จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ชำแหละร่าง ก.ม.ความปลอดภัยชีวภาพ ส่อเอื้อประโยชน์บรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ
หลังจากที่คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์ (จีเอ็มโอ) มาใช้ในประเทศไทย ได้มีการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2557 และมีมติร่วมกันว่า การทดลองเรื่องจีเอ็มโอนั้น ให้กลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2550 ซึ่งมีเงื่อนไขควบคุมการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนามที่เข้มงวด เช่น ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ ครม.ต้องเป็นผู้อนุมัติให้มีการทดลองเป็นรายกรณี
ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้การผลักดันของบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ กลุ่มผู้สนับสนุนเอ็มจีโอต้องสะดุดลงชั่วคราว จึงเป็นเหตุผลในการเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือกฎหมายจีเอ็มโอ
แต่ขณะเดียวกันก็มีความเห็นอีกด้านจากทางกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มธุรกิจอาหาร เกษตรอินทรีย์ และภาคประชาสังคม ที่มองว่าควรจับตาการผลักดันกฎหมายจีเอ็มโอที่กำลังจะเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการเอื้อบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ
ความเห็นจากวงเสวนาเรื่อง "ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... : ไพ่ใบสุดท้ายของบรรษัทเพื่อผลักดันการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย" เมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) นับว่าน่าสนใจ
ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุง เพราะมีหลายข้อที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย เช่น กรณีผลกระทบจากกรณีจีเอ็มโอนั้น ในพิธีสารฯครอบคลุมถึงการคุ้มครองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ และอนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ในร่างกฎหมายระบุว่าต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วเท่านั้น
เขายังวิเคราะห์พร้อมเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ใน 8 ประเด็น คือ 1. มาตรา 6(3) เรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เห็นว่าควรเพิ่มเติมกรรมการที่มาจากองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม (เอ็นจีโอ) เพื่อให้เกิดความหลากหลายและถ่วงดุล และยังสอดคล้องกับหลักการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ตามที่กำหนดใน Biosafety Protocol Article 23
2.ในมาตรา 17 ควรบัญญัติในลักษณะห้ามมิให้มีการผลิตหรือนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิด เว้นแต่จะได้ประกาศยกเว้นไว้ ซึ่งการบัญญัติเช่นนี้จะสอดคล้องกับมาตราอื่นๆ ในร่าง พ.ร.บ.นี้ที่จะบัญญัติในลักษณะห้ามไม่ให้กระทำจนกว่าจะได้รับอนุญาต
3.ร่างพ.ร.บ.นี้จะให้อำนาจแก่หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการกำหนดรายละเอียดของการกำกับดูแลในลักษณะของกฎหมายลำดับรอง ทั้งที่ควรจะกำหนดรายละเอียดหลักที่สำคัญไว้ล่วงหน้าได้ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้กฎเกณฑ์รายละเอียดของแต่ละหน่วยงานผู้รับผิดชอบเกิดความลักลั่นกัน และอาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการควบคุมกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมได้
นอกจากนี้การดำเนินการในทุกขั้นตอนของหน่วยงานผู้รับผิดชอบนั้นยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
4.คณะกรรมการผู้ชำนาญการที่จะพิจารณาคำขอขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ควรกำหนดให้มีตัวแทนภาคประชาชน หรือเอ็นจีโอ เข้าไปเป็นคณะกรรมการด้วย
5.การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น กรณีคณะกรรมการผู้ชำนาญการเห็นชอบรายงานประเมินความเสี่ยง ตามมาตรา 43 โดยผู้ยื่นคำขอขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมเอง อาจเกิดปัญหาในการจัดการรับฟังความคิดเห็น และทำให้ไม่ได้รับทราบความคิดเห็นที่แท้จริง จึงควรให้หน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นกลางอื่นเป็นผู้จัดการรับฟังความคิดเห็น
6.ผลการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 43 จะถูกนำไปประกอบการพิจารณาโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบเท่านั้น และหน่วยงานผู้รับผิดชอบไม่จำเป็นต้องรับฟังหรือปฏิบัติตามผลการรับฟังความคิดเห็นก็ได้
7.ในมาตรา 35 และ 46 การพิจารณาความปลอดภัยหรืออันตรายที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ใช้เฉพาะข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน และต้องเกิดอันตรายหรือความเสียหายขึ้นแล้วเท่านั้น ถือว่าขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายแคบเกินไป ทั้งที่ Biosafety Protocol อนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ รวมทั้งสามารถใช้เหตุผลทางด้านสังคมเศรษฐกิจ (Socio-Economic consideration) ได้ด้วย (Biosafety Protocol Art,11.8, 26)
8.ในมาตรา 52 ระบุให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ใช้บัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เป็นกลไกในการบริหารจัดการ หากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยฯ ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ร่าง พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยกำหนดให้ต้องมีการรับผิดเฉพาะกรณีความเสียหายเกิดจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยเท่านั้น
ขณะที่ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกยกร่างขึ้นโดยกลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องจีเอ็มโอ การผลักดันกฎหมายนี้ให้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปโดยเร็วจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ แต่จะไม่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิเกษตรกร และกลุ่มธุรกิจอาหารท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนทางพันธุกรรม
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ที่เห็นว่า จากการรับฟังความคิดเห็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ คณะกรรมการอิสระคุ้มครองผู้บริโภคพบว่า การผ่านกฎหมายฉบับนี้ไปโดยเร็วจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ และจะเกิดผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน เกษตรกรและกลุ่มธุรกิจด้านเกษตรอินทรีย์ และธุรกิจอาหารอีกหลายกลุ่ม รวมทั้งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
ทั้งนี้เห็นว่า ในมาตรา 7 เรื่องคุณลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น ควรที่จะมีการเพิ่มข้อความใน (6) ว่า "คณะกรรมการฯจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม" ขณะที่ในมาตรา 11 ในเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนั้นเห็นว่า มาตราดังกล่าวยังไม่มีการกำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการในการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค
ขณะที่ในหมวด 6 มาตรา 52 เรื่องความผิดทางแพ่งและการชดเชยค่าเสียหาย และในหมวด 7 มาตรา 53 (5) ที่ระบุถึงแต่เพียง การกักหรือ อายัดสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม หรือต้องสงสัยว่า หรือวัตถุต้องสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐาน แต่ในร่าง พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดมาตรการเรียกคืนสินค้าที่มีการกระจายไปสู่ท้องตลาดแล้ว ดังนั้นควรเพิ่มมาตรการในการติดตามสินค้าเหล่านี้
"คณะกรรมการฯจะทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีและ สนช.ให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และได้ปรับปรุงเนื้อหาให้คุ้มครองสิทธิของเกษตรกร ผู้บริโภค และกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบต่อไป" รศ.ดร.จิราพร ระบุ
...............
เปิดสาระ 4 มาตราสำคัญ
ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... มีเนื้อหาทั้งสิ้น 73 มาตรา โดยสาระสำคัญในประเด็นต่างๆ อาทิ มาตรา 5 พ.ร.บ.นี้ไม่ใช้บังคับกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นยาสำหรับมนุษย์หรือสัตว์ตามที่มีกฎหมายเฉพาะควบคุมอยู่แล้ว
มาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ" ซึ่งมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธาน นอกจากนี้ให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 10 คน
มาตรา 17 ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ห้ามผลิตหรือนำเข้า
มาตรา 43 ในกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินความเสี่ยงและให้ความเห็นชอบในรายงานประเมินความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ให้ผู้ยื่นคำขอขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมจัดให้มีการรับฟังความเห็นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และเสนอรายงานสรุปผลการรับฟังความเห็นต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบภายในระยะเวลาที่หน่วยงานนั้นๆ กำหนด
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,อะไหล่ victorinox,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit