จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไกรเสริม โตทับเที่ยง
ก่อนคีบเนื้อปลาฝรั่งสีส้มเข้าปาก เคยสงสัยไหมครับว่ามันมาจากไหน ?
อย่างที่ทราบกันว่า ปลาแซลมอนเป็นปลาที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนอร์เวย์ อเมริกา นิวซีแลนด์ ฯลฯ โดยเฉพาะประเทศหลังสุดนี้ มีการเพาะพันธุ์ปลาแซลมอนกันเป็นระบบฟาร์มเลยทีเดียวครับ ปัจจุบันปลาแซลมอนที่มาจากแหล่งธรรมชาติจริงๆ นั้นหายากและราคาสูงมาก แต่กระนั้นก็ยังมีคนนิยมรับประทานปลาแซลมอนแบบที่ไม่แคร์หรือไม่รู้ว่ามันมาจากไหน เจออะไรมาบ้าง ทำให้การอุตสาหกรรมผลิตปลาชนิดนี้ก็ยังผลิตปลาแซลมอนออกมาตามความต้องการอันล้นหลามของตลาดอยู่เรื่อยๆ ถ้าผลิตไม่ทัน...ก็เร่งสิครับ...
รู้อย่างนี้ กลุ่มคนที่รักสุขภาพ ก็เริ่มตระหนักรู้และหาทางหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจจะได้รับสารปนเปื้อน บางคนที่มีฐานะหน่อย ก็หาซื้อปลาที่แน่ใจได้ว่ามาจากแหล่งธรรมชาติ บางคนที่มีฐานะ แต่ไม่มากพอที่จะซื้อปลาแพงๆ ระดับนั้นได้ ก็เริ่มหันกลับมาสู่สามัญคือ
“เลือกอาหารท้องถิ่น กินตามฤดู”
นอกจากผู้บริโภคจะได้กินอาหารที่ราคาถูก และลดความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับสารเร่ง หรือสารปนเปื้อนอื่นๆ แล้ว ยังเป็นการรักษาระบบนิเวศน์อีกด้วยครับ อธิบายง่ายๆ ก็คือ เพราะเราไม่ไปโหมกินปลายอดนิยมจนมันสืบพันธุ์ไม่ทันนั่นเอง ขณะนี้ที่อเมริกา อังกฤษ ทวีปแอฟริกา และกว่า 140 ประเทศทั่วโลก มีการเคลื่อนไหวให้คนหันมาปรับประทานอาหารท้องถิ่นตามฤดูกาล โดยไม่รบกวนระบบนิเวศน์กันแล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวนี้ มีชื่อว่า Slow Food International
Slow Food นี้ก็ตรงข้ามกับ Fast Food นั่นเองครับ ตรงข้ามทุกๆ อย่างเลย คือมีกระบวนทำที่อาศัยความประณีต ทำจากวัตถุดิบแบบหาเอาหลังบ้าน หรือซื้อจากแหล่งท้องถิ่นที่ไว้ใจได้ รับประทานช้าๆ หน่อย ค่อยๆ ซึมซับรสชาติอย่างละเมียดละไม ราวกับได้ย้อนเวลาไปในยุคที่ไม่ต้องเร่งรีบแข่งขันเหมือนในยุคนี้
ฟังดูดีใช่ไหมครับ ในไทยก็มีร้านอาหารที่จับคอนเซปต์ “สู่สามัญ” มาเป็นจุดขายอยู่หลายเจ้า แถมยังทำกำไรได้ดี เนื่องจาก กลุ่มคนที่รักสุขภาพนี้มีกำลังพอที่จะจ่ายเงินให้แก่อาหารดีๆ สักมื้อหนึ่ง เมื่อร้านอาหารมีจุดยืนในการทำเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค ประกอบกับมีเรื่องเล่าที่มาสนับสนุนในจุดยืนของร้านให้หนักแน่น และน่าเชื่อถือ ทำให้ร้านสามารถตั้งราคาให้สมกับการลงทุน ไม่ใช่แค่วัตถุดิบครับ แต่เป็นต้นทุนทางความคิดต่างหากที่สำคัญ
ขณะที่ผมกำลังทำทีสิสเรื่อง Food Culture ของไทยอยู่นั้น ผมได้มีโอกาสคุยกับคุณโบว์ เจ้าของร้านอาหาร Bolan ซึ่งมีคอนเซปต์ในการทำอาหาร Slow Food ที่ชัดเจน และมีจุดเด่นมากๆ ครับ
หากถามว่าร้านคุณโบว์มีอาหารจานใดที่เป็น Signature บ้าง คุณโบว์ตอบว่าไม่มี เพราะเมนูเปลี่ยนตลอด ตามวัตถุดิบที่หาได้ในขณะนั้น ซึ่งพืชผักสวนครัวที่นำมาปรุงก็ปลูกอยู่หลังบ้านของเธอนี่เอง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความไม่แน่นอน และเธอไม่อยากกำหนดว่าพืชผักชนิดใดจะต้องออกดอกผลมารองรับความต้องการของคน คนต่างหาก ที่จะปรับตัวตามธรรมชาติ จึงจะได้ของจากธรรมชาติที่ดีที่สุด
ด้วยราคาอาหารที่จัดว่าสูง ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ คุณโบว์จึงดึงเอาเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมการกินของคนไทยดั้งเดิมมาเป็นจุดขายด้วย คนไทยสมัยก่อนจะรับประทานกันพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นครอบครัวใหญ่ มีกับข้าวหลากหลาย เอามาแบ่งปันกัน ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมของฝรั่งที่จะมีอาหารเป็นชุดของตัวเอง ไม่ต้องแชร์กับใครในวง เธอนำลักษณะเฉพาะนี้ในไปในการจัดเมนูของร้านด้วย เพื่อให้ลูกค้าต่างชาติได้เรียนรู้วัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทย จากการแนะนำเมนูของเธอเอง ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องลงทุนจ้างการแสดงฟ้อนรำอลังการเพื่อสร้างบรรยากาศ ชาวต่างชาติก็เข้าใจวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงตาดู หูฟัง แต่ปากก็ชิม มือก็จับช้อนส้อมกินข้าวแบบไทยๆ เหมือนคนไทยเลย
ผู้อ่านท่านไหนที่กำลังจะสร้างแบรนด์อาหาร หรือร้านอาหารของตนเอง การหาจุดยืนของแบรนด์แบบนี้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ไม่น้อยเลยนะครับ ลองพิจารณาดูว่า วิถีแบบ Slow Food นั้น เข้ากับสินค้าหรือกระบวนการผลิตของคุณไหม หรือจะมีแนวคิดอื่นไหม ที่ทำให้คุณมีเรื่องมาเล่า ให้ลูกค้าคล้อยตาม เชื่อในสิ่งที่คุณคิด ซื้อไอเดียของคุณได้
อันที่จริงวิถีทางแบบ Slow Food ก็ใกล้เคียงกับวิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อนเลยนะครับ รับประทานอาหารจากแหล่งข้าวแหล่งน้ำท้องถิ่น ปลูกผักสวนครัว เก็บเกี่ยวมาปรุงเอง มีกรรมวิธีการเตรียมและปรุงอาหารให้หน้าตาน่ารับประทาน ผักต้ม น้ำพริก ปลาทู ทุกอย่างหาได้จากบริเวณบ้าน...
วิถีชีวิตแบบนี้หาได้ยากในเมืองใหญ่ คนเมืองใหญ่ที่มีกำลังทรัพย์จึงต้องหันไปหาร้านอาหารที่จับความต้องการตรงนี้ได้นั่นเอง ส่วนที่กำลังทรัพย์น้อยหน่อย ก็อย่าท้อไปครับ หาบริเวณเล็กๆ ไว้ปลูกผักกินเอง หาเวลาว่าง ต้มๆ ยำๆ ทำเองอยู่กับบ้าน นั่งกิน นั่งคุยกับคนที่บ้าน สุขใจเหมือนกันครับ
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต