จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ระรินธร เพ็ชรเจริญ
ภัยแล้งกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วง แม้หน่วยงานราชการจะเร่งให้ความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ทันต่อผลกระทบที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว จ.น่าน เป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จการจัดการแหล่งน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง ส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดผลสำเร็จ คือ โครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมเดินทางลงพื้นที่เพื่อดูงานในวันอังคารที่ 17 ก.พ.นี้ เพื่อให้เป็นต้นแบบสานต่อโครงการทั่วประเทศสำหรับแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป
ต้นแบบแก้ปัญหาภัยแล้ง จ.น่าน คือ การนำ “ศาสตร์พระราชา” และหลักการทรงงาน 23 ข้อของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ประชาชนชาวน่านได้ใช้เป็นหลักดำเนินชีวิตเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้รอดพ้นจากความยากจน
การแก้ไขปัญหาความยากจนของคนน่าน คือ ต้องให้มีน้ำ เพราะน้ำคือชีวิต มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นำโดย ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ พร้อมด้วย ณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรแบบยั่งยืน โดยให้ชาวบ้านร่วมกันสำรวจฝายและอ่างเก็บน้ำที่ชำรุดทรุดโทรมใช้งานไม่ได้ ไม่มีงบประมาณซ่อมบำรุง จากนั้นระดมแรงร่วมกันซ่อมแซมปรับปรุงให้กลับมามีน้ำได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ จะสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ให้แต่ชาวบ้านต้องร่วมแรงร่วมใจสร้างฝายสู้ภัยแล้งเพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของฝ่าย แถมยังได้ประหยัดงบประมาณ สร้างการเรียนรู้ที่จะซ่อมแซมดูแลและบำรุงฝายทั้งหมด 423 ฝาย ใช้งบประมาณเพียง 69,181,102.27 บาท สำหรับซ่อมแซมปรับปรุงด้วยแรงงานชาวบ้านทั้งหมด ซึ่งฝายทุกฝายชาวบ้านจะรวมพลังปลุกให้ฟื้นคืนชีพกลับมากักเก็บน้ำไว้สำหรับเพื่อการเกษตรอีกครั้ง
เมื่อมีน้ำก็ย่อมชุบชีวิต คืนผืนดินที่เคยแห้งแล้งกลับมาชุ่มชื้นอีกครั้ง สามารถทำการเพาะปลูกพืช สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านจาก 2 ตำบล ได้แก่ ต.ศิลาแลง และวรนคร กว่า 2,000 คน พากันลงแรงซ่อมแซมฝายแก้ง บ้านหัวน้ำ ต.ศิลาแลง อ.ปัว ที่ถูกน้ำป่าซัดพังแตกเสียหายมาตั้งแต่ปี 2554 จนไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้อย่างเต็มที่ หลัง จ.น่าน และมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ จ.น่าน สนับสนุนวัสดุในการซ่อมแซม โดยให้ชาวบ้านช่วยกันลงแรง ร่วมมือซ่อมแซมกันเอง ทุกอย่างดำเนินการไปด้วยความรวดเร็ว
ขณะที่อ่างน้ำเลียบ บ้านดอนแท่น ต.เชียงคาน อ.เชียงกลาง ที่ถูกทิ้งร้างมากว่า 30 ปี เนื่องจากไม่มีงบประมาณซ่อมบำรุงและไม่มีการจัดการน้ำ ทำให้พื้นที่นาข้าว 1,600 ไร่ ไม่มีต้นทุนน้ำปลูกข้าวหน้าแล้ง ทำให้โครงการปิดทองหลังพระฯ นำองค์ความรู้เข้าพัฒนาและซ่อมแซมประตูน้ำที่เสียหาย โดยมอบหมายให้ชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านใหม่วังเคียน และบ้านดอนแท่น กว่า 300 คน ร่วมลงแรงพร้อมเสริมระบบท่อส่งน้ำ และเสริมสปิลเวย์อ่างเก็บน้ำเพื่อให้ชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน จำนวน 177 ราย ได้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคและสำหรับการเกษตรในฤดูแล้งแบบยั่งยืน
ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว. ดิศนัดดา เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เคยพูดไว้ว่า แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรมีความสำคัญ เพราะจะสร้างโอกาส สร้างรายได้ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ซึ่งขอให้ชุมชนแต่ละพื้นที่เร่งสำรวจแหล่งน้ำ ทั้งฝาย อ่างเก็บน้ำ ที่มีสภาพชำรุด เสียหาย ใช้งานไม่ได้ ให้เร่งแจ้งไปยังอำเภอในพื้นที่นั้นๆ เพื่อที่จะได้รับการพัฒนาให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรได้อีกครั้ง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา จ.น่าน ได้รับการพิจารณาสนับสนุนการซ่อมแซมฝายจากที่เคยร้องขอเข้ามา 115 โครงการ ได้พิจารณาในหลักการเพื่อรอการอนุมัติจำนวน 92-98 โครงการ หลังจากนี้ก็ยังจะเดินหน้าสำรวจและซ่อมแซมฝายต่างๆ ในพื้นที่ จ.น่าน อีก ตั้งเป้าซ่อมแซมบำรุงฝาย 2,000 แห่ง ทั่วทั้ง จ.น่าน ซึ่งจะทำให้ชาวน่านมีชีวิตที่ดีขึ้น คาดว่าจะทำให้เกษตรกรและชาวน่านมีรายได้เพิ่มกว่า 1,000 ล้านบาท/ปี
นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะดึงภาคเอกชนและภาคธุรกิจตั้งกองทุน 60 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์และการให้ความรู้ทางผลผลิตการเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดอีกด้วย
และเป็นต้นแบบเพื่อจะนำโครงการปิดทองหลังพระฯ ไปสานต่อโครงการทั่วประเทศสำหรับแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย