จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ทุ่ม5หมื่นล้านรื้อปลูกข้าว เน้นพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชน 1,000 แห่ง
การปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องดำเนินการทั้งระบบ ตั้งแต่น้ำ ที่ดิน สินค้าพืช สัตว์ ประมง รวมทั้งการวิจัย การขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันจะทำให้เกิดปัญหา ไม่เห็นผลทางปฏิบัติได้โดยง่าย
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้เริ่มจากการปรับโครงสร้างการผลิต 2 พืชหลักก่อน คือ ข้าว และยางพารา เพื่อใช้เป็นต้นแบบการปรับโครงสร้างพืชชนิดอื่น ขณะที่มีพืช 4 ชนิดจัดทำในรูปของยุทธศาสตร์ เป็น "โรดแมพ" เชื่อมโยงกับกระทรวงพาณิชย์ คือ ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน
สำหรับการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว พบว่าไทยใช้พื้นที่ปลูกกว่า 50% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด มีชาวนาที่ขึ้นทะเบียน 3.7 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 69 ล้านไร่ เป็นนาปี 57 ล้านไร่ นาปรัง 12 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 35.17 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศและการส่งออกอยู่ที่ 29.94 ล้านตันข้าวเปลือก เกิดภาวะเกินความต้องการของตลาดอยู่ 5.23 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 3.45 ล้านตันข้าวสาร แต่ชาวนายังมีฐานะยากจนเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ต้องพึ่งพาภาครัฐ ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง
การช่วยเหลือของรัฐที่ผ่านมาจะเป็นการแก้ไขปลายน้ำ ให้ความช่วยเหลือด้านราคาผลผลิตเป็นส่วนใหญ่ ขาดการแก้ปัญหาระยะยาว ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการผลิตข้าว โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าว (S1,S2,S3) เน้นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว (N ) ราว 11.2 ล้านไร่ ให้เปลี่ยนเป็นกิจกรรมอื่น
เพิ่มรายได้ชาวนา3.7ล้านครัวเรือน
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างครั้งนี้ชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือนต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยจะใช้กลไกของชุมชนบริหารจัดการ ชาวนาที่ปลูกข้าวในพื้นที่เหมาะสมจะสนับสนุนให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต
วิธีการ คือ ส่งเสริมการผลิตข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ และลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสมให้ปลูกพืชอื่น เช่น อ้อยโรงงาน ทั้งหมดจะช่วยให้การบริหารอุปสงค์และอุปทานข้าวมีความสมดุล โดยรัฐจะให้การสนับสนุนเงินสด ปัจจัยการผลิตบางส่วน และสินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานการผลิต ตลอดจนระบบน้ำ รวมทั้งให้ความรู้กับชาวนา
ทุ่ม5หมื่นล้านรื้อโครงสร้างปลูกข้าว
การปรับโครงสร้างข้าวจะดำเนินการตั้งแต่ปี 2558-2561 ในพื้นที่ 61 จังหวัด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ชาวนา 255,000 ครัวเรือน พื้นที่ 3.75 ล้านไร่ ปรับเป็นเกษตรกรรมทางเลือก 247,378 ครัวเรือน พื้นที่ 1.24 ล้านไร่ เปลี่ยนเป็นอ้อย 35,000 ครัวเรือน พื้นที่ 7 แสนไร่ วงเงิน 52,708 ล้านบาท โดยเป็นงบกลาง 21,637 ล้านบาท และเงินกู้ 31,071 ล้านบาท ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแล้ว สามารถดำเนินการได้ในปีเพาะปลูกข้าวนาปี 2558/2559 หรือเดือน พ.ค.2558
งบประมาณดังกล่าวเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน วงเงิน 8,279 ล้านบาท เกษตรกรรมทางเลือก 12,567 ล้านบาท และการปรับเปลี่ยนเป็นอ้อย 790 ล้านบาท
เน้นพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชน 1,000 แห่ง
การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตของศูนย์ข้าวชุมชน 1,000 ศูนย์ ชาวนา 150,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1.5 ล้านไร่ กรมการข้าวต้องคัดเลือกศูนย์ข้าวชุมชน 1,000 ศูนย์ในเบื้องต้น ในพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกข้าว S1,S2,S3 ส่วนนี้รัฐจะให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว 3 ตันต่อศูนย์ เป็นเวลา 2 ปี
สำหรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในอัตรา 5% ชาวนาจ่ายดอกเบี้ย 2% ต่อปี รัฐบาลสมทบ 3% ต่อปี วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ระยะเวลากู้ 1 ปี ค่าจัดแปลงเรียนรู้ ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่าปรับปรุงพื้นที่ ค่าเตรียมดิน และค่าปลูกข้าวโดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตร
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่าน ธ.ก.ส. อัตราดอกเบี้ย 5% สำหรับสหกรณ์การเกษตรใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อข้าวจากชาวนา โดยสหกรณ์การเกษตรจ่ายอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี รัฐบาลสมทบให้ 4% ระยะเวลากู้ 1 ปี
ทั้งนี้คาดว่าศูนย์ข้าวชุมชน 1,000 แห่งจะเป็นศูนย์กลางพัฒนาข้าว สามารถผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวได้อย่างน้อย 2 หมื่นตัน นำไปปลูกในพื้นที่ 1.3 ล้านไร่ ชาวนา 1.3 แสนครัวเรือน สามารถผลิตข้าวที่มีคุณภาพดี 5.9 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 6 หมื่นล้านตันข้าวเปลือก
เล็งลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง2ล้านไร่
ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ต้องลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง หรือข้าวขาว ปีละ 2 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวลดลงอย่างน้อย 8.9 แสนตันข้าวเปลือก เป็นเวลา 3 ปี ในพื้นที่ 6 ล้านไร่ ผลผลิต 2.67 ล้านตันข้าวเปลือก โดยรัฐจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตปลูกพืชหมุนเวียนแทนข้าวนาปรังไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่าน ธ.ก.ส.อัตรา 5% ต่อปี โดยชาวนาจ่าย 2% รัฐบาลสมทบ 3% วงเงินไม่กิน 45,000 บาทต่อราย ระยะเวลากู้ 6 เดือน รายละไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 3,000 บาท
นายโอฬาร กล่าวต่อว่าการปรับเกษตรกรรมทางเลือกในพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว (N) ต้องการให้ชาวนารายย่อยได้รับการสนับสนุน 245,378 ครัวเรือน พื้นที่ 1.24 ล้านไร่ โดยต้องจัดทำรายชื่อชาวนาผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการเป็นชาวนารายย่อย มีพื้นที่นาไม่เกิน 15 ไร่ คาดว่าชาวนาจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมเกษตรทางเลือก 10,000 บาทต่อไร่ต่อปี หรือ 50,000 บาทต่อครัวเรือน
ร่วม3ชาติคุมปริมาณส่งออกยาง
นายประสิทธิ์ หมีนเส็น รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสาวนยาง (ส.ก.ย.) กล่าวถึงแผนปรับโครงสร้างการผลิตยางพาราว่า จะพัฒนาตลาดตามแผนปรับโครงสร้างตลาด หาตลาดใหม่เพื่อส่งออกยาง การวิจัยพัฒนาด้วยโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมยาง ควบคุมปริมาณการผลิต และลดต้นทุนการผลิต
ส่วนการจัดการยางระหว่างประเทศ ความร่วมมือยางพารา 3 ประเทศ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ( ITRC) และบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCO) จะร่วมมือจัดทำมาตรการ เช่น ควบคุมการขยายพื้นที่ปลูกยาง การควบคุมปริมาณส่งออกยาง การจัดตั้งตลาดยางในภูมิภาคอาเซียน การเชิญประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) เข้าร่วมเป็นสมาชิก เพื่อควบคุมปริมาณการผลิตยางให้สอดคล้องกับอุปสงค์ยางของโลก
คุมปลูกยางไม่เกิน17ล้านไร่
ทั้งนี้ การดำเนินงานต้องควบคุมพื้นที่ปลูกยางไม่ให้เกิน 17 ล้านไร่ โดยให้การสนับสนุนการโค่นต้นยางเก่าปีละ 400,000 ไร่ รัฐบาลจะให้การสนับสนุน กรณีเกษตรกรปลูกแทนด้วยยาง 3 แสนไร่ ในจำนวนนี้จะเป็นการปลูกยางเชิงเดี่ยว 2.4 แสนไร่ ให้ทุนสงเคราะห์ 16,000 บาทต่อไร่ ระยะเวลาให้การสงเคราะห์ 7 ปี กรณีปลูกแทนด้วยพืชอื่นๆ 1 แสนไร่ หากเป็นไม้ยืนต้นอื่นๆ 31 ชนิด จะให้ทุนสงเคราะห์ 16,000 บาทต่อไร่ หากปลูกปาล์มน้ำมันจะได้รับทุนสงเคราะห์ 26,000 บาทต่อไร่ ระยะเวลาให้การสงเคราะห์ 4 ปี
การดำเนินการในปี 2558 การควบคุมปริมาณการผลิต ปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดี 2.4 แสนไร่ วงเงิน 3,840 ล้านบาท การปลูกแทนด้วยเกษตรผสมผสาน 60,000 ไร่ วงเงิน 960 ล้านบาท การปลูกแทนด้วยไม้ยืนต้นอื่น 11,560 ไร่ วงเงิน 184.96 ล้านบาท ปลูกแทนด้วยปาล์มน้ำมัน 88,440 ไร่ วงเงิน 299.44 ล้านบาท
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต