จาก โพสต์ทูเดย์
...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน
(1)
“Something is beautiful when we do not raise the question ‘why’ it is so.” - Hans-Georg Gadamer, German writer (1900-2002)
มหากาพย์แห่งความเศร้าที่มีพวกเขานำแสดง ประหนึ่งดาวจรัสแสงท่ามกลางห่าฝน
ริบหรี่ เลือนราง แต่มิอาจไม่ดำรงอยู่
(2)
350 กิโลเมตร จากเมืองหลวงอันศิวิไลซ์ ลึกเข้าไปในดินแดนตกสำรวจทางภาคเหนือ ที่แห่งนั้นเจิ่งนองด้วยน้ำตา เสมือนหนึ่งว่าทุกชีวิตรอเวลาสบตากับความตาย
ในอดีต ทั่วทุกหัวระแหงของ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร อุดมไปด้วยเสียงหัวเราะ รอยยิ้มมีมากพอจะปันส่วนให้ทุกผู้ที่รอนแรมผ่านทางชนิดที่ไม่มีตกหล่น พืชผักเขียวสด วิถีเกษตรกรรมหล่อเลี้ยงชุมชนอย่างยั่งยืน
จนกระทั่งปี 2536 ที่เงาตะคุ่มเริ่มก่อตัวขึ้น และค่อยๆ เคลื่อนเข้าปกคลุมทุกอาณาบริเวณ อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจหาแหล่งแร่ทองคำ จากสายแร่ที่พาดผ่านพื้นที่ตอนบนของภาคอีสานเรื่อยมาถึงรอยต่อของจังหวัดเพชรบูรณ์ พิจิตร และพิษณุโลก ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่
ปฐมบทโมงยามแห่งการล่มสลาย
(3)
“Violence can only be concealed by a lie, and the lie can only be maintained by violence.” - Aleksandr Solzhenitsyn, Awarded the Nobel Prize in Literature in 1970
“เขาบอกว่าชาวบ้านจะมีงานทำใกล้บ้าน มีรายได้ มีคนซื้อผักผลไม้จนปลูกไม่ทัน เขาจะมาสร้างสถานีอนามัย สนามเด็กเล่น จะมาดูแลชาวบ้านทุกคนให้มีความสุข ทุกอย่างในชุมชนจะดีขึ้นเรื่อยๆ เหมืองทองคำจะเป็นสมบัติที่ชาวพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก”
ความภาคภูมิใจที่จะได้เป็นเจ้าของเหมืองทองคำแห่งแรกในประเทศไทย ทำให้ชาวบ้านบางส่วนไม่อาจข่มความยินดีเอาไว้ได้ ยิ่งคุณภาพชีวิตจะได้รับการยกระดับขึ้นด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีเหตุผลใดที่มีน้ำหนักพอสำหรับคัดง้างโครงการพัฒนานี้ได้
ราวกับลีลาจิตรกรเอกสะบัดฝีแปรง ก่อกำเนิดเป็นภาพความฝัน-ความหวังอันงดงาม วิมานถูกสร้างขึ้นในจินตนาการ พร้อมๆ กับการเดินเครื่องในกิจการเหมืองแร่เมื่อปี 2544
(4)
สัญญาณความผิดปกติของร่างกาย วุฒิพงษ์ ฟังเสนาะ อดีตพนักงานระเบิดแร่ วัย 50 เศษ สำแดงชัดแจ้งขึ้นหลังจากที่ทำงานในเหมืองทองมาเป็นเวลา 3 ปี เขาเริ่มมีอาการมือเท้าอ่อนแรง เหนื่อยง่าย หายใจได้ไม่เป็นปอด
แม้เหมืองจะจัดทีมแพทย์มาตรวจร่างกายประจำปีอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง หากแต่วุฒิพงษ์ก็รับรู้ได้ถึงความผิดแผกที่เกิดขึ้นมากขึ้นเป็นทวี การตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อตรวจร่างกายยังโรงพยาบาลรามาธิบดี ทำให้เขาประจักษ์แก่ใจถึงข่าวร้ายที่จำต้องยอมรับ
“หมอบอกว่าเจอสารหนูในร่างกายของผมเยอะมาก” เขาเล่าด้วยท่าทีอิดโรย “หมอบอกว่ารักษาไม่ได้”
(5)
รายแล้วรายเล่า ... ร่วงหล่นโรยราลับเลือน
(6)
ผลตรวจตัวอย่างสิ่งแวดล้อม 4 รายการ โดยทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต สะท้อนถึงวิกฤตการณ์พื้นที่รอบเหมืองทองคำ
ผลวิเคราะห์โลหะหนักในดิน ดร.อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต : เก็บตัวอย่างดินจากพื้นที่เหมืองแร่ และบ่อเก็บกักกากแร่ 56 ตัวอย่าง พบ 47 ตัวอย่าง มีสารหนู (Arsenic) เกินมาตรฐาน โดยค่าสูงสุดที่พบคือ 387.5 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ในขณะที่ค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 3.9 ppm
ผลวิเคราะห์ไซยาไนด์และโลหะหนักในพืช ภญ.ดร.ลักษณา เจริญใจ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต : เก็บตัวอย่างพืชบริเวณบ่อเก็บกักกากแร่ พบ "ไซยาไนด์" ในพืชที่ไม่ควรพบ เช่น ข้าว บอน กระชาย ผักบุ้ง กะทกรก หญ้าปากควาย พบ "ตะกั่ว" ในสะเดา กระถิน ขนุน พบ "แคดเมียม" ในข้าว พบ "แมงกานีส" ในข้าว กระชาย ตะไคร้ ผักบุ้ง
ผลวิเคราะห์ความผิดปรกติของเซลล์ในเลือดและปัสสาวะ ดร.อรนันท์ พรหมมาโน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต : เก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะชาวบ้าน 731 คน พบการปนเปื้อนโลหะหนักถึง 483 คน หรือประมาณ 66% เฉพาะการตรวจวัดความผิดปรกติของ DNA ส่งตรวจ 601 ตัวอย่าง พบถึง 209 ตัวอย่าง หรือประมาณ 34.7%
ผลวิเคราะห์โลหะหนักในแหล่งน้ำ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : เก็บตัวอย่างน้ำจากชุมชนรอบเหมือง พบการปนเปื้อนของปรอทและตะกั่วเกินมาตรฐาน
แม้ยังไม่อาจเชื่อมโยงได้ว่ากิจการเหมืองทองคือต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ข้างต้นก็มากพอที่จะทำให้ชาวบ้านวิตก คับข้อง และระอุอุ่นด้วยความคับแค้น
(7)
ดั่งคลื่นยักษ์สั่งสมความกราดเกรี้ยว ถั่งโถมชุมชนแหลกสลาย
การตรวจพบโลหะหนักปกเปื้อนในน้ำ-พืชผัก ทำให้ชาวบ้าน ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ต่างตกอยู่ในความมืดมิด ความหวาดระแวงขยายตัวออกไปไม่ต่างไปจากโรคร้ายที่กำลังระบาด กัดกร่อนวิถีชีวิต-ความเป็นอยู่
มาตรว่าความปรกติคือความสุข ... ความสุขคงไม่มีจริงสำหรับชาวบ้าน ณ ผืนดินนี้
“รู้ว่าผักที่นี่มันเป็นพิษ กินไม่ได้ แต่จะให้ออกไป 5 กิโล 10 กิโล ก็คงไม่ไหวหรอก จะผัดกระเพราสักจานก็เด็ดข้างบ้านนั่นแหละ กินๆ มันทั้งอย่างนั้น กินให้มันตายๆ ไป” “แทบไม่เหลือเลยจ้า มันต้องเติมน้ำมันมากกว่าเดิม นี่ลองเดินไปดูร้านก๋วยเตี๋ยวข้างหน้าเหมืองสิ รายนั้นก็ขายอะไรไม่ได้เลย น้ำที่เอามาต้มถ้าไม่ใช่น้ำขวดไม่มีใครเขากล้ากินหรอก”
ปรีชา แสงจันทร์ ชาวบ้านคลองตาลัด หมู่ 6 ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เล่าว่า วิธีของชาวบ้านบริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก คือเกษตรกรรม แม้ว่าจะไม่มีระบบชลประทานแต่ชาวบ้านก็ขุดน้ำผิวดินขึ้นมาใช้ได้เพียงพอ สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งฤดูกาล ทั้งข้าวโพด อ้อย ข้าว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง แตงโต ชมพู่
“รายได้หลักของคนแถวนี้คือการเกษตร แต่ตอนนี้มันไม่มีความเชื่อมั่น ไม่มีใครกล้าซื้อกล้ากิน ชาวบ้านแทบจะอดตายกันหมด”
“เหมืองคือปีศาจที่เข้ามาทำลายวิถีชีวิตของพวกเรา”
คงมีความจริงในบทสนทนานี้บ้าง น้อยก็หนึ่งล่ะ
(8)
เป็นเวลาเดียวกันที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มีคำสั่งลงวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้บริษัทอัครา รีสอร์สเซส เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ หยุดประกอบการโลหกรรมเป็นเวลา 30 วัน เพื่อดำเนินการใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.แสดงหลักฐานว่าได้นำตัวผู้ป่วยไปรักษาพยาบาลตามที่อีไอเอกำหนด 2.หาคำตอบให้ได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านมีสาเหตุมาจากกิจการเหมืองแร่ทองคำหรือไม่ โดยให้แล้วเสร็จในวันที่ 11 ก.พ.นี้
(9)
24 ชั่วโมง ก่อนชี้ชะตาอนาคตเหมืองทองคำ-อนาคตชาวบ้าน ... ในวันที่ 10 ก.พ. มีการจัดเวทีชาวบ้านเล็กๆ ขึ้นที่วัดดงหลง ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์
“ถ้าเหมืองมีความจำเป็นต้องเปิด ก็ต้องเปิดอย่างมีเงื่อนไข เพื่อให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอยู่ร่วมกับชาวบ้านที่ทำงานในเหมืองได้ เราต้องเห็นใจกันและกัน” สมศักดิ์ บุญธรรม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 ต.ท้ายดง ยืนประชันหน้าชาวบ้านกว่า 50 ชีวิต
“คนหยุดงานนานไม่ตาย แต่ชาวบ้านได้รับสารพิษนานตาย ควรเห็นใจชาวบ้านมากกว่า” ใครบางคนยกมือขึ้นทักท้วง
“ยังไม่มีความชัดเจนว่าเหมืองเป็นต้นเหตุ ดังนั้นเราก็ต้องป้องกันตัวเองไปจนกว่ามีผลยืนยันว่าเหมืองผิด แล้วเราค่อยมาว่ากันอีกที” ผู้ใหญ่บ้านวัยหนุ่มคนเดิม กล่าวต่อไป
“ถ้าเหมืองไม่เกิด ชาวบ้านก็ไม่ป่วย” ชาวบ้านอีกรายลุกขึ้นแย้ง “ตอนนี้เหมืองไม่เคยทำอะไรเลย ไม่เคยรับผิดชอบอะไรเลย” เขาแสดงอารมณ์ผ่านทางสีหน้าและน้ำเสียง
“ตอนนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเหมืองผิด การรักษาเป็นหน้าที่ของแพทย์ การพิสูจน์เป็นหน้าที่ของนักวิชาการ” ผู้ใหญ่บ้าน ย้ำประเด็น
“ถ้าเรามัวแต่รอจนกว่าจะพิสูจน์ทราบได้ พวกเราคงตายกันก่อน” ชายวัยกลางคนกระแทกกระทั้น “ถ้าต้นตอมาจากเหมือง แล้วต้นตอยังไม่หยุด จะมารักษากันยังไงมันก็ไม่จบ พรุ่งนี้เราต้องเสนอให้ปิดเหมืองต่อไปใช่ไหม”
“ใช่!!!” คนในเวทีขานรับหนักแน่น
สิ้นสุดเวที ยินเสียงแว่วมาจากทางไกล
“ยังจะมาไกล่เกลี่ยอีก ไม่รู้จะปกป้องกันไปถึงไหน”
(10)
บรรยากาศเวทีสาธารณะโรงเรียนวังโป่งพิทยาคม อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เนืองแน่นไปด้วยพนักงานบริษัทอัคราฯ ตั้งแต่ช่วงเช้า คะเนด้วยสายตาไม่ต่ำกว่า 1,000 ชีวิต ซีกหนึ่งสวมยูนิฟอร์มบริษัท อีกซีกหนึ่งสวมเสื้อยืดสกรีนข้อความ “เครือข่ายคนรักเหมือง” ที่ได้รับแจกบริเวณหน้างาน
จริงล่ะหรือ ? สถานที่แห่งนี้คือเวทีสาธารณะ ... เวทีที่มีชาวบ้านเข้าร่วมเพียง 20 ชีวิต
“วันนี้ยังไม่มีใครบอกว่าเหมืองมีความผิด และเราเชื่อในความเป็นมืออาชีพของอัคราฯ” สุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดี กพร.ในฐานะประธานการประชุม อธิบายว่า เวทีในวันนี้ กพร.ต้องการมาฟังความตั้งใจจริงของบริษัทอัคราฯ นั่นเพราะความตั้งใจจริงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
“ท่านเดือดร้อน กพร.ไม่ได้ทอดทิ้งพวกท่าน”
“การลงทุนของอัคราฯ เป็นเรื่องดี ประโยชน์ตกอยู่กับชาวบ้านและประเทศ ทั้งการสร้างงานและเงินค่าภาคหลวง”
“อัคราฯ มีคุณธรรมจริยธรรม ไม่เคยเลิกจ้างงานพ่อแม่พี่น้อง ขอให้ทุกคนช่วยกันปรบมือให้อัคราฯ”
“อัคราฯ เป็นของพี่น้องทุกคน”
เสียงปรบมือดังกึกก้อง ...
หัวใจช้ำชอกทั้ง 20 ดวง ถูกคมมีดกรีดลงอย่างช้าๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
(11)
มีเพียงชีวิตที่มอบให้ ... หวังเพียงต่อชีวิตอีกหลายชีวิตให้สืบต่อ
“ข้าพเจ้า นายสมคิด ธรรมพเวช อยู่บ้านเลขที่ 110 หมู่ 6 ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ขอมอบร่างกายหลังจากที่้ข้าพเจ้าเสียชีวิตลงแล้ว ให้กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เนื่องจากข้าพเจ้าเคยเป็นพนักงานในเหมืองแร่ทองคำ อยู่แผนกโหลดสารไซยาไนด์ของบริษัท อัคราฯ ซึ่งทำงานมาได้ 13 ปี จนข้าพเจ้าทำงานไม่ไหวและป่วยหนักเนื่องจากพบสารพิษในร่างกายจนไม่อาจรักษาได้ สุดท้ายข้าพเจ้ามีอาการทรุดหนักมากในคืนวันที่ 10 ธ.ค.2557 และข้าพเจ้ามั่นใจว่าไม่มีทางรักษาให้หายอีกต่อไป
“ข้าพเจ้าจึงมีเจตนาเป็นครั้งสุดท้าย โดยขอมอบร่างกายหลังจากสิ้นชีวิตแล้วให้กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในกรณีศึกษาทดลองจากร่างกายของข้าพเจ้า ถึงผลกระทบจากการทำงานเหมืองแร่ทองคำและเงินของบริษัทดังกล่าว เพื่อให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ใช้ประโยชน์เป็นหลักฐาน เป็นข้อมูลวิจัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไข เอาผิด และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั้งหมดทุกคนต่อไป”
ใช่หรือไม่ว่า ... มหากาพย์แห่งความเศร้าที่มีพวกเขานำแสดง ประหนึ่งดาวจรัสแสงท่ามกลางห่าฝน
ริบหรี่ เลือนราง แต่มิอาจไม่ดำรงอยู่
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย