแชร์ธรรมดานี่แหละ ก็ให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันให้ได้ 10 คน ลงเงินวงแชร์คนละ 2,000 บาท/เดือน 10 คนก็ได้เงินเดือนละ 2 หมื่นบาท เราก็สามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ติดโซลาร์เซลล์ให้สมาชิกได้เดือนละ 1 หลัง ครบ 10 เดือน สมาชิกแชร์ทั้ง 10 คน ก็ติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ครบทั้งหมด ขณะนี้เริ่มต้นที่ จ.พัทลุง และที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ก่อน”
สมพร บอกว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้นักคณิตศาสตร์อย่างเขาต้องมาเรียนรู้ทดลองเรื่องพลังงานทางเลือก คือชุมชน นับตั้งแต่ปี 2553 ที่เกิดพายุถล่มชุมชนชายฝั่งทะเล จ.ปัตตานี จนเสียหาย เขาและเครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกันก่อตั้ง โครงการเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี หรือ PB WATCH เพื่อให้ชุมชนได้เตรียมตัวเท่าทันภัยพิบัติ วางระบบสถานีเฝ้าระวัง 7 จุด ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ จ.ปัตตานี จนถึงนราธิวาส พร้อมวางระบบการติดต่อสื่อสาร
“การทำงานกับชุมชนทำให้เราพบว่านานๆ ภัยมาที จึงปรับมาใช้ระบบสารสนเทศเพื่อนำไปสู่การดำเนินชีวิต เช่น การออกเรือทำประมง การท่องเที่ยว ฝนตกกรีดยางได้มั้ย แต่ปัญหาใหม่ที่เราพบคือ ในยามเกิดภัยพิบัติชุมชนขาดอาหารและพลังงาน ไม่มีไฟฟ้า แบตหมด ทั้งโทรศัพท์มือถือและวิทยุสื่อสารก็ไม่มีประโยชน์”
โครงการแรกของสมพร คือ การทำก๊าซชีวภาพใช้ในครัวเรือน แต่ในขณะนั้นราคาก๊าซหุงต้มยังไม่สูงมาก ชาวบ้านจึงยังไม่มีแรงจูงใจให้ทำอย่างจริงจัง จากนั้นเขาจึงหันมาสนใจเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ในช่วงที่กระแสคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้กำลังร้อนแรง
“ผมขอบคุณพายุลูกนั้นที่ทำให้ผมได้รู้จักและสัมผัสกับชุมชน มีชาวบ้านคนหนึ่งพูดว่า นักวิชาการในมหาวิทยาลัยเหมือนปากกา ชาวบ้านและชุมชนเหมือนกระดาษ ปากกาต้องเขียนในกระดาษ ไม่ใช่ไปเขียนบนฟ้า มันเป็นการเรียนรู้ใหม่สำหรับผม ซึ่งทำให้ผมซึ่งแม้จะไม่มีความรู้เรื่องพลังงานมาก่อน ก็ต้องเรียนรู้ ทดลอง ทำให้ชาวบ้านได้เห็นว่าไม่รู้ก็เรียนรู้ได้ ทำไม่เป็นก็ทดลองทำจนเป็นได้ ทั้งความรู้และการทำให้เป็นมันไม่ยาก”
การเรียนรู้และทดลองของสมพรยังไม่ได้หยุดอยู่แค่การผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านเรือน แต่เขายังทดสอบถึงการประยุกต์ใช้งานกับยานพาหนะ เช่น จักรยานพลังงานแสงอาทิตย์ โดยนำจักรยานติดมอเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ล่าสุด เขากำลังศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม โดยทดลองนำใบพัดติดตั้งไว้ที่กันชนด้านหน้ารถ ซึ่งพบว่าสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้สำหรับแอร์รถยนต์ได้
“ความรู้ของผมยังไม่พอ ยังต้องมีการศึกษาทดลองเพิ่มมากกว่านี้ แต่อย่างน้อยเราก็ทำให้ชาวบ้านเห็นแล้วว่าสามารถนำมาใช้ในชีวิตได้จริง พลังงานทางเลือกไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน”
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย