จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
สบส. ร่วมกรมประมง เข้าตรวจสปาหอยทาก จ.เชียงใหม่ ไม่พบบริการสปาผิดกฎหมาย แต่พบนำเข้าหอยทากโดยไม่ขออนุญาต ระบุเก็บตัวอย่างหอยทากตรวจพบเชื้ออีโคไล ทำให้ท้องร่วง จ่อออกกฎหมายคุมเข้มสถานบริการเพื่อสุขภาพ ทั้งฟิตเนส สปา น้ำพุร้อน
วันนี้ (18 ธ.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีการเปิดสปาหอยทากที่ จ.เชียงใหม่ ว่า สถานบริการดังกล่าวมีชาวฝรั่งเศสเป็นเจ้าของ และเปิดให้บริการในลักษณะเป็นร้านเสริมสวยที่ใช้หอยทากมาไต่ที่ผิวหน้าให้ปล่อยเมือกออกมา และอ้างว่าช่วยบำรุงผิวให้เต่งตึง ขาวใส ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ประเทศฝรั่งเศสใช้กันมานาน ทั้งนี้ ร้านดังกล่าวมีการอ้างเป็นการทำสปา ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าจะต้องขึ้นทะเบียนกับ สบส. กรมฯจึงเข้าทำการตรวจสอบ โดยพบว่า ไม่ได้มีการบริการด้วยการนวด ที่เข้าข่ายเป็นการทำสปาแต่อย่างใด และพบว่ามีการจดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การให้บริการดังกล่าวที่อ้างว่ามีการผลักสารต่างๆ เข้าร่างกาย และมีการใช้หอยทาก ก็ต้องตรวจสอบเชื้อที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนได้
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า การเข้าตรวจสอบนั้น เจ้าหน้าที่ สบส. ได้ร่วมกับ เจ้าหน้าที่กรมประมง เพราะการนำหอยทากเข้าประเทศต้องมีการอนุญาตอย่างถูกต้อง เพราะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ ได้ โดยพบว่า มีการนำเข้าหอยทากจากฝรั่งเศสและทำฟาร์มเพาะที่ประเทศไทย การอ้างว่าเป็นหอยทากที่นำเข้ามาจากประเทศฝรั่งเศสจำนวน 30,000 ตัวนั้น จะถือว่าเข้าข่ายลักลอบนำสัตว์เข้าประเทศผิดกฎหมาย เพราะไม่พบหลักฐานการขออนุญาตจากกรมประมงซึ่งเข้มงวดเรื่องนี้มาก อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการนำเก็บหอยทากเพื่อตรวจหาเชื้ออีโคไล ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงได้
“เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชน สบส. จึงได้ทำการยกร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ... ขึ้นมา ดูแลสถานบริการที่เข้าข่าย เช่น ฟิตเนส นวด น้ำพุร้อน สถานบริการที่เป็นไปเพื่อการบำบัด เพราะถือว่าการให้บริการอะไรก็ตามกับร่างกายมนุษย์จะต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ผ่านชั้นกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเสนอเข้า ครม.” อธิบดี สบส. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเก็บเชื้อตรวจในเบื้องต้นพบว่า ผลการตรวจพบเชื้ออีโคไลจริง
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต