จากประชาชาติธุรกิจ
รัฐบาล ประยุทธ์รวมพลังช่วยชาวสวนยาง ดันใช้ในประเทศ 1 แสนตัน 5 กระทรวงคลอดพิมพ์เขียวนำร่อง คมนาคม-เกษตรฯ-ท่องเที่ยวฯ-วิทย์ ปูถนน-สระน้ำ-คอกปศุสัตว์-ทำล้อรถยนต์ ผุดเลนจักรยาน 55 จังหวัด 101 โครงการ นัดถกสรุปปริมาณการใช้ 19 ม.ค.นี้
คาดปริมาณใช้ 1 แสนตัน
นาย อำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมปริมาณใช้ยางในประเทศโดยหน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ เบื้องต้นคาดว่ามีปริมาณใช้ยาง 1 แสนตัน ส่วนใหญ่มาจากกระทรวงศึกษาธิการทำสนามฟุตซอลในโรงเรียน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาใช้ทำลู่วิ่ง กระทรวงเกษตรฯ ใช้ในหลายกรม จากนี้ต้องประเมินราคาตลาด ราคาจัดซื้อจัดจ้าง และดูงบประมาณให้แน่ชัดว่าต้องของบประมาณกลางเท่าไหร่
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนกระทรวงเกษตรฯมี 4 หน่วยงานจะใช้งานยางพาราคือกรมปศุสัตว์ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร ได้แก่
1) ยางปูพื้นคอกปศุสัตว์ (โคนม) โดยร่วมกับสหกรณ์โคนมที่เข้าร่วมโครงการ 600 แห่ง ระบายยางได้ 828 ตัน จากการจัดซื้อยางปูพื้น 18,400 แผ่น ใช้เนื้อยาง 45 กก./แผ่น งบฯ 105 ล้านบาท 2) ยางล้อรถยนต์ของ 4 หน่วยงาน เปลี่ยนยางล้อ 30% ของทั้งหมด เป็นการเปลี่ยนตามปกติที่ต้องเปลี่ยนจากสภาพใช้งานทุกปี กว่า 15,000 เส้น ใช้ยางพารา 131 ตัน โดยปริมาณใช้ยางธรรมชาติในล้อรถยนต์คิดเป็น 10-20% ของน้ำหนักล้อ รถบรรทุกคิดเป็น 30% ของน้ำหนักล้อ 3) ยางเคลือบบ่อน้ำและคูน้ำ เป็นงานวิจัยบ่อน้ำ 4 จุด คูน้ำยาว 430 เมตร ใช้ยาง 35 ตัน
นายอนันต์กล่าวว่า หลังจากนำเสนอแผนต่อนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ แล้ว ได้รับนโยบายให้ปรับปรุงปริมาณใช้ยาง โดยให้กรมชลฯศึกษาการใช้ยางทาพื้นคลองส่งน้ำและทำถนน
สันเขื่อน และให้หารือผู้ประกอบการเอกชนว่าจะเพิ่มปริมาณยางธรรมชาติในล้อรถมากขึ้นได้ หรือไม่ จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1-2 สัปดาห์นี้
กรมทางฯคลอดสเป็ก
นาง ณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การนำยางพาราใช้เป็นวัตถุดิบผสมราดถนนมีงานวิจัยแล้วว่า หากเป็นถนน 2 เลน ยาว 1 กิโลเมตร หน้ากว้าง 11 เมตร ใช้ยางพารา 3.3 ตัน หน้ากว้าง 9 เมตร จะใช้ยางพารา 2.7 ตัน ดังนั้นหากมีถนน 2 เลน หน้ากว้าง 9 เมตร 10,000 กิโลเมตร จะใช้ยางทั้งสิ้น 27,000 ตัน
สำหรับปัญหาความไม่มั่นใจด้าน ความปลอดภัยในประเด็นการลื่นไถลนั้น กรมทางหลวงได้ออกสเป็กถนนแอสฟัลติกที่ราดด้วยยางมะตอยผสมยางพาราตั้งแต่ปี 2556 พบว่าค่าการลื่นไถลน้อยกว่าถนนแบบเดิม ขณะที่ปี 2557 ทางสำนักงบประมาณก็ออกราคากลางเฉพาะผิวทางมาตรฐาน 5 เซนติเมตร ราคา ตร.ม.ละ 380 บาท เทียบกับแบบเดิม ตร.ม.ละ 320 บาท
เลนจักรยานท่องเท่ยว 55 จว.
นางกอบ กาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า มีแนวคิดให้นำยางพาราเป็นส่วนผสมทำเลนจักรยาน (ไบก์เลน) ทั่วประเทศ เบื้องต้นได้จัดทำแบบเส้นทางจักรยานส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำ ไปใช้ พร้อมดำเนินการได้ 101 โครงการ ใน 55 จังหวัดโดยมีกรอบแนวคิด 3 รูปแบบคือ แบบ A พื้นที่เขตเมืองหรือชุมชน ส่งเสริมใช้จักรยานเป็นวิถีชีวิตของเด็ก เยาวชน และประชาชน, แบบ B แหล่งท่องเที่ยว อุทยาน ชายทะเล ส่งเสริมใช้จักรยานออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจ, แบบ C พื้นที่ไหล่ถนน ทางหลวงจังหวัด อำเภอ และตำบล ส่งเสริมใช้จักรยานเพื่อการฝึกซ้อม แข่งขัน ทำกิจกรรม และเดินทางไกลเป็นหมู่คณะ
แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมพลศึกษากล่าวว่า โครงการนี้ใช้งบประมาณปี 2557 ที่ค้างอยู่ 1,278 ล้านบาท โดยวันที่ 19 มกราคมนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ คมนาคม มหาดไทย เกษตรฯ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำหนดประชุมร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหาข้อสรุปสัดส่วนการนำยางพาราเป็นส่วนผสมยางราดถนน
บิ๊กจิน สั่งคมนาคมขยายใช้งาน
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงได้รับการประสานจากกระทรวงเกษตรฯ ขอให้นำยางมาเป็นส่วนผสมก่อสร้างถนนและโครงการอื่น ๆ ซึ่งตนได้สั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) บรรจุไว้ในโครงการก่อสร้างแล้วและขยายผลไปยังโครงการอื่น ๆ ด้วย เช่น เส้นทางจักรยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของคมนาคม
ชี้ใช้สร้างถนนไม่คุ้ม-ต้นทุนแพง
นาย ชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมนำยางพารามาผสมในการฉาบผิวและปูผิวถนนตามนโยบายรัฐบาลตั้งแต่ปี 2557 และกำหนดเป็นสเป็กไว้ในโครงการก่อสร้างถนนด้วย ชื่อว่า "ถนนแอสฟัลต์คอนกรีตผสมยางพารา" จากเดิมมีถนนแอสฟัลต์คอนกรีต และถนนที่ก่อสร้างด้วยแอลฟัลต์คอนกรีตผสมโพลิเมอร์ โมดิฟายด์ ที่ใช้ส่วนผสมพิเศษ
นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์และตรวจสอบ กรมทางหลวง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การใช้ยางพารามาผสมก่อสร้างถนนเป็นการซื้อยางผสมเสร็จจากโรงงานมาปูและฉาบ ผิวถนน ซึ่งมีอยู่ 2-3 โรงงาน อาทิ บมจ. ทิปโก้ แอสฟัลต์, บริษัท โซล่า แอสฟัลท์ โดยนำมาผสมกับยางมะตอยและหิน สูตรผสมคือถนน 1 เส้นปกติใช้หิน 95% ยางมะตอย 5% เพราะฉะนั้น ยางพาราที่จะเติม 5% จะเติมในสัดส่วนของยางมะตอย
ปัจจุบัน ยังไม่มีการใช้งานมาก แม้จะออกสเป็กมารองรับแล้ว สถิติในปีงบฯ 2557 กรมใช้ยางพาราสร้างถนน 42 สายทางทั่วประเทศ แต่เลือกดำเนินการบางพื้นที่ ไม่ได้ใช้ปูตลอดเส้นทาง เนื่องจากถนนแอสฟัลต์คอนกรีตผสมยางพาราแม้จะคงทน ยืดอายุใช้งานถนนปกติ 2 ปี จาก 8 ปี เป็น 10 ปี ค่าบำรุงรักษาลดลง และช่วยใช้ยางผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น แต่มีข้อด้อยเรื่องต้นทุนก่อสร้างที่สูง ค่ายางเพิ่มขึ้น 15% ค่างานผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตเพิ่มขึ้น 20% นอกจากนีมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาเก็บรักษายาง และต้องระวังเรื่องอุณหภูมิการใช้งาน
เหมาะปูสนามกีฬา-ทางลาดชัน
นาย มนตรีกล่าวว่า พื้นที่เหมาะจะใช้ยางผสมก่อสร้างเป็นจุดขึ้นเขา ทางลาดชันซึ่งต้องการความยึดเกาะร่องล้อรถ สนามกีฬา สนามฟุตซอล ทางเท้า จะคุ้มค่ากว่านำมาใช้ปูถนนทั้งเส้นทาง เนื่องจากต้นทุนสูง
"การนำ ยางพารามาใช้ก่อสร้างถนนเป็นเรื่องจิตวิทยามากกว่า ไม่ตอบโจทย์อุปสงค์ตลาด เพราะสัดส่วนที่นำมาใช้นั้นน้อยมาก เช่น ถนน 1 กม. กว้าง 12 เมตร ใช้ยางพาราแค่ 12 ตัน กรมเคยจะเพิ่มสัดส่วนให้มากกว่า 5% แต่ทำไม่ได้เพราะค่าผลวิเคราะห์ไม่ได้"
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมทางหลวงชนบทกล่าวในทำนองเดียวกันว่า เมื่อเป็นนโยบายกรมพร้อมสนับสนุนการใช้ยางพาราก่อสร้างถนน ปัจจุบันได้จัดทำมาตรฐาน (สเป็ก) ใช้ยางพารามาผสมในการปูและฉาบถนน มีพาราเลอรีซีลและพาราแอสฟัสต์คอนกรีต เป็นมาตรฐานเดียวกับกรมทางหลวง แต่การใช้งานขึ้นอยู่กับพื้นที่และที่ปรึกษาที่ออกแบบก่อสร้างด้วย
สำหรับ ปี 2558 กรมมีโครงการซ่อมบำรุงที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม จำนวน 91 โครงการ ระยะทาง 260 กม. คิดเป็นวงเงิน 666 ล้านบาท และปริมาณยางที่ใช้ 321 ตัน แยกเป็นภาคเหนือ 29 โครงการ ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 225 ล้านบาท ตะวันออกเฉียงเหนือ 17 โครงการ ระยะทาง 63 กม. 133 ล้านบาท ภาคกลาง 21 โครงการ ระยะทาง 50 กม. 133 ล้านบาท และภาคใต้ 24 โครงการ 50 กม. 174 ล้านบาท และปี 2559 กำลังจะพิจารณานำมาใช้มากขึ้น รวมถึงเส้นทางจักรยานที่จะสร้างทั่วประเทศด้วย
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,อะไหล่ victorinox,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit